พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย มีอัตราเสียชีวิตมากกว่าวัยอื่นๆ การที่ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากเดิม ตั้งแต่การต้องรักษาระยะห่างจากครอบครัว เพื่อน คนใกล้ชิด และไม่สามารถไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อรักษาโรคประจำตัว สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อภาวะสุขภาพจิตผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก
แต่มีข้อค้นพบที่สำคัญจากการสำรวจถึงความเข้มแข็งทางใจของผู้สูงอายุในประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่ดี ซึ่งจากผลการสำรวจข้อมูลในผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงผ่านทางระบบ Mental Health Check In ของกรมสุขภาพจิต จำนวน 45,453 ราย พบว่าผู้สูงอายุที่ติดบ้าน ติดเตียงร้อยละ 77.26 มีพลังใจในระดับมาก ร้อยละ 82.26 รู้สึกมีกำลังใจเมื่อได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้าง และร้อยละ 80.9 สามารถจัดการกับปัญหาและความเครียดของตนเองได้ แสดงให้เห็นได้ว่าแม้ต้องเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่ผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ยังคงปรับตัวได้ และยังคงมีสุขภาพจิตที่ดี
พญ.อัมพรกล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิตมีโปรแกรมการสร้างสุข 5 มิติ คือ 1.สุขสบาย 2.สุขสนุก 3.สุขสง่า 4.สุขสว่าง 5.สุขสงบ ให้กับผู้สูงอายุที่ติดสังคม ทั้งแบบรายบุคคลและรายกลุ่ม ในชมรมผู้สูงอายุ/โรงเรียนผู้สูงอายุ โดย อสม. ส่วนผู้สูงอายุที่มีโทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ เข้าไปเรียนรู้ได้ด้วยตนเองที่เว็บไซต์ www.sorporsor.com