ตามที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการดำเนินงานด้านทรัพยากรน้ำ โดยได้จัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (2561-2580) ตามเป้าหมาย...ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภค บริโภคน้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) โชว์ผลงานการดำเนินการตามแผนแม่บทน้ำฯที่ทำมาตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน...สามารถเพิ่มประสิทธิภาพประปาหมู่บ้าน 4,675 แห่ง จัดหาปริมาณน้ำต้นทุนได้เพิ่มขึ้น 1,797 ล้าน ลบ.ม.

สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 1.17 ล้านไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 1.08 ล้านครัวเรือน รวมทั้งยังได้พัฒนาระบบป้องกันอุทกภัย มีพื้นที่ที่ได้รับการป้องกัน 9,556 ไร่ ประชาชนได้รับการป้องกัน 10,893 ครัวเรือน สร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชนจำนวน 13 แห่ง อนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 156,070 ไร่

และยังได้พัฒนาระบบติดตามประเมินผลด้านน้ำของประเทศไทย (Thai Water Assessment : TWA) ซึ่งจะเป็นเครื่องมือชี้วัดความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างชัดเจน ตรวจสอบได้ ลดความซ้ำซ้อนของโครงการ จากการดำเนินงานของทุกภาคส่วนที่ผ่านมา ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำกระจายในทุกพื้นที่ทั่วประเทศตามความจำเป็นเร่งด่วนอย่างแน่นอน

...

จากผลการดำเนินงานข้างต้น ทำให้สถิติความเสียหายจากภัยน้ำลดลงอย่างชัดเจน เช่น ในปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่แล้งรุนแรงมาก แต่การบริหารจัดการน้ำในเชิงป้องกัน วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง และหาแหล่งน้ำสำรอง ทำให้มีหมู่บ้านประกาศภัยแล้งปี 2562 เพียง 30 จังหวัด 891 ตำบล ใน 7,662 หมู่บ้าน น้อยกว่าการบริหารจัดการน้ำในหลายปีที่ผ่านมา และล่าสุดในปี 2564/65 ยังไม่มีประกาศภัยแล้ง

ส่วนปัญหาอุทกภัยมีการแจ้งเตือนล่วงหน้า และบริหารจัดการน้ำร่วมกัน ทำให้ความเสียหายน้อยลง ป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปีแรกที่รัฐบาลเข้ามาบริหารงานมีความเสียหายเพียง 94 ล้านบาท สำหรับปี 2564 ได้จัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ สามารถแจ้งเตือนและบูรณาการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีความเสียหายทั่วประเทศเพียง 580 ล้านบาทเท่านั้น.

สะ-เล-เต