ในขณะที่ผู้บริหารประเทศในบ้านเราเพิ่งจะมาตื่นเต้น ตื่นตัวกับคำว่า เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว ที่เรียกกันสั้นๆว่า BCG Economy

แต่เมื่อ 20 ปีก่อน ตอนที่กระทรวงพลังงานของไทยเพิ่งถือกำเนิดขึ้นอย่างแบเบาะ ฝรั่งได้มองไปไกลถึงการนำเทคโนโลยีชีวภาพ ชีวเคมี ศึกษาการแตกตัวของสสารด้วยกระบวนการทางเคมี ความร้อนหรือไฟฟ้า เพื่อให้ได้มาซึ่งแหล่งพลังงานใหม่ นั่นคือ...ไฮโดรเจน

พลังงานไฮโดรเจนไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องเก่าที่คนทั้งโลกรู้จักกันดี โดยเฉพาะไฮโดรเจนที่ได้จากก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบ ที่ถูกจัดให้เป็นแหล่งไฮโดรเจนสกปรกที่สุด เรียกว่า “เกรย์ไฮโดรเจน” เพราะการผลิตยังเกิดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำให้โลกร้อน

แต่หากแยกไฮโดรเจนออกจากก๊าซธรรมชาติ โดยกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ใช้ จะเรียกว่า “บลูไฮโดรเจน” และหากนำน้ำมาแยกไฮโดรเจนด้วยไฟฟ้า จะเรียกว่า “กรีนไฮโดรเจน”

แต่กระนั้นยังมีไฮโดรเจนจากอีกแหล่งที่ถูกมองข้าม ไฮโดรเจนที่ได้มาจากวัตถุดิบทางการเกษตร...ด้วยการนำพืชมาผ่านกระบวนการ Gasification หรือ pyrolysis แล้วแยกก๊าซไฮโดรเจนออกมาใช้ เป็นพลังงานอีกที

...

“ปัจจุบันนี้ถึงเวลาแล้วที่โลกจะปรับโครงสร้างทางพลังงานใหม่เสียที เพราะที่ผ่านมาการใช้พลังงานเกิดการผูกขาด ทั้งพลังงานไฟฟ้า พลังงานเชื้อเพลิงจากปิโตรเลียม จากฟอสซิล ล้วนอยู่ในมือผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่จากแรงกดดันทั้งในเรื่องความเหลื่อมล้ำ และแรงกดดันจากปัญหาสิ่งแวดล้อม พลังงานไฮโดรเจนที่ได้จากวัตถุดิบหมุนเวียนภาคเกษตรน่าจะตอบโจทย์เรื่องนี้ได้ดีที่สุด”

ดร.บุรินทร์ สุขพิศาล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดประเด็นให้คนไทยได้ฉุกคิดในสถานการณ์ที่หลายอย่างกำลังรุมล้อมประเทศไทย ทั้งน้ำมันแพง ปุ๋ยแพง

แต่ไฮโดรเจนจากวัตถุดิบทางการเกษตรสามารถแก้เหล่าปัญหานี้ได้...??

หลายคนอาจจะงง วัตถุดิบทางการเกษตรจะกลายเป็นพลังงานไฮโดรเจนได้อย่างใด ดร.บุรินทร์ ไขข้อสงสัย...นั่นเป็นเพราะทุกส่วนของต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นราก ใบ ลำต้น กิ่งก้าน ผล เยื่อไม้ เซลลูโลส ล้วนมีองค์ประกอบของไฮโดรคาร์บอน

เพราะต้นไม้ทุกชนิดต้องสังเคราะห์แสงด้วยการดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แล้วคายออกซิเจนออกมา ส่วนคาร์บอนจะถูกเก็บสะสมไว้ในต้นไม้ ขณะเดียวกัน รากพืชดูดน้ำที่มีองค์ประกอบของออกซิเจนและไฮโดรเจนมาหล่อเลี้ยงลำต้น และคายออกซิเจนออกมา แล้วเก็บไฮโดรเจนสะสมไว้ทุกส่วนของพืชในรูปของสารประกอบไฮโดรคาร์บอน

“พืชเลยกลายเป็นโกดังสะสมของไฮโดรคาร์บอนที่ไม่มีวันหมดไปจากโลกนี้ และวิธีการที่จะนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นพลังงานในแบบโบราณ หรือที่ยุคนี้เรียกว่าสิ้นคิด จะใช้วิธีจุดไฟเผาไม้ ไฮโดรเจนเลยถูกแปลงเป็นพลังงานความร้อน ขณะเดียวกัน คาร์บอนที่ถูกเผาเมื่อผสมกับออกซิเจนในอากาศ เลยกลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนลอยขึ้นสู่อากาศ”

ส่วนวิธีการสมัยใหม่ ดร.บุรินทร์ อธิบายว่า จะใช้กระบวนการที่เรียกว่า Gasification หรือ pyrolysis นั่นก็คือ นำมาเผาในระบบปิด ไม่ให้ก๊าซออกซิเจนเข้าไปผสมกับคาร์บอนให้กลายเป็นก๊าซก่อโลกร้อน

“การเผาไหม้ด้วยระบบนี้จะทำให้เกิดก๊าซเชื้อเพลิงหลายชนิดที่มีส่วนประกอบของไฮโดรเจนและคาร์บอน แต่เมื่อฉีดไอน้ำที่ร้อนจัดแรงดันสูงเข้าไปผสมกับก๊าซเหล่านี้ ออกซิเจนที่อยู่ในไอน้ำจะเข้าไปจับตัวกับคาร์บอน ขณะเดียวกันไฮโดรเจนของไอน้ำจะเข้าไปจับตัวกับไฮโดรเจนของก๊าซที่ได้จากการเผา มันเลยจะทำให้ได้ก๊าซไฮโดรเจนนำมาใช้งานได้มากมายมหาศาล

หลายคนอาจจะถามว่าวิธีการนี้จะไม่ยุ่งยากและแพงกว่าเอาน้ำมาแยกไฮโดรเจนหรอกหรือ ต้องบอกถูกกว่า เพราะการแยกไฮโดรเจนออกจากน้ำ นอกจากต้องใช้พลังงานไฟฟ้าแล้ว ราคาค่าเทคโนโลยียังแพงกว่าการเผาด้วยระบบปิดหลายเท่าตัว จะเห็นได้จากปัจจุบันเทคโนโลยีเผาในระบบปิดนี้มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ด้วยการเอาไม้สนมาเผาเอาไฮโดรเจนมาผลิตไฟฟ้า”

...

ดร.บุรินทร์ บอกอีกว่า ไฮโดรเจนที่ได้มาสามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดในทุกกิจกรรมสาขาแทนน้ำมันปิโตรเลียมได้ทุกประเภท ที่ว่าสะอาดเพราะไม่มีคาร์บอน จึงไม่เกิดคาร์บอนไดออกไซด์...ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถนำมาผลิตเป็นปุ๋ยยูเรีย หรือปุ๋ยไนโตเจนได้ด้วย

ด้วยการนำไฮโดรเจนที่ได้มาผสมกับไนโตรเจน ผลที่ออกมาจะกลายเป็นแอมโมเนีย และเมื่อนำแอมโมเนียไปผสมกับคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ได้จากกระบวนการแยกไฮโดรเจนกับคาร์บอน...ในที่สุดจะได้ปุ๋ยยูเรียรักษ์โลกที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะไม่มีการปล่อยก๊าซโลกร้อนสู่ชั้นบรรยากาศ

และที่สำคัญสุด ถ้ากระบวนการนี้เกิดขึ้นได้จริงในบ้านเรา ปัญหาราคาพลังงาน ราคาปุ๋ย ของเกษตรกรที่ไร้เสถียรภาพ หาความแน่นอนไม่ได้ เพราะต้องพึ่งพาต่างประเทศ จะหมดไปทันที...สงครามจะเกิด มหาอำนาจจะปั่นราคาพลังงาน จะไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยอีกต่อไป

เพราะพลังงาน ปุ๋ย เราสามารถผลิตได้เอง ทำได้ตลอดทั้งปี...แต่ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับว่าผู้บริหารประเทศนี้จะรู้คิดทันโลกแค่ไหนเท่านั้นเอง.

ชาติชาย ศิริพัฒน์