ผมต้องขอขอบคุณธนาคารกสิกรไทย ที่มาลงโฆษณาประชาสัมพันธ์ไว้ในหน้า 9 ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับเมื่อวานนี้ ทำให้ทราบว่าวันนี้ (19 เมษายน 2565) จะมีการสัมมนาที่สำคัญยิ่ง ณ จังหวัดเล็กๆ จังหวัดหนึ่งที่ภาคเหนือของประเทศไทยเรา

การสัมมนาในหัวข้อ “รักษ์ป่าน่าน” ครั้งที่ 5 ครับ...จะเริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา 08.15-11.00 น. ของวันนี้ ที่ ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการ–เครือข่ายแห่งจุฬาภรณ์มหาวิทยาลัย ตำบลผาสิงห์ อ.เมืองน่าน จังหวัดน่าน เช่นเดียวกับครั้งก่อนหน้านี้

ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราช ดำเนินไปทรงเป็นประธานและทรงบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ร่วมใจรักษ์ป่าน่าน” พระราชทานแก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ด้วย

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า โครงการรักษ์ป่าน่าน นั้นเป็นโครงการในพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราช สุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาตั้งแต่ พ.ศ.2557 เมื่อครั้งโดยเสด็จติดตามในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่ชนบทต่างๆ และทรงทราบถึงปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าบริเวณต้นน้ำลำธารในภาคเหนือที่รุนแรงขึ้นทุกขณะ

รวมทั้งป่าไม้ของจังหวัดน่านอันเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำน่าน...หนึ่งในแม่น้ำ 4 สายที่รวมตัวกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา หล่อเลี้ยงพี่น้องในจังหวัดภาคกลาง นับตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ลงมาจนถึงกรุงเทพมหานคร

ต่อมาในปี 2558 สำนักงานโครงการ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกองทัพบกโดยมีธนาคารกสิกรไทย ในฐานะผู้ประสานงานและผู้สนับสนุนก็ได้ร่วมกันจัดงานสัมมนา “รักษ์ป่าน่าน” ขึ้นเป็นครั้งแรก

...

นำไปสู่โครงการ “น่านแซนด์บ็อกซ์” เพื่อทดลองและค้นหาวิธีการที่เหมาะสมสำหรับการฟื้นฟูรักษาป่าไม้ต้นน้ำลำธาร...โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาใช้กับผืนป่าต้นแม่น้ำน่านเป็นเบื้องแรก และหากประสบผลสำเร็จก็จะได้นำไปใช้กับป่าไม้ในต้นแม่น้ำลำธารของจังหวัดอื่นๆต่อไป

ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ ผมก็ได้เขียนถึงเป้าหมายในการลงมือปฏิบัติในโครงการทดลอง “น่านแซนด์บ็อกซ์” จากการสัมภาษณ์พูดคุยกับคุณ บัณฑูร ล่ำซำ ที่ก้าวลงจากตำแหน่งประธานผู้บริหารของธนาคารกสิกรไทย เพื่อไปผลักดันโครงการน่านแซนด์บ็อกซ์ด้วยตัวท่านเอง

คงจะจำกันได้ที่คุณบันทูรบอกผ่านผมไปถึงท่านผู้อ่านว่า โครงการน่านแซนด์บ็อกซ์จะมีตัวเลข 72:18:10 เป็นเป้าหมายของการทำงาน

เลข 72 ก็คือ 72 เปอร์เซ็นต์ของเนื้อที่ป่าที่ยังคงอยู่ของจังหวัดน่านในทุกวันนี้ หลังถูกทำลายไป 28 เปอร์เซ็นต์ น่านแซนด์บ็อกซ์จึงตั้งเป้าหมายที่จะให้คงไว้อย่างสมบูรณ์ 72 เปอร์เซ็นต์ต่อไป

ส่วนป่าที่ถูกทำลาย 28 เปอร์เซ็นต์นั้น จะแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก 18 เปอร์เซ็นต์ จะต้องฟื้นฟูกลับมาเป็นป่าให้ได้ โดยจะมีการปลูกต้นไม้ใหญ่ทดแทนต้นไม้ที่ถูกทำลายไปให้ครบ 18 เปอร์เซ็นต์

สำหรับที่เหลืออีก 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็ถูกทำลายไปแล้วเช่นกัน แม้จะยังระบุให้เป็นป่าสงวนอยู่ แต่ก็จะให้ประชาชนเข้าปลูกพืชเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ โดยให้ปลูกพืชเศรษฐกิจที่มีรายได้ดีและถาวร มิใช่ปลูก พืชไร่ โดยเฉพาะข้าวโพดที่ใช้พื้นที่มาก และรายได้น้อยอย่างทุกวันนี้

พืชเศรษฐกิจที่มีรายได้ดีจะทำให้ประชาชนสามารถอยู่กับป่าได้ รวมทั้งจะช่วยดูแลมิให้มีการบุกรุกป่าอีกต่อไป

ผมหวังว่าในการสัมมนา “รักษ์ป่าน่าน” ครั้งที่ 5 วันนี้ เราคงจะไดทราบถึงความก้าวหน้าของการปฏิบัติงาน ทั้งในกรอบใหญ่ของโครงการและการทดลองของน่านแซนด์บ็อกซ์ที่ก็ผ่านมาหลายปีแล้ว

แต่ไม่ว่าจะมีปัญหาหรืออุปสรรคอย่างไร...ผมก็ขอให้กำลังใจแก่ทุกๆฝ่ายที่ทุ่มเทในการดำเนินการตามโครงการนี้

ผมชอบสโลแกนของโครงการ “รักษ์ป่าน่าน” ที่มีข้อความว่า “ตาจากฟ้า หัตถาเทพ รักษ์ป่าไทย” ในหน้าแรกของเพจ www.rakpanan.org  จึงขอนำมาเขียนส่งท้ายในคอลัมน์วันนี้

หวังอย่างยิ่งว่า ดวงตาจากฟ้าและหัตถาจากเทพฯ จะดลบันดาลให้โครงการ “รักษ์ป่าน่าน” จงประสบผลสำเร็จเพื่อนำไปสู่การ “รักษาป่าไทย” ทั้งประเทศ ในเวลาอันไม่นานนักจากนี้ไป.

“ซูม”