จับตาโควิดไทยหลังสงกรานต์ แม้ยอดติดเชื้อเริ่มลดลง แต่ยอดตายพุ่งทำนิวไฮ 125 ศพ ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มสูงวัย-มีโรคประจำตัว ด้านอธิบดีกรมควบคุมโรคชี้เด็กเล็กอัตราตายต่ำกว่าผู้ใหญ่ พร้อมแนะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้นักเรียนก่อนเปิดเทอม ขณะที่ “หมอยง” รับแนวโน้มความรุนแรงของโรคเริ่มลด แต่ยังควบคุมการระบาดไม่ได้ ด้าน “หมอธีระ” ชี้ฮ่องกงทำวิจัยพบโอมิครอน สายพันธุ์ BA.2.2 ดุไม่แพ้สายพันธุ์ดั้งเดิม ทำคนติดเชื้อตายได้ไม่ต่างกัน ส่วนไทยใน 1 เดือนตายเพิ่ม 1.78 เท่า “ดร.อนันต์” เปิดเผยผลวิจัยจากเกาหลีใต้พบเชื้อโควิดเข้าปอดได้ใน 5 นาที โอมิครอนเข้าถึงเซลล์ปอดได้ไวสุด หนำซ้ำติด 3 สายพันธุ์พร้อมกันได้

จบเทศกาลสงกรานต์ 2565 แต่การพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่รายวันในไทยยังทะลุหลายหมื่นคนต่อวัน และผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุบสถิติต่อเนื่อง

ตายทำนิวไฮ 125 ศพ

เมื่อวันที่ 16 เม.ย. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18,892 คน แยกเป็นติดเชื้อในประเทศ 18,799 คน มาจากเรือนจำ 11 คน เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 82 คน ขณะที่ยอดตรวจ ATK 8,858 คน หายป่วยเพิ่มขึ้น 22,220 คน อยู่ระหว่างรักษา 221,452 คน อาการหนัก (ปอดอักเสบ) 2,062 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 867 คน เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 125 คน ซึ่งสูงสุดในรอบปี แยกเป็นชาย 75 คน หญิง 50 คน อายุ 60 ปีขึ้นไป 97 คน มีโรคเรื้อรัง 20 คน ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 8 คน ขณะที่ผู้เสียชีวิตอายุน้อยสุดแค่ 1 ขวบ สูงสุด 102 ปี สำหรับยอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันในระลอกปี 2565 อยู่ที่ 1,788,749 คน แต่หากนับตั้งแต่ปี 2563 มีจำนวน 4,012,184 คน มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,763,978 คน มียอดผู้เสียชีวิตในระลอกปี 2565 จำนวน 5,056 คน ส่วนยอดเสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 26,754 คน

...

กทม.ยังแชมป์ติดเชื้อ

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดได้แก่ กทม. 3,015 คน ชลบุรี 765 คน สมุทรปราการ 645 คน นครราชสีมา 632 คน สมุทรสาคร 546 คน บุรีรัมย์ 507 คน นครศรีธรรมราช 450 คน อุบลราชธานี 435 คน กาญจนบุรี 420 คน และร้อยเอ็ด 412 คน โดยมี จ.ลำพูน พบผู้ติดเชื้อน้อยสุดที่ 1 คน ส่วน 10 จังหวัดที่จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ปอดอักเสบกำลังรักษาในโรงพยาบาล ได้แก่ กทม. 204 คน อัตราครองเตียง (ระดับ 2-3) ร้อยละ 32.00 สมุทรปราการ 101 คน อัตราครองเตียง ร้อยละ 35.90 นครราชสีมา 78 คน อัตราครองเตียงร้อยละ 28.60 ชลบุรี 73 คน อัตราครองเตียงร้อยละ 32.70 บุรีรัมย์ 70 คน อัตราครองเตียงร้อยละ 34.20 กาญจนบุรี 66 คน อัตราครองเตียง ร้อยละ 45.10 สุพรรณบุรี 64 คน อัตราครองเตียง ร้อยละ 29.70 นครศรีธรรมราช 55 คน อัตราครองเตียง ร้อยละ 17.10 นนทบุรี 54 คน อัตราครองเตียง ร้อยละ 40.60 และประจวบคีรีขันธ์ 47 คน อัตราครองเตียง ร้อยละ 34.60 ขณะที่ยอดฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 15 เม.ย. ฉีดได้เพิ่ม 21,007 โดส แบ่งเป็นเข็มแรกรายใหม่ 3,938 คน เข็มที่สองรายใหม่ 2,920 คน และเข็มที่สามขึ้นไปรายใหม่ 14,149 คน

เด็กเล็กตายต่ำกว่าผู้ใหญ่

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการติดเชื้อในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 11 ปี ว่าไม่ได้แตกต่างกับผู้ใหญ่ แต่ที่แตกต่างคือ อัตราเสียชีวิตค่อนข้างต่ำกว่าผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป การเสียชีวิตในเด็กเล็กมักมีโรคประจำตัวร่วม เช่น โรคหัวใจ โรคทางสมอง ซึ่งการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในเด็กจึงแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ ฉีดในโรงเรียน เป็นกลุ่มใหญ่และค่อนข้างเร็ว และการฉีดในโรงพยาบาล ซึ่งกำหนดให้ฉีดกรณีเด็กมีอาการป่วยและมีความเสี่ยง บางคนที่ไม่สะดวกฉีดที่โรงเรียน หรือมีธุระทำให้ไม่สามารถฉีดพร้อมกันในสถานศึกษาก็สามารถไปฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลได้ แต่ขอให้ปรึกษากับแพทย์ในสถานพยาบาลนั้นๆก่อน เนื่องจากไม่ใช่แนวทางที่วางไว้ตั้งแต่ต้น แต่เป็นความยืดหยุ่นเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ และขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ด้วย กรณีเด็กอยากให้ใช้โรงเรียนเป็นฐานหลักมากกว่า ยกเว้นมีกรณีจำเป็นช่วงนั้นไม่สามารถไปฉีดได้ตามโรงเรียนกำหนด แต่ต้องปรึกษาโรงพยาบาล พิจารณาเป็นรายๆไป

แนะเด็กฉีดเข็มกระตุ้น

นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า ในส่วนกลุ่มเด็กมัธยม ศึกษาอายุ 12-17 ปี ขณะนี้เข้าสู่ระยะที่ต้องมีการฉีดวัคซีนโควิด- 19 เข็มกระตุ้นแล้วเช่นกัน แนะนำให้รับวัคซีนก่อนเปิดเทอมช่วงเดือน พ.ค.นี้ สามารถเลือกรับได้ทั้งแบบเต็มโดสหรือครึ่งโดส ซึ่งทั้งสองแบบมีประสิทธิภาพในการเพิ่มภูมิคุ้มกันไม่แตกต่างกัน แต่การฉีดครึ่งโดสจะมีผลข้างเคียงจากวัคซีนน้อยกว่า โดยกลุ่มเด็กที่สุขภาพปกติ จะฉีดโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ส่วนกลุ่มเด็กป่วยสามารถรับบริการในโรง พยาบาลที่รักษาได้ ขณะที่เด็กประถมศึกษาอายุ 5-11 ขวบ ฉีดเข็มแรกไปแล้ว จะฉีดเข็มสองห่างจากเข็มแรกประมาณ 8 สัปดาห์ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการเร่งรัดฉีดเพื่อรองรับการเปิดเทอมต่อไป

ยังคุมการระบาดไม่ได้

วันเดียวกัน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กว่า ต้องยอมรับว่า 2 ปีที่ผ่านมา เราพยายามงดการเดินทางเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ในปีนี้ไปสถานที่ใดมีบุคคลเที่ยวเต็มแน่นมาก นับว่าเสี่ยงต่อการระบาดของโรค ชีวิตต้องเดินหน้า เราคงไม่ย้อนกลับหลัง แต่ก็จะต้องเดินหน้าแบบรู้เท่าทัน ลดความเสี่ยงให้น้อยที่สุด เรายังเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีน มีภูมิต้านทาน เกิดขึ้นมาแล้วจำนวน มาก และมีบุคคลจำนวนมากที่เคยติดเชื้อมาแล้ว ก็จะมีภูมิต้านทานเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน แนวโน้มความรุนแรงของโรคเริ่มลดลง แต่เรายังควบคุมการระบาดของโรคไม่ได้ สิ่งสำคัญที่สุด เราต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดอย่างมากจนเกินกว่าระบบ สาธารณสุขของเราจะรองรับได้ จะเกิดความสูญเสียต่อชีวิตเพิ่มขึ้น ในเมื่อชีวิตต้องเดินไปข้างหน้า เราไม่สามารถที่จะทำให้เชื้อไวรัสตัวนี้หมดสูญสิ้นไปได้ เราจะต้องอยู่กับไวรัสนี้ด้วยความไม่ประมาท และรู้เท่าทัน อยู่ในภาวะสมดุล ที่ทุกคนจะต้องอยู่และเดินต่อไปได้

...

ไทยติดเชื้ออันดับ 8 โลก

ขณะที่ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโพสต์เฟซบุ๊กว่า ทะลุ 503 ล้านคนไปแล้ว เมื่อวันที่ 15 เม.ย. ทั่วโลกติดเพิ่ม 665,043 คน ตายเพิ่ม 2,142 คน รวมแล้วติดไป 501,832,252 คน เสียชีวิตรวม 6,219,761 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 83.13 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 71.8 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 33.96 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 29.64 สถานการณ์ระบาดของไทยเมื่อวันที่ 15 เม.ย. จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูง เป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก ทั้งนี้ จำนวนคนเสียชีวิตของไทยเมื่อวันที่ 14 เม.ย. คิดเป็น 18.74% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย

BA.2.2 เสี่ยงตายไม่ต่างจากเดิม

รศ.นพ.ธีระระบุถึง BA.2.2 ในฮ่องกงว่า Mesfin Y และคณะจากฮ่องกง เผยแพร่ผลการศึกษาเกี่ยวกับการระบาดของ Omicron สายพันธุ์ย่อย BA.2.2 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา พบว่า BA.2.2 ทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตพอๆกับสายพันธุ์ดั้งเดิมในระลอกแรกของโควิด-19 หากไม่ได้ฉีดวัคซีน

...

mRNA ประสิทธิภาพดีกว่า

รศ.นพ.ธีระยังระบุด้วยว่า เมื่อเทียบประสิทธิภาพของ Pfizer/Biontech Moderna Sinopharm และ Sinovac ในสิงคโปร์ Premikha M และคณะ จากสิงคโปร์ เปรียบเทียบอัตราส่วนของอัตราอุบัติการณ์การติดเชื้อโรคโควิด-19 และการป่วยรุนแรง (incidence rate ratio) ในประชากรราว 2.7 ล้านคน ที่ได้รับวัคซีนทั้ง 4 ชนิด ครบ 2 เข็มไปอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และได้รับเข็มสองไปไม่เกิน 120 วัน แล้วประเมินดูว่ามีอัตราการเกิดการติดเชื้อ และป่วยรุนแรงมากน้อยเพียงใด ในช่วง 1 ต.ค.ถึง 21 พ.ย.2564 ทั้งนี้ในกลุ่มประชากรสิงคโปร์ที่ศึกษานั้น ส่วนใหญ่ฉีด Pfizer/Biontech ราว 2,000,000 คน, Moderna ราว 600,000 คน, Sinovac/ Coronavac ราว 60,000 คน, Sinopharm ราว 20,000 คน ผลการศึกษาพบว่า mRNA vaccines (Pfizer/Biontech, Moderna) มีอุบัติการณ์ติดเชื้อน้อยกว่าวัคซีนเชื้อตาย (Sinopharm, Sinovac/Coronavac) อย่างมีนัยสำคัญ ส่วนอุบัติการณ์ของการป่วยรุนแรงนั้นพบว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีน Sinovac/Coronavac มีอัตราการป่วยรุนแรงสูงกว่าวัคซีน Pfizer/Biontech 4.59 เท่า ในขณะที่ Sinopharm มีอัตราการป่วยรุนแรงไม่แตกต่างจาก Pfizer/Biontech อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้การศึกษาในสิงคโปร์ชี้ให้เห็นว่าวัคซีน mRNA ดูจะมีประสิทธิภาพดีกว่าวัคซีนเชื้อตาย ทั้งในด้านการป้องกันการติดเชื้อและการป้องกันการป่วยรุนแรง

โควิดเข้าปอดได้ใน 5 นาที

ขณะที่ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เฟซบุ๊กว่า ทีมวิจัยของเกาหลีใต้ได้นำเสนอผลการทดลองชิ้นหนึ่งน่าสนใจมาก เป็นการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาตอบคำถามเกี่ยวกับความสามารถการติดเข้าสู่เซลล์ปอดของมนุษย์ของไวรัส SARS-CoV-2 แต่ละสายพันธุ์ได้ชัดเจนขึ้น ทีมวิจัยทำการแยกเซลล์ถุงลมปอดของมนุษย์ออกมาเลี้ยงในห้องปฏิบัติการและเหนี่ยวนำให้เซลล์ดังกล่าวเจริญเป็นโครงสร้างที่เรียกว่า Organoid เป็นสภาวะที่ใกล้เคียงกับอวัยวะจริงในร่างกาย ทีมวิจัยได้นำไวรัสที่แยกได้จากผู้ป่วยในเกาหลีใต้ที่มีการถอดรหัสพันธุกรรม 100 เปอร์เซ็นต์ แล้ว 4 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์เดิม (GR), อัลฟา, เดลตา และโอมิครอน จำนวนเท่าๆกัน มาผสมกันและปล่อยให้ไวรัสทั้ง 4 สายพันธุ์ติดเข้าสู่ Organoid ปอดที่สร้างขึ้น ที่น่าสนใจคือใช้เวลาเพียงแค่ 5 นาที ไวรัสสามารถติดเข้าสู่เซลล์ได้แล้ว

...

ติด 3 สายพันธุ์พร้อมกันได้

ดร.อนันต์ระบุอีกว่า ทีมวิจัยทำการแยกเซลล์ปอดที่ติดเชื้อออกเป็นเซลล์เดี่ยว แล้วนำเซลล์เดี่ยวนั้นไปถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสในแต่ละเซลล์ด้วยเทคโนโลยี SMART-seq3 ผลการทดลองจากการถอดรหัสเซลล์จำนวนเกือบ 190 เซลล์ ทีมวิจัยพบว่า 52 เซลล์ (คิดเป็น 27.2 เปอร์เซ็นต์) ติดเชื้อโดยไวรัส 1 สายพันธุ์ ในขณะที่มีเซลล์มากถึง 85 เซลล์ (44.5 เปอร์เซ็นต์) ติดเชื้อไวรัสได้ 2 สายพันธุ์ และมีมากถึง 52 เซลล์ หรือ 27.2 เปอร์เซ็นต์ สามารถติดเชื้อได้ 3 สายพันธุ์พร้อมๆกัน เป็นข้อมูลที่น่าสนใจมาก เพราะความเชื่อก่อนหน้านี้เกี่ยวกับโอกาสที่ไวรัสจะเข้าไปอยู่ในโฮสต์พร้อมๆกันมากกว่า 1 สายพันธุ์ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ แต่ผลจากงานวิจัยนี้บอกว่าไม่ยากเช่นกัน

โอมิครอนเข้าปอดไวสุด

ดร.อนันต์ระบุอีกว่า ในบรรดาเซลล์ที่นำมาวิเคราะห์หาชนิดของไวรัสที่ติดเข้าไปได้ ทีมวิจัยพบว่า ส่วนใหญ่เป็นเซลล์ที่ติดสายพันธุ์โอมิครอน ตามมาด้วยอัลฟาและเดลตา กับสายพันธุ์ดั้งเดิม ทีมวิจัยพบว่าโอมิครอนมีความสามารถติดเข้าไปในเซลล์ปอดที่ใช้ในการศึกษานี้ไวกว่าสายพันธุ์อื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ (ประมาณ 4.8 เท่า) แต่ยังไม่ชัดเจนว่าผลของการศึกษานี้จะขัดแย้งกับการศึกษาก่อนหน้านี้ที่พบว่าโอมิครอนติดเซลล์ปอดไม่ดีหรือไม่ คงต้องดูในรายละเอียดของชนิดของเซลล์ที่ใช้ ตลอดจนความแตกต่างของไวรัสด้วย ประเด็นที่สนใจเป็นพิเศษ คือโอกาสที่ไวรัสเข้าไปเพิ่มจำนวนตัวเอง ในเซลล์เดียวกันได้หลายๆสายพันธุ์ในเวลาเดียวกัน เพราะนั่นคือกลไกการสร้างไวรัสลูกผสมตระกูล X ทั้งหลาย ถ้าเกิดขึ้นได้ง่ายขนาดนี้ไวรัสหน้าตาแปลกๆ ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ง่ายเช่นกัน

“ลาล่า-โจอี้ บอย” ติดโควิด

นอกจากนี้ วันเดียวกัน นักร้องนักแสดงสาวอารมณ์ดี “ลาล่า อาร์สยาม” หรือขวัญนภา เรืองศรี โพสต์ผ่านไอจีส่วนตัวแจ้งว่าติดเชื้อโควิด-19 หลังมีอาการผิดปกติเมื่อวันที่ 12-14 เม.ย. มีอาการไข้และไออย่างหนักตลอดทั้งคืน จนไม่มั่นใจตัวเอง และตรวจ swab ตลอด กระทั่งตรวจซ้ำเมื่อ 15 เม.ย. ปรากฏว่าตรวจพบเชื้อรีบออกมาแจ้งข่าวให้ทุกคนที่ใกล้ชิดได้ทราบและระวังตัว ขณะนี้ลาล่าได้รับการรักษาตัวแล้ว เช่นเดียวกับแร็ปเปอร์ดัง “โจอี้ บอย” หรือนายอภิสิทธิ์ โอภาสเอี่ยมลิขิต โพสต์เฟซบุ๊กแจ้งว่าติดเชื้อโควิด-19 หลังจากมีทีมงานติดเชื้อ กักตัวและยกเลิกงานในช่วงนี้ไปก่อน เพื่อสังเกตอาการตนเอง กระทั่งวันที่ 16 เม.ย.ได้ตรวจ ATK อยู่หลายครั้ง และได้โชว์ผลตรวจที่ขึ้น 2 ขีด เข้าสู่กระบวนการรักษาตัวต่อไป

จีนล็อกดาวน์ซีอานบางส่วน

ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศจีน สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 16 เม.ย.ว่าทางการจีนเริ่มใช้มาตรการล็อกดาวน์บางส่วนในนครซีอาน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ระหว่างวันที่ 16-19 เม.ย.นี้เพื่อลดกิจกรรมและการสัญจรของประชาชน หลังมีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลายสิบรายในเดือนนี้ อย่างไรก็ตาม มาตรการครั้งนี้ไม่ใช่การล็อกดาวน์อย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้ประชาชน 13 ล้านคนยังเดินทางภายในบริเวณพื้นที่อยู่อาศัยได้ ขณะที่บริษัทต่างๆยังเปิดตามปกติ แต่รัฐบาลท้องถิ่นสนับสนุนให้พนักงานทำงานจากบ้านหรือให้อาศัยอยู่ในที่ทำงาน แต่ห้ามรับประทานอาหารในร้านอาหารและสถานบันเทิง รวมถึงปิดศูนย์วัฒนธรรม นอกจากนี้แท็กซี่และรถยนต์ที่ให้บริการผ่านแอปพลิเคชันจะไม่ได้รับอนุญาตให้ออกนอกซีอาน

เริ่มทดลองวัคซีนเชื้อตายตัวใหม่

วันเดียวกัน บริษัท ไชนา เนชันแนล ไบโอเทค กรุ๊ป หรือซีเอ็นบีจี บริษัทลูกในเครือซิโนฟาร์มของจีนแถลงว่าวัคซีนภายใต้การวิจัยของบริษัท 2 ชนิดที่คิดค้นเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 เชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนโดยเฉพาะ ได้รับการอนุมัติสำหรับการ ทดลองทางคลินิก เพื่อใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นในฮ่องกง ทั้งนี้ วัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้ผลิตจากเชื้อตายของโอมิครอนและขั้นตอนต่อไปจะทดลองในอาสาสมัครวัยผู้ใหญ่ที่ได้รับวัคซีนมาแล้ว 2 หรือ 3 เข็ม โดยไม่ระบุจำนวนผู้เข้าร่วมทดลอง ก่อนหน้านี้ผลการศึกษาของจีนพบว่าวัคซีนเข็มที่ 4 ของซิโนฟาร์ม หลังจากได้รับเข็มที่ 3 ไปแล้ว 6 เดือน ไม่ได้เพิ่มระดับแอนติบอดีต่อโอมิครอนอย่างมีนัยสำคัญ นักวิจัยจึงเสริมว่าวัคซีนชนิดใหม่จะเป็นทางเลือกของวัคซีนเข็มกระตุ้นที่มีประสิทธิภาพดีกว่าในอนาคต

ผุดอีก 2 สายพันธุ์ย่อย

ด้านแพทย์หญิงมาเรีย แวน เคอร์คอฟ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคด้านโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลกเผยว่า เชื้อกลายพันธุ์โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 กำลังแพร่กระจายในบอตสวานา แอฟริกาใต้ เยอรมนี และเดนมาร์ก รวมถึงประเทศอื่นๆ ซึ่งข้อมูลในขณะนี้ดูเหมือนว่า BA.4 และ BA.5 ไม่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วหรือเป็นอันตรายถึงชีวิตมากกว่าเชื้อโอมิครอนดั้งเดิม อย่างไรก็ตามมีความจำเป็นอย่างยิ่งในเฝ้าระวังและติดตามอย่างแข็งขันเพื่อให้สามารถวิเคราะห์และเข้าใจสายพันธุ์ย่อยทั้ง 2 ชนิดนี้ ทั้งนี้ หน่วยงานความมั่นคงด้านสุขภาพของอังกฤษ รายงาน ณ วันที่ 8 เม.ย.มีผู้ป่วย BA.4 ในแอฟริกาใต้ 41 คน เดนมาร์ก 3 คน บอตสวานา 2 คน อังกฤษและสกอตแลนด์ที่ละ 1 คน รายงานยังระบุด้วยว่าระหว่างวันที่ 25 ก.พ.25 มี.ค.2565 พบเชื้อ BA.5 จำนวน 27 เคส ทั้งหมดอยู่ในแอฟริกาใต้ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขของบอตสวานาเผยเมื่อต้นสัปดาห์ว่าพบผู้ติดเชื้อ BA.4 และ BA 5 ในผู้ที่มีอายุ 30-50 ปี ที่ได้รับวัคซีนครบถ้วน