วันเสาร์สบายๆ หยุดยาวสงกรานต์วันนี้ไปคุยเรื่อง “ผู้สูงอายุ” กันนะครับ 13 เมษายน ที่ผ่านมา นอกจากจะเป็น วันสงกรานต์วันขึ้นปีใหม่ไทย แล้ว ยังเป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” อีกด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีผู้สูงอายุ ได้ส่งสารแสดงความห่วงใยถึงผู้สูงอายุทุกคน ไม่รู้จะไปถึงผู้สูงอายุสักกี่คน แต่กลับไม่ได้มีนโยบายแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุไทยที่กำลังเต็มไปด้วยปัญหามากมาย จากจำนวนผู้สูงอายุที่ครองสัดส่วนประชากรไทยเพิ่มขึ้นทุกวัน เพราะมีเด็กเกิดใหม่น้อยลงไปทุกวัน

เป็น ปัญหาใหญ่ของชาติในวันนี้และอนาคต ที่รัฐบาลยังไม่ได้แก้ไขอย่างจริงจัง

คุณดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒนาฯ ให้สัมภาษณ์กับ วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนพฤษภาคมว่า ประชากรผู้สูงอายุไทย (60 ปีขึ้นไป) ปี 2565 มีจำนวน 13 ล้านคน คิดเป็น 19.5% ของประชากรไทย 66.81 ล้านคน แบ่งออกเป็น อายุ 60-69 ปี 7.8 ล้านคน 11.7% อายุ 70–79 ปี 3.76 ล้านคน 5.6% อายุ 80 ปีขึ้นไป 1.44 ล้านคน 2.1%

ถัดไปอีก 5 ปี พ.ศ.2570 ประชากรสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จะเพิ่มขึ้นเป็น 15.60 ล้านคน คิดเป็น 23.2% ของประชากรทั้งหมด ถัดไปอีก 5 ปี พ.ศ.2575 ประชากรสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จะเพิ่มขึ้นเป็น 18.00 ล้านคน คิดเป็น 26.9% ของประชากรทั้งหมด ถัดไปอีก 5 ปี พ.ศ.2580 ประชากรสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จะเพิ่มขึ้นเป็น 19.76 ล้านคน คิดเป็น 29.9% หรือ 1 ใน 3 ของประชากรไทยทั้งหมด เป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วงนะครับ ถ้ารัฐบาลยังไม่มี “นโยบายแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุ” เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศในอนาคตอย่างจริงจัง ทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ

สาเหตุที่พลเมืองผู้สูงอายุไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คุณดนุชา ระบุว่า เกิดจากอัตราการเกิดของคนไทยลดลง จาก 2.0% ในปี 2538 เหลือ 1.3% ในปี 2561 และเหลือเพียง 1.0% ในปัจจุบัน ส่งผลให้เด็กเกิดใหม่ลดลงจาก 9 แสนคนในปี 2538 เหลือไม่ถึง 6 แสนคนในปี 2564 ซึ่งมีสาเหตุมาจาก การแต่งงานที่ช้าลง การอยู่เป็นโสดมากขึ้น และ ค่านิยมในการมีบุตรน้อยลง ประกอบกับ ประชากรไทยมีอายุขัยเฉลี่ยยืนยาวขึ้น ปี 2561 อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยในเพศชายอยู่ที่ 72.2 ปี เพศหญิงอยู่ที่ 78.9 ปี

...

มีข้อมูลอีกตัวที่น่าสนใจ คุณดนุชา เปิดเผยว่า ปี 2562 ประเทศไทยมี “กลุ่มเพศทางเลือก” หรือ LGBT ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 3.6 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนราว 5% ของประชากรไทย ทำให้ครอบครัวมีขนาดเล็กลง

โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป คุณดนุชา บอกว่า กระทบทั้งเศรษฐกิจและสังคม ทำให้เกิด การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ เพราะประชากรวัยแรงงานมีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติมากขึ้น ส่วน ผลกระทบด้านสังคม มีมากมาย เช่น คนเกิดน้อยลง ทำให้ประชากรวัยเรียนลดลงด้วย โดยพบว่า ปี 2557 มีนักศึกษาใหม่ 508,037 คน ลดลงเหลือ 377,691 คน ในปี 2562 ลดลงถึง 25.7% และสร้างปัญหาความเหลื่อมลํ้าด้านรายได้รุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ที่อยู่ในวัยทำงานอายุ 40-50 ปี ซึ่งอยู่ตรงกลางของทุกช่วงวัย ต้องรับภาระหนักรอบด้านทั้งการเงินและครอบครัว และ การดูแลพ่อแม่ ตนเอง คู่สมรส และบุตร ฯลฯ หนักหนาสาหัสจริงๆ

ทั้งหมดที่ผมยกมาเขียนถึงนี้ เป็นเพียง ปัญหาเสี้ยวเดียว ของ ปัญหาสังคมสูงอายุ ที่นายกรัฐมนตรีสูงอายุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่ได้ตระหนัก เพราะห่วงแต่เก้าอี้นายกฯ

ข้อมูลที่น่าห่วงอีกตัวก็คือ ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวมีเป็นล้านคน การอยู่คนเดียวจะทำให้เกิด “ความเหงาเฉียบพลัน” จนกลายเป็น “ความเหงาเรื้อรัง” และ “โรคซึมเศร้า” ในที่สุด ซึ่งโรคซึมเศร้าเป็นปัญหาใหญ่อีกปัญหาหนึ่งของสังคมไทยในยุคนี้.

“ลม เปลี่ยนทิศ”