อาหารสัตว์ราคาพุ่งไม่หยุดจากสภาวะขาดแคลนวัตถุดิบ โดยเฉพาะข้าวสาลี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง อันเป็นผลมาจากปัจจัยที่มิอาจควบคุมได้อย่างสภาวะโลกร้อน ที่ทำให้อากาศแปรปรวน ทำให้ผลผลิตลดลง รวมทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน...ส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนกันไปทุกหัวระแหง ทั้งเกษตรกร ผู้ผลิตอาหารสัตว์ หรือแม้แต่รัฐบาลเองที่ยังมิอาจแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม
โครงการจัดการขยะแบบบูรณาการและพัฒนาอย่างยั่งยืนของตลาดสี่มุมเมือง...เป็นการทำขยะให้เป็นศูนย์ หรือซีโร่เวส ด้วยการนำขยะอินทรีย์ในตลาดแปรรูปไปสู่อาหารโคและอาหารปลา คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดผลิตภัณฑ์ที่เป็น มิตรต่อสิ่งแวดล้อม Thailand Green Awords 2021 โดย สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหา วิทยาลัยเกษตรศาสตร์
“ตลาดสี่มุมเมือง เป็นตลาดค้าส่งผัก ผลไม้ขนาดใหญ่ มีสินค้าหมุนเวียนวันละกว่า 8,000 ตัน มีคนเดินตลาดวันละกว่า 50,000 คน ฉะนั้นปัญหาใหญ่คือการกำจัดขยะเศษเหลือทิ้งจากผักผลไม้วันละไม่ต่ำกว่า 230 ตัน ทำให้มีภาระต้นทุนในการฝั่งกลบกำจัดขยะสูงถึงปีละ 35 ล้านบาท โครงการจัดการขยะแบบบูรณาการและพัฒนาอย่างยั่งยืนจึงเกิดขึ้น เพื่อต้องการลดค่าใช้จ่ายกำจัดขยะ พร้อมไปกับการเป็นตลาดกลางค้าส่งที่รักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยมีการลงมือทำแบบมีส่วนร่วมของคนในตลาด ที่ทำได้ง่าย ค่าใช้จ่ายต่ำ แต่เกิดประสิทธิภาพสูง ขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในช่วงวัตถุดิบอาหารสัตว์ราคาแพง โดยนำเศษผักผลไม้ไปทดแทน ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ทำมากว่า 1 ปี นอกจากสามารถลดต้นทุนการกำจัดขยะไปได้ปีละ 4 ล้านบาทแล้ว ยังสร้างรายได้เพิ่มให้องค์กรปีละกว่า 11 ล้านบาท”
...
ปณาลี ภัทรประสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานกลยุทธ์ธุรกิจ ตลาดสี่มุมเมือง บอกถึงจุดเริ่มต้นของโครงการ...เริ่มแรกสร้างการมีส่วนร่วมและสร้างวินัยให้พ่อค้าแม่ค้าในตลาดก่อน
โดยแต่ละโซนที่แบ่งตามประเภทสินค้า จะมีถังขยะแยกประเภทเอาไว้ เพื่อให้ได้วัตถุดิบนั้นๆ 100% และสะดวกในการคัดแยกสิ่งปนเปื้อน ได้แก่ เปลือกข้าวโพด/ข้าวโพดตกเกรด เปลือกขนุน/ขนุนตกเกรด จุกสับปะรด/ สับปะรดตกเกรด ใบผักกะหล่ำปลี ผักกาดขาวและผักตกเกรด ส่วนบริเวณอื่นมีการแยกถังขยะอย่างชัดเจน พร้อมกับกำหนดเวลาจัดเก็บ
จากนั้นจะนำใบผักกะหล่ำ/ผักกาดขาวและผักตกเกรด แยกไปเตรียมจำหน่ายให้กับเกษตรกรบ่อปลา สําหรับเปลือกข้าวโพด/ข้าวโพดตกเกรด เปลือกขนุน/ขนุนตกเกรด จุกสับปะรด/สับปะรดตกเกรด จะนำไปสับหยาบรวมกันตามสัดส่วนที่ฟาร์มโคแต่ละแห่งออเดอร์ไว้ อาทิ บางฟาร์มต้องการแค่เปลือกข้าวโพด/ข้าวโพดตกเกรด เนื่องจากต้องนำไปสต๊อกจะทำให้เก็บได้นานกว่า บางฟาร์มต้องการทุกอย่างรวมกัน เนื่องจากมีกลิ่นหอมทำให้โครับประทานได้มากขึ้นเพื่อเพิ่มน้ำหนัก เป็นต้น
ทั้งนี้ ปัจจุบันสามารถนำพืชผักกว่าวันละ 75 ตันจำหน่ายให้แก่ทั้งผู้เลี้ยงปลาและโค ทำเงินได้ปีละกว่า 11 ล้านบาท โดยเศษใบผักสำหรับเป็นอาหารปลาขายได้วันละ 40 ตันให้กับเกษตรกรทั้งสิ้น 44 ราย ในพื้นที่ใกล้เคียง จ.พระนครศรีอยุธยา, ปทุมธานี, ปราจีนบุรี, นครนายก, นครปฐม, ฉะเชิงเทรา โดยราคาขายหากบริษัทจัดส่ง กก.ละ 0.32 บาท และหากเกษตรกรมารับเองจะอยู่ที่ 0.18 บาท
ส่วนอาหารโคปริมาณการผลิตวันละ 18 ตัน (ผลิตตามออเดอร์ที่เกษตรกรสั่ง) ให้กับเกษตรกร 17 รายในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี, สระบุรี, นครราชสีมา, ราชบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ปทุมธานี โดยมีราคาขายหากให้บริษัทจัดส่ง กก.ละ 0.92 บาท และหากมารับเอง กก.ละ 0.82 บาท
ส่วนที่เหลือขายให้กับผู้เลี้ยงสัตว์รายย่อยที่มาซื้อครั้งละไม่มากนัก และนำไปผลิตจุลินทรีย์อีเอ็ม โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สามารถผลิตได้ปีละ 7.5 แสนตัน นำไปทำความสะอาดตลาด ท่อน้ำทิ้ง และห้องน้ำ บนพื้นที่กว่า 320 ไร่ ลดค่าใช้จ่ายทำความสะอาดได้ปีละกว่า 1.5 ล้านบาท
นอกจากนี้ ขยะรีไซเคิลวันละ 7 ตันยังถูกนำมารีไซเคิลด้วยเครื่องที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง โดยใช้ต้นทุนแค่ 3,000 บาท แต่สามารถสร้างรายได้เพิ่มอีกปีละ 1.5 ล้านบาท
...
“เกษตรกรที่นำเศษผักผลไม้จากที่นี่ไปใช้ล้วนพอใจอย่างมาก โดยเฉพาะการผ่านคัดแยกแล้ว ทำให้ได้วัตถุดิบ 100% ไม่ปนเปื้อนขยะอื่นๆ สามารถนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ได้เลย ช่วยประหยัดค่าแรงงานคัดแยก แถมสัตว์ที่เลี้ยงได้กินพืชผักสด ทำให้แข็งแรง โตเร็ว”
ในอาหารปลาจะประหยัดค่าใช้จ่ายลง 15-20%...อาหารวัวประหยัดไป 10-15% โดยเฉพาะช่วยเซฟค่าใช้จ่ายในการปลูกหญ้าเนเปียร์.
กรวัฒน์ วีนิล