ปัจจุบันภาคเอกชนโดยเฉพาะองค์กรใหญ่ ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเดินหน้าทำโครงการเป็นต้นแบบอย่างจริงจัง
โครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ที่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมกับ กรมป่าไม้ เข้าไปอนุรักษ์ผืนป่าต้นน้ำลุ่มน้ำป่าสัก ถือเป็นต้นแบบของการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศไทย
...
หลังประสบความสำเร็จในการดำเนินการระยะที่ 1 (ระหว่างปี 2559-2563) ได้ถึง 5,971 ไร่ และปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการในระยะที่สอง (ปี 2564-2568) โดยมีแผนจะฟื้นฟูป่าเพิ่มเติมอีก 1,000 ไร่
ล่าสุด นายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการเครือซีพี-ซีพีเอฟ นำคณะผู้บริหารระดับสูง อาทิ นายอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร นายพงษ์ วิเศษไพฑูรย์ รองประธานคณะกรรมการบริหาร และ นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหารซีพีเอฟ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการ
พร้อมกับร่วมกันปลูกต้นจำปาป่า 1,000 ต้น ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จาก นายศิริชัย มาโนช ที่ปรึกษาอาวุโสเครือซีพี และปล่อยปลา 1 แสนตัวสำหรับสร้างแหล่งอาหารให้ชาวบ้านที่อาศัยในชุมชนรอบข้าง
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหารซีพีเอฟ กล่าวว่า โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง เป็นความมุ่งมั่นของซีพี-ซีพีเอฟ ที่มีส่วนร่วมอนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่สีเขียวของไทย รวมทั้งอนุรักษ์ป่าต้นน้ำที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศ
ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมาโครงการช่วยพลิกฟื้นสภาพป่าที่รกร้างสู่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ คืนความชุ่มชื้น และความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว 5,971 ไร่ และสานต่อโครงการฯในระยะที่สองเพิ่มเติมอีก 1,000 ไร่
บริษัทฯมีแผนติดตามความคืบหน้าผืนป่าอย่างต่อเนื่องทุกๆปี อีกทั้งยังได้นำ “แปลงปลูกป่าพิถีพิถัน” ในโครงการขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.
...
ซีพีเอฟ ดำเนินธุรกิจโดยยึดมั่นปรัชญา 3 ประโยชน์ เพื่อให้บริษัท สังคม สิ่งแวดล้อม เติบโตอย่างสอดคล้องไปด้วยกัน
“โครงการนี้เป็นความตั้งใจของเครือซีพีและซีพีเอฟที่ทำประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศ และภูมิใจที่กรมป่าไม้ยกให้เป็นต้นแบบ เพื่อนำไปใช้พัฒนาผืนป่าในพื้นที่อื่นๆของประเทศ...
รวมถึงยังต่อยอดเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับหน่วยงานราชการ ภาคเอกชนอื่นๆ เข้ามาศึกษารูปแบบการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่า เพื่อช่วยกันเพิ่มพื้นที่สีเขียว” นายประสิทธิ์ กล่าว
ด้าน นายสุรพล กลิ่นพันธุ์ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการปลูกป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 สระบุรี และ นายถนอมพงษ์ สังข์ธูป ในฐานะหัวหน้าโครงการเขาพระยาเดินธง ร่วมเปิดเผยว่า
...
ด้วยสภาพพื้นที่ของโครงการส่วนใหญ่เป็นภูเขาหินและแห้งแล้งมาก ทำให้การฟื้นฟูป่าไม้ทำได้ยากมาก
แต่ด้วยความตั้งใจของซีพีเอฟเข้ามาช่วยฟื้นฟูผืนป่าในช่วง 5-6 ปี ที่ผ่านมา โดยผสานนักวิชาการเข้ามาช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้การปลูกป่ารูปแบบต่างๆ ช่วยให้การปลูกและอนุรักษ์ป่าไม้ทำได้เห็นผลเป็นรูปธรรม
...
ทำให้ระบบนิเวศของพื้นที่เปลี่ยนแปลงไป ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่ากลับคืนมา ช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้พื้นที่ มีแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น ชาวบ้านมีแหล่งอาหารที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
นอกจากเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้นแล้ว โครงการยังช่วยสร้างงานสร้างอาชีพสู่ชุมชนรอบข้าง และดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมอนุรักษ์ต้นไม้ ตั้งแต่เก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์ เพาะกล้าไม้ กำจัดวัชพืช ฯลฯ
เป็นการสร้างความตระหนักและจิตสำนึกรักผืนป่าให้กับชุมชน และประเทศ.
ทีมข่าวภูมิภาค