• ผวาสงกรานต์โควิดลามหนัก แฉยอดป่วยจริงวันละเป็นแสน เตือนประชาชนเคร่งครัดมาตรการป้องกัน-ลดการแพร่ระบาด
  • จับตา 20 วันอันตรายช่วงสงกรานต์ 11-30 เม.ย.นี้ เหตุคนเดินทางกลับภูมิลำเนา รวมกลุ่มทำกิจกรรม เตือนหากการ์ดตกยอดโควิดพุ่งแน่
  • สั่งทุกจังหวัดเข้มกิจกรรม "สงกรานต์" วอนกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีน-ย้ำป้องกันได้ ยันเข็มกระตุ้นลดอาการลองโควิด เผยคนแก่ติดโอมิครอน เสี่ยงเสียชีวิต

สถานการณ์โควิดฯในไทย ยังไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้น เมื่อตัวเลขผู้เสียชีวิตล่าสุดพุ่งทะลุ 100 รายแล้ว ส่วนยอดผู้ติดเชื้อรายวันยังสูงต่อเนื่อง โดยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ที่ปรึกษาใหญ่ ศบค.ยอมรับว่า ยอดติดเชื้อจริงทุกวันนี้พุ่งวันละเป็นแสน หวั่นช่วงสงกรานต์โควิดลามหนัก แนะจับตา 20 วันอันตราย ตั้งแต่วันที่ 11-30 เม.ย. เหตุคนเดินทางกลับภูมิลำเนา รวมกลุ่มทำกิจกรรม พร้อมกำชับประชาชนต้องเคร่งครัดมาตรการป้องกันให้มาก เตือนหากการ์ดตกยอดติดเชื้อพุ่งแน่ !!!

จับตายอดผู้ติดเชื้อโควิด ช่วง 20 วันอันตราย 11-30 เม.ย.นี้
จับตายอดผู้ติดเชื้อโควิด ช่วง 20 วันอันตราย 11-30 เม.ย.นี้

...

จับตา 20 อันตราย ลุ้นยอดป่วยหลังสงกรานต์

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า สถานการณ์โควิดยังไม่ยอมถึงช่วงขาลงง่ายๆ ดังหวัง ดูเหมือน ศบค.จะเลือกปรับฐานชั่วคราวช่วงสงกรานต์ก่อน ด้วยการยังไม่เพิ่มมาตรการผ่อนคลายอื่นอีกจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แล้วเร่งเสริมมาตรการต่างๆ เพื่ออุดรูรั่วในช่วงเทศกาลปีใหม่ไทย ตามประเพณีโบราณ หวังให้เกิดแรงกระเพื่อมยอดผู้ป่วยใหม่ช่วง 20 วันอันตราย (11-30 เม.ย.) ให้น้อยที่สุดที่ต้องให้เป็นช่วงกว้าง เพราะต้องคำนึงถึงทั้งก่อนงาน ระหว่างงาน และหลังงาน ที่คนเราจะมีการเคลื่อนย้าย รวมกลุ่มและการ์ดตก มาลุ้นกันว่าในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ เราจะได้สึนามิหรือคลื่นน้อยพลอยให้เรือเล็กออกจากฝั่งได้

โควิดทำเด็กเล็กตายเพิ่ม จนน่าห่วง

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ ระบุอีกว่า ที่ยังน่าเป็นห่วงตอนนี้ในบ้านเรา คือ การเจ็บป่วยรุนแรงของเด็กเล็กในระลอกนี้ ซึ่งมีลูกเด็กเล็กแดงป่วยหนัก จนถึงขั้นเสียชีวิตให้เห็นบ่อยกว่าระลอกก่อน ดูเหมือนสัดส่วนการเสียชีวิตในกลุ่มอายุน้อยกว่า 5 ปี ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนจะแซงหน้ากลุ่มอื่น แม้ทุกฝ่ายจะพยายามร่วมมือกันเตรียมการรับมือเต็มที่ แต่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพดูแลรักษาเด็กป่วยหนัก จากโควิดในบ้านเรามีจำกัด เด็กเล็กไม่เหมือนผู้ใหญ่ จำเป็นต้องมีบุคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือในการดูแลเป็นพิเศษ ทางที่พอช่วยได้ในการเสริมภูมิคุ้มกันทางอ้อม เพื่อให้เขาระหว่างรอวัคซีนในอนาคต คือ ต้องช่วยกันลดการติดเชื้อจากผู้ใหญ่สู่เด็ก โดยเฉพาะจากสมาชิกในครอบครัว

"บ้านไหนที่มีเด็กเล็กและผู้สูงอายุ สมาชิกครอบครัวต้องเข้ารับวัคซีนตามคำแนะนำให้ครบ ตั้งการ์ดสูงระมัดระวังตัวเองเต็มที่เพื่อปกป้องเด็กเล็ก คนท้อง และผู้สูงอายุจากการเดินทาง และพบปะญาติมิตรให้ได้มากที่สุดในช่วง 20 วันอันตรายนี้" รศ.นพ.นิธิพัฒน์ ระบุ

สั่งทุกจังหวัดเข้มกิจกรรม
สั่งทุกจังหวัดเข้มกิจกรรม "สงกรานต์" งานใหญ่ต้องขอ กก.โรคติดต่อ จว.

เข้ม "สงกรานต์" จัดกิจกรรม ย้ำผู้จัดต้องมีความรับผิดชอบ

ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการปฏิบัติตัวช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า จะเตรียมความพร้อม 2 ด้าน คือ 1.เตรียมประชาชนให้ปลอดภัยด้วยการฉีดวัคซีน 2.เตรียมสถานที่ให้พร้อมตามมาตรการโควิดฟรีเซตติ้งก่อนทำกิจกรรม กิจกรรมที่จัดภายในครอบครัว ทั้งการสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัว ทานอาหารร่วมกันทำได้ แต่ขอแนะนำให้จัดในพื้นที่โล่ง ลดความใกล้ชิด กลุ่ม 608 ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนขออย่าร่วมกิจกรรม

ทั้งนี้ กิจกรรมขนาดเล็กในหมู่บ้านและชุมชน ให้ดำเนินการได้เลย โดยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่ให้รับทราบ ขอให้เน้นกิจกรรมตามประเพณี ริน รด พรม การฉีดน้ำที่รุนแรงหรือสาดน้ำใครโดยไม่ขออนุญาต เพราะถือว่าผิดกฎหมายให้ละเว้น ส่วนกิจกรรมขนาดใหญ่นั้น ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. เพื่อกำหนดมาตรการให้สอดคล้อง ขอเน้นย้ำผู้จัดกิจกรรมต้องมีความรับผิดชอบและควบคุมการจัดงาน เพื่อให้มีเทศกาลสงกรานต์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และส่งเสริมประเพณีควบคู่ไปกับการควบคุมโรค

...

มท.1 กำชับ ผู้ว่าฯทุกจังหวัดเตรียมความพร้อม-แผนเผชิญเหตุ

สำหรับมาตรการคุมเข้มกิจกรรมช่วงสงกรานต์ ตามจังหวัดต่างๆเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิดฯ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย (มท.1) กล่าวว่า ระบาดโควิดช่วงสงกรานต์ ตามจังหวัดต่างๆ ว่า ตนได้กำชับปลัดกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เตรียมความพร้อมมาตรการควบคุมโรคแบบบูรณาการ สำหรับการจัดกิจกรรมช่วงเทศกาลสงกรานต์ ด้วยการประเมินอนุญาตกิจกรรมการรวมกลุ่ม ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ก่อนการจัดงาน และกำกับการปฏิบัติตามมาตรการโควิดฟรีเซตติ้งในวันจัดงาน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง พร้อมเฝ้าระวังและควบคุมกำกับในกิจการต่างๆ เช่น ท่าอากาศยาน สถานีขนส่ง สถานีรถไฟ ร้านอาหาร ร้านอาหารกึ่งผับ ตลาด ศาสนสถาน สถานที่ท่องเที่ยว เป็นต้น และเน้นย้ำการสื่อสารสร้างการรับรู้ความร่วมมือจากประชาชนในการป้องกันตนเองแบบ Universal Prevention และ DMHTA หากพบว่ามีอาการหรือความเสี่ยงให้ตรวจด้วย ATK ทันที รวมทั้งให้ทุกจังหวัดจัดเตรียมแผนเผชิญเหตุ เพื่อรองรับกรณีพบการระบาดเพิ่มขึ้นระหว่างหรือหลังเทศกาลสงกรานต์

เน้นผู้ร่วมงานต้องผ่านการคัดกรอง-ขอ ปชช.ให้ความร่วมมือ

ด้าน นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะควบคุมดูแลการจัดกิจกรรมที่ขออนุญาต เพื่อให้ประชาชนทำตามมาตรการต่างๆ ที่ออกมาให้จังหวัดสำรวจจุดจัดกิจกรรมขนาดใหญ่ และให้หารือร่วมกับผู้จัดงานเพื่อกำหนดมาตรการว่าอะไรทำได้แค่ไหน เรามีหลักเกณฑ์กลาง คือ การคัดกรองผู้ร่วมงาน การให้พื้นที่ 1 คน ต่อ 4 ตารางเมตรเป็นหลัก ขณะที่มาตรการเพิ่มเติมให้ทำตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ และขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือกับมาตรการที่ออกมาด้วย

...

วอน
วอน "ผู้สูงอายุ-กลุ่มเสี่ยง" ไปฉีดวัคซีน

วอน "กลุ่มเสี่ยง 608" ฉีดวัคซีน หากครบโดสให้รับเข็มกระตุ้น

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาพบปะญาติพี่น้องจำนวนมาก จึงขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ Self Clean Up โดยขอให้บุตรหลานพาพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ไปฉีดวัคซีน หากได้รับวัคซีนครบโดสแล้วให้ไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น สามารถฉีดได้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน พร้อมตรวจเช็กตนเองหากมีความเสี่ยงให้รีบตรวจ ATK และปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention สวมหน้ากาก 100 เปอร์เซ็นต์ เว้นระยะห่างล้างมือบ่อยๆ อย่าใช้มือสัมผัสใบหน้า หลังกลับจากสงกรานต์ให้สังเกตอาการตนเอง 7 วัน ตรวจ ATK เมื่อมีอาการสงสัยติดเชื้อและทำงานที่บ้าน (WFH) ตามความเหมาะสม สถานที่จัดกิจกรรมสามารถจัดกิจกรรมตามประเพณีได้ เช่น การรดน้ำดำหัว หรือสรงน้ำพระ โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการ Covid Free Setting อย่างเคร่งครัด จัดกิจกรรมในที่โล่ง และงดรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มร่วมกันเป็นเวลานาน

...

ย้ำวัคซีนป้องกันได้ ยันเข็ม 3-4 ลดป่วยหนัก-เสียชีวิต

ด้าน นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษา ศบค. กล่าวว่า เราไม่ได้ห้ามเดินทาง แต่ขอให้ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ต้องจริงจังกับการรักษามาตรการ ต้องฉีดวัคซีนเพราะป้องกันได้จริงๆ ส่วนที่ต้องฉีดเข็มกระตุ้นนั้น เพราะไวรัสมีการกลายพันธุ์ ขณะนี้ไทยเพิ่งฉีดเข็ม 3 ประมาณ 35% ถือว่าต่ำมาก ส่วนกลุ่ม 608 ฉีดเข็มกระตุ้นได้ไม่ถึง 40% ด้วยซ้ำ องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาระบุว่า จำเป็นต้องฉีดเข็มกระตุ้นเพื่อป้องกันเชื้อโอมิครอน ขณะที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ระบุว่า ต้องฉีดเข็ม 4 ด้วย อิสราเอลฉีดเข็ม 5 แล้ว ทั้งนี้ มีข้อมูลว่าหากฉีดเข็ม 3 จะติดเชื้อ 360 รายต่อแสนคน หากฉีดเข็ม 4 จะติดเชื้อเพียง 177 คนต่อแสนคน ส่วนข้อมูลของไทยพบว่าการฉีดเข็ม 4 ป้องกันอาการรุนแรงได้กว่า 90% ดังนั้นการฉีดเข็ม 3 เข็ม 4 ลดอัตราความรุนแรงและการเสียชีวิตได้

เข็มกระตุ้นลดอาการ "ลองโควิด"

"นอกจากนี้ ข้อมูลของต่างประเทศระบุว่า การฉีดเข็มกระตุ้นลดอาการลองโควิดได้ถึง 50% ส่วนคนที่บอกว่าไม่ฉีดวัคซีน เพื่อให้ติดเชื้อธรรมชาติดีกว่านั้น เป็นความเชื่อที่ผิด อัตราการเสียชีวิตทั่วโลกยังสูงอยู่ เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอให้ยกเลิกการตรวจ RT-PCR มาใช้ ATK แทนกับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศนั้น พบตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เดินทางเข้าประเทศในขณะนี้น้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศที่ตกวันละกว่าแสนคน เพราะที่ผ่านมามีการผ่อนคลายมาตรการการเข้าประเทศตามลำดับ เป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันทั่วโลก เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพียงแต่ต้องเคร่งครัดมาตรการสาธารณสุข" นพ.อุดม กล่าว

"คนแก่" ติดโอมิครอน เสี่ยงตายสูง!

"ผู้สูงวัย" ติดโอมิครอน เสี่ยงตายสูง แนะใช้ยาตัวใหม่ลดป่วยหนัก

ส่วนกรณีที่ผู้สูงอายุ ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน มีอาการป่วยรุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิตนั้น นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียู เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ รพ.วิชัยยุทธ ระบุถึงกรณีดังกล่าวว่า ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงเมื่อติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน มีโอกาสสูงที่จะเกิดปอดอักเสบ ป่วยหนักต้องเข้าไอซียู ใส่เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะคนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ฉีดเข็มเดียวหรือฉีดครบสองเข็ม แต่ยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรได้ยาต้านไวรัสตัวใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น ยาโมลนูพิราเวียร์ หรือในอนาคตอันใกล้ ยาแพกซ์โลวิด ภายใน 5 วันแรกที่เริ่มป่วย ซึ่งยาใหม่ 2 ขนานนี้มีหลักฐานช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ ไม่ใช่ยาฟาวิพิราเวียร์

มีร้านยา 500 แห่ง ร่วม "เจอ-แจก-จบ" บริการผู้ป่วยนอกกักตัวที่บ้าน

ขณะที่ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการร่วมมือกับสภาเภสัชกรรม เพื่อให้บริการแบบผู้ป่วยนอกแยกกักตัวที่บ้าน หรือ "เจอ-แจก-จบ" เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวเข้าถึงระบบบริการรักษาโดยสะดวก ว่า เพื่อช่วยลดความแออัดใน รพ. ซึ่งร้านยาที่เข้าร่วมให้บริการผู้ป่วยโควิดต้องเป็นร้านยาที่มีเภสัชกรประจำ ขณะนี้มีร้านยาที่สนใจและสมัครเข้ามาประมาณ 700 แห่ง ขึ้นทะเบียนในระบบแล้ว 500 แห่ง

แจงขั้นตอนการใช้บริการ ฮึ่มทุจริตขู่เอาผิดถึงที่สุด

ส่วนขั้นตอนการเข้ารับบริการ "เจอ-แจก-จบ" ที่ร้านยา นั้น ทพ.อรรถพร กล่าวว่า เช่นเดียวกับการเข้ารับบริการที่โรงพยาบาล และหน่วยบริการอื่นๆในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยก่อนให้บริการจะมีการพิสูจน์ตัวตนของผู้รับบริการก่อน เพื่อยืนยันการเข้ารับบริการโดยใช้บัตรประชาชน และบันทึกข้อมูลการให้บริการผ่านโปรแกรม AMED Telehealth ระบบบริการการแพทย์ทางไกล เพื่อส่งเบิกกับ สปสช.ซึ่งการจ่ายชดเชยค่าบริการให้กับร้านยารายละ 700 บาทนั้น สปสช.วางระบบจ่ายตรงเข้าบัญชีของร้านยาตามที่ลงทะเบียนไว้ ไม่มีการจ่ายผ่านคนกลางแต่อย่างใด และตั้งแต่ให้บริการ ตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.เป็นต้นมา มีจำนวนการเบิกค่าบริการเข้ามาไม่มากราว 1,200 รายเท่านั้น ทั้งนี้ร้านยาที่ต้องการเข้าร่วมโครงการสามารถสมัครเข้าร่วมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย กรณีที่มีข้อสงสัยหรือหากพบว่ามีการทุจริตหรือมีพฤติกรรมที่ไม่โปร่งใสขั้นตอนใด ขอให้แจ้งโดยตรงที่เลขาธิการ สปสช.จะดำเนินการตามกฎหมายให้ถึงที่สุด

ผู้เขียน : หงเหมิน

กราฟิก : Anon Chantanant