• สงกรานต์ 2565 รัฐบาลไม่ห้ามคนกลับบ้าน แต่ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด
  • แนวปฏิบัติตัวในช่วงสงกรานต์ ทำอย่างไรให้ปลอดภัย ลดการแพร่เชื้อของไวรัสตัวร้าย "โควิด-19"
  • กะละแม-ข้าวเหนียวแดง ขนมยอดฮิตช่วงเทศกาลสงกรานต์ นิยมทำร่วมกันตอนทุกคนในบ้านกลับมาอยู่พร้อมหน้า แต่ปีนี้บางคนกลับบ้านไม่ได้


แม้ว่าปีนี้ รัฐบาลจะไม่ห้ามให้ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่ขอให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ซึ่งหลายพื้นที่ประกาศมาตรการให้เล่นน้ำแบบ "ริน-รด-พรม" ห้ามสาดน้ำ บางพื้นที่งดเล่นน้ำ ประแป้ง อนุญาตให้จัดกิจกรรมตามประเพณีเท่านั้น ทำให้ภาพเทศกาลสงกรานต์ของประเทศไทยเปลี่ยนไป

แม้ว่าจะมีหลายคนเดินทางกลับบ้าน บางคนลางานเพื่อออกเดินทางตั้งแต่เย็นวันศุกร์ที่ 8 เมษายน เพื่อจะได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวให้นานขึ้น แต่ก็ยังมีหลายคนที่ไม่ได้เดินทางกลับ เช่น กลัวนำเชื้อโควิดไปแพร่ให้กับคนที่บ้าน เนื่องจากสายพันธุ์โอมิครอน ค่อนข้างแพร่เชื้อได้เร็ว บางคนให้เหตุผลว่า ไม่อยากเจอรถติดระหว่างทาง บางคนยังต้องกักตัวรักษาอาการโควิด และบางคนติดทำงาน แม้อยากกลับบ้านแต่ก็กลับไม่ได้

...

ขณะเดียวกันทางฝั่งของคนรอ ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย แม้จะเข้าใจสถานการณ์แต่ก็ยังมีความหวังอยากเจอหน้าลูกหลาน ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน กินข้าวพร้อมหน้า พากันเข้าวัดทำบุญ

โดยช่วงเทศกาลงกรานต์หลายพื้นที่จะนิยมทำขนมที่ต้องใช้คนจำนวนมากมาช่วยกันทำ เพื่อนำไปทำบุญที่วัด ได้แก่ กะละแม ข้าวเหนียวแก้ว หรือ ข้าวเหนียวแดง ซึ่งวิธีการทำขนมเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการกวนค่อนข้างนานและใช้แรงคนในการกวน

สำหรับ "กะละแม" มีส่วนประกอบหลัก ได้แก่ แป้ง กะทิ น้ำตาล เกลือ แม้จะมีส่วนผสมไม่กี่อย่างแต่ความยากอยู่ที่ขั้นตอนการกวน ซึ่งจะต้องกวนไปเรื่อยๆ โดยใช้ไฟอ่อน ที่สำคัญคือห้ามให้กะละแมไหม้ติดกระทะ โดยต้องกวนไปจนกว่ากะละแมจะเหนียวจนสามารถยกลงจากเตาได้

ส่วน "ข้าวเหนียวแดง" เป็นขนมไทยโบราณ หอมกลิ่นน้ำตาลไหม้ มีวัตถุดิบหลักคือ ข้าวเหนียว น้ำตาลปี๊บ กะทิ เร่ิมจากนำข้าวเหนียวไปนึ่งให้สุก จากนั้นเคี่ยวน้ำตาลปี๊บกับกะทิ ปรุงรสด้วยเกลือ เมื่อส่วนผสมเข้ากันแล้วให้นำข้าวเหนียวลงไป แล้วใช้ไม้พายกวนไปเรื่อยๆ ข้าวเหนียวแห้ง ล่อนจากกระทะ ซึ่งการทำข้าวเหนียวแดงจะใช้เวลาน้อยกว่าการทำกะละแม

...

นอกจากคนจะทำขนมไปถวายพระแล้ว ส่วนที่เหลือก็จะนำขนมไปแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้าน หากบ้านไหนทำอร่อยก็จะได้รับคำชม ดังนั้นการทำ กะละแม ข้าวเหนียวแดง ในช่วงสงกรานต์จึงเหมือนเป็นการประชันฝีมือกันแบบลับๆ

แต่การกลับบ้านไปพบครอบครัวในครั้งนี้ คงต้องแปะคำเตือน ย้ำกันบ่อยๆ ว่าต้องระวังมากเป็นพิเศษหากต้องไปเจอญาติผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งทาง รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์คำแนะนำในช่วงสงกรานต์ ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ดังนี้


1. ควรฉลองสงกรานต์อยู่กับบ้าน ไม่ตะลอนท่องเที่ยว ไม่ร่วมกิจกรรมรดน้ำสาดน้ำประแป้งนอกบ้าน

2. หากจำเป็นต้องเดินทางกลับไปต่างจังหวัด หรือไปหาญาติพี่น้องที่อยู่ต่างบ้านกัน ควรดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้

  • เก็บเนื้อเก็บตัว ไม่ตะลอน ก่อนออกเดินทางอย่างน้อย 3-5 วัน
  • ก่อนเดินทางสัก 1-2 วัน ควรโทรถามสารทุกข์สุกดิบ กับคนที่อยู่ปลายทางว่าทุกคนสบายดี ไม่มีอาการเจ็บป่วย และประะเมินตนเองด้วย หากมีใครมีอาการไม่สบายใดๆ แม้เล็กน้อย ก็ควรงดเดินทางไปพบปะกัน
  • วันเดินทาง ควรตรวจ ATK ตนเอง หากเป็นผลบวก ก็หยุดแผนเดินทาง
  • ออกนอกบ้านควรใส่หน้ากากเสมอ เดินทางตามแผนที่กำหนด ไม่เฉไฉตะลอนหลายที่ เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและนำไปแพร่ให้คนที่ปลายทาง
  • การไปกราบสวัสดีผู้หลักผู้ใหญ่ พ่อแม่ปู่ย่าตายายนั้น ควรเว้นระยะห่างก็จะปลอดภัยกว่า แต่หากจะไปกอดหรือคลุกคลีใกล้ชิด ถ้าใส่หน้ากากได้จะดีกว่า และอย่าลืมล้างมือให้สะอาดก่อนไปสัมผัสกัน

...

  • การกินข้าวสังสรรค์กันในหมู่สมาชิกในครอบครัวนั้น ควรนั่งห่างกันกว่าปกติ และเลือกนั่งกินดื่มในที่โล่ง ระบายอากาศดี
  • หลังเสร็จกิจกรรมวันหยุดยาว ควรสังเกตอาการผิดปกติ และควรตรวจ ATK อีกครั้งหลังกลับมา
  • ในกรณีของคนที่กลับมาจากการเดินทาง แต่มีสมาชิกในบ้านที่ไม่ได้เดินทางไปด้วย หากแยกจากกัน ไม่สุงสิงกันในช่วง 3-5 วันหลังกลับมาก็จะปลอดภัยกว่า

การติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นไม่ได้จบแค่เป็น รักษาแล้วหาย แต่มีโอกาสเกิดปัญหาระยะยาวอย่าง Long COVID ที่จะบั่นทอนสมรรถนะในการดำรงชีวิตและการทำงาน และส่งผลให้เกิดภาวะทุพพลภาพหรือโรคเรื้อรังได้.

ผู้เขียน : J. Mashare

กราฟิก : Sathit Chuephanngam