จังหวัดเลยมีภูมิอากาศที่เย็นสบายตลอดทั้งปี เหมาะแก่การเพาะปลูกพรรณไม้เมืองหนาวหลากหลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะ อ.ภูเรือ และ อ.ด่านซ้าย เป็นแหล่งผลิตไม้ดอกไม้ประดับที่สำคัญ และขนาดใหญ่สุดของประเทศ มีดอกเบญจมาศ สับปะรดสี และพรรณไม้อวบน้ำ เป็นตัวชูโรง และเป็นแหล่งผลิตต้นคริสต์มาสที่ใหญ่ที่สุดของไทย
เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ด้วยการผลิตไม้ดอกไม้ประดับโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้สามารถยกระดับภาคเกษตรเป็นธุรกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการต่อเนื่อง เพิ่มรายได้ของชุมชนในพื้นที่ กลายเป็นแหล่งวิทยาการแห่งการเรียนรู้ พัฒนาสู่การสร้างแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและวัฒนธรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จึงสนับสนุนทุนตาม โครงการมาลัยวิทยสถาน ให้แก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เน้นการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ
“เดิมทีคนส่วนใหญ่แถบนี้นิยมปลูกไม้ดอกไม้ประดับเป็นอาชีพเสริมมานาน โดยเฉพาะต้นคริสต์มาสที่ทำกันแทบทุกครัวเรือน ตอนแรกก็ไม่มีปัญหาอะไรนัก แถมมีพ่อค้ามารับไปขายต่อถึงที่ แต่ช่วง 8 ปีหลัง เริ่มพบปัญหาโรค โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่า และแมลงศัตรูพืช ด้วยปลูกกันแบบบ้านๆ ไม่มีเทคโนโลยีหรือมาตรฐานใดๆ มาใช้ในการปลูก กระทั่งมีโครงการมาลัยวิทยสถานเข้ามา จึงร่วมอบรม จนมารวมกลุ่มกันเมื่อ 4 ปีที่แล้ว จนปัจจุบันสามารถนำความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดมาใช้กับไม้ประดับได้เป็นอย่างดี พร้อมไปกับไม้ตัวเลือกใหม่ๆที่ได้รับการแนะนำจากเจ้าหน้าที่โครงการ”
...
นางสาวณัฐริกา ศรีสวัสดิ์ ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับ อ.ภูเรือ จ.เลย และหัวหน้าศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนท้ายบ้านแก่งไฮ อ.ภูเรือ บอกถึงที่มาของกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับแปลงใหญ่ มีสมาชิก 32 ราย พื้นที่ปลูกรวมกว่า 100 ไร่
หลังจากทีมวิจัยวิเคราะห์ถึงเหตุของการเกิดโรคและแมลง มาจากต้นกล้าที่เพาะกันแบบตามมีตามเกิดทำให้ได้ต้นกล้าที่ไม่แข็งแรง ดินเก่าที่ใช้ซ้ำไปซ้ำมา รวมถึงวัสดุปลูก ภาชนะปลูกที่อาจเป็นต้นตอของโรคแมลง ทีมวิจัยจึงพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ คัดเลือกต้นพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับที่แข็งแรงปลอดโรค
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้ใช้วัสดุปลูกที่มีคุณภาพ ใช้ธาตุอาหารเสริมที่เหมาะสมต่อพืช จุลินทรีย์ในการปลูกและปรุงดิน ใช้ระบบการปลูกเลี้ยงสมัยใหม่ที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน ระบบการปลูกเลี้ยงตามหลักความพอดีไม่เหลือทิ้ง กระบวนการหลังการเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะปัญหาเรื่องดินที่เป็นปัญหาใหญ่ จึงแก้ปัญหาด้วยการให้เกษตรกรอบดิน แต่วิธีการเดิมใช้เวลาค่อนข้างนาน จึงใช้การนึ่งเห็ดมาประยุกต์ โดยใส่ดินแทนก้อนเห็ด แล้วคลุมผ้ายางหรือชีต ที่ภายในมีท่อไอน้ำเพื่อฆ่าเชื้อ ทิ้งไว้ 1 ชม.ก่อนนำไปเป็นวัสดุปลูก
นางสาวณัฐริกา บอกต่อไปว่า นอกจากความรู้ ทักษะต่างๆ เกษตรกรยังได้รู้จักไม้ดอกไม้ประดับพันธุ์ใหม่ๆที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และภูมิอากาศแถบนี้ เพิ่มความหลากหลายให้ผลิตภัณฑ์มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ เบญจมาศสายพันธุ์ต่างๆ ฟิโลเดนดรอนหลากหลายสายพันธุ์ และที่เป็นตัวเอกคือลิเซียนทัส หรือกุหลาบไร้หนาม ไม้ดอกแสนสวย ติดอันดับ 1 ใน 10 ของไม้ตัดดอกโลกที่ได้รับความนิยม และมีโอกาสเป็นไม้ดอกเศรษฐกิจชนิดใหม่ เพราะจากการทดลองในแปลงปลูก สามารถเจริญเติบโตและออกดอกได้เป็นอย่างดี
สำหรับด้านการตลาด ก็มีการออกตราสัญลักษณ์ SME CLUSTER ให้กับไม้ดอกไม้ประดับของกลุ่ม พร้อมไปกับเปิดแพลตฟอร์มให้เกษตรกรขายออนไลน์ได้เอง
โครงการมาลัยวิทยสถาน นอกจากจะพัฒนาทักษะด้านนวัตกรรมการผลิตไม้ดอกไม้ประดับเชิงพาณิชย์ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของผู้ผลิตให้มากขึ้น ยังช่วยเสริมสร้างรายได้ให้กับชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากในช่วงวิกฤติระบาดของโควิด-19 ยกระดับสู่อาชีพที่ยั่งยืนหลังสถานการณ์คลี่คลายด้วยเกษตรสมัยใหม่ ตามหลัก BCG Model เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมอยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ทั้งในระดับของต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้อย่างแท้จริง.
...
กรวัฒน์ วีนิล