ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผอ.กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค-สวทช.) เปิดเผยว่า เพื่อให้ประเทศไทยรับมือการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทีมวิจัยได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องการพัฒนา “Pseudotyped Virus” หรือ “ไวรัสตัวแทน” ที่มีกลไกในการติดเชื้อเข้าสู่เซลล์ได้เหมือนไวรัสตัวจริง แต่ผ่านการปรับให้มีคุณสมบัติไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่องค์การอนามัยโลกให้การยอมรับเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัย รวมถึงมีการใช้งานอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน มาใช้พัฒนา “ไวรัสตัวแทนไวรัสก่อโรคโควิด-19” สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยเทคโนโลยีที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นสามารถใช้ผลิตไวรัสตัวแทนไวรัสก่อโรคโควิด-19 จากข้อมูลรหัสพันธุกรรมได้ทุกสายพันธุ์
ดร.อนันต์กล่าวต่อว่า ไวรัสตัวแทนเป็นเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นมาเพื่อเลียนแบบไวรัสก่อโรคโควิด-19 เพราะจากที่ทราบกันดีว่าไวรัส SARS-CoV-2 ใช้โปรตีนตรงส่วนหนามในการจับและเข้าสู่เซลล์ ทีมวิจัยจึงได้นำโปรตีนหนามของไวรัส SARS-CoV-2 มาใส่ไว้ในไวรัสอีกตัวหนึ่งซึ่งมีความปลอดภัยและไม่อันตราย ไวรัสตัวแทนมีจุดเด่นคือ
1. ช่วยให้นักวิจัยทำงานเชิงรุกได้ เมื่อมีการค้นพบการกลายพันธุ์ของไวรัสก่อโรคโควิด-19 นักวิจัยสามารถนำข้อมูลรหัสพันธุกรรมมาสร้างไวรัสตัวแทนเพื่อใช้ดำเนินงานได้ทันที ไม่ต้องรอให้มีการติดเชื้อของสายพันธุ์นั้นในประเทศแล้วจึงแยกเชื้อออกมาจากผู้ป่วย
2. ปลอดภัย
3. ทดสอบได้รวดเร็ว ไวรัสตัวแทนสามารถแสดงผลการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ให้เห็นอย่างชัดเจนภายใน 48 ชั่วโมง ต่างจากไวรัสของจริงที่ต้องใช้เวลา 5-6 วัน นอกจากนี้ การทดสอบด้วยไวรัสตัวแทนยังทำได้มากถึงครั้งละ 90 ตัวอย่าง ขณะที่การทดสอบด้วยไวรัสของจริงทำได้เพียงครั้งละ 6 ตัวอย่าง
...
4. ผลิตได้ปริมาณมากในเวลาอันรวดเร็วทำให้มีปริมาณไวรัสมากพอในการทดสอบ และสุดท้ายคือลดค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานได้มากถึง 20-30 เท่า
“ไบโอเทคได้นำไวรัสตัวแทนมาให้บริการการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศแล้ว ทั้งการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ที่มีการฉีดภายในประเทศ การทดสอบสูตรการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับบุคคลกลุ่มต่างๆและการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตขึ้นในประเทศ อาทิ วัคซีน Chula-CoV-19 วัคซีนใบยา และวัคซีน HXP-GPOVac” ดร.อนันต์กล่าว.