นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยถึงผลกระทบของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย และยูเครนที่มีต่อเศรษฐกิจภาคการเกษตรของไทยว่า หากสงครามยืดเยื้อ จะกระทบราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เพราะรัสเซียถือเป็นประเทศมหาอำนาจด้านพลังงานของโลก ทั้งด้านการผลิตก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ถ่านหิน และสินแร่ต่างๆ รวมถึงเป็นผู้ผลิตข้าวสาลีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รายใหญ่ของโลก ขณะที่ยูเครนเป็นประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญในลำดับต้นๆของโลก เช่น ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และธัญพืชต่างๆ จนได้รับการขนานนาม ว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของยุโรป
สำหรับสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ รัสเซียเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 30 ของไทย ปี 2564 มีมูลค่าการค้ารวม 88,167 ล้านบาท ไทยส่งออก 32,508 ล้านบาท นำเข้า 55,660 ล้านบาท ส่วนยูเครนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 63 ของไทย ปี 2564 มีมูลค่าการค้า 12,428 ล้านบาท ไทยส่งออก 4,229 ล้านบาท และนำเข้า 8,200 ล้านบาท ซึ่งไทยเสียเปรียบดุลการค้าให้กับรัสเซียและยูเครนมาตลอด โดยสินค้าเกษตรที่ส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครนส่วนใหญ่ เช่น สับปะรดปรุงแต่ง พืชผัก ผลไม้ ลูกนัต เปลือกผลไม้ และส่วนอื่น ของพืชแช่อิ่ม เชื่อมหรือฉาบ เนื้อปลาอื่นๆแช่เย็นจนแข็ง เป็นต้น ส่วนสินค้าเกษตรที่นำเข้าจากรัสเซีย เช่น สินค้าประมงแช่แข็ง บักวีต ข้าวฟ่างนกเขา สำหรับสินค้านำเข้าจากยูเครน เช่น ข้าวสาลี กากน้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันดิบที่ได้จากเมล็ดทานตะวัน แป้งสตาร์ชทำจากข้าวโพด และบักวีต ข้าวฟ่างนกเขา
...
สำหรับผลกระทบด้านเศรษฐกิจการเกษตรของไทย สศก.ประเมินว่า เป็นโอกาสของไทยในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่รัสเซียมีความต้องการสูง เช่น ข้าว ยางพารา ผักและผลไม้ อาหารทะเล สินค้าปศุสัตว์ และอาหารแปรรูป อย่างไร ก็ตาม ไทยต้องคำนึงถึงการแสดงท่าทีของประเทศในสถานการณ์สงครามให้เหมาะสม เนื่องจากที่ผ่านมาไทยแสดงจุดยืนที่เป็นกลางมาโดยตลอด ส่วนยูเครน การส่งออกสินค้าเกษตรไทยไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่จะได้รับผลกระทบในด้านการนำเข้าสินค้าเกษตรบางชนิด เนื่องจาก ไทยมีสัดส่วนการนำเข้าจากยูเครนในระดับสูง
ส่วนผลกระทบทางตรงด้านเศรษฐกิจการเกษตรของไทยคือราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะปุ๋ยเคมีที่รัสเซียในฐานะประเทศผู้ส่งออกอันดับ 2 ของโลก ประกาศงดส่งออก รวมถึงวัตถุดิบอาหารสัตว์ น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัจจัยการผลิตหลักในการผลิตสินค้าเกษตร ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยไปยังรัสเซียและยูเครนปีนี้มีแนวโน้มลดลงจากปีที่แล้วถึง 70-90% เนื่องจากปัญหาด้านการขนส่ง และกระจายสินค้า ประกอบกับกำลังซื้อที่ลดลงมาก รวมถึงการระงับการทำธุรกรรมทางการเงินของธนาคาร และสถาบันการเงินหลายแห่งในรัสเซีย ซึ่งจะทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยชะลอตัวตามไปด้วย.