หมอใหญ่ศิริราชเตือนอย่า เพิ่งวางใจโควิด “โอมิครอน” ไม่รุนแรง หลังสงกรานต์ประเมินยอดผู้ติดเชื้อ-ผู้เสียชีวิต น่าจะพุ่ง ให้ระวังผู้สูงวัย 2.2 ล้านคน ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน เสี่ยงป่วยหนัก ด้านปลัด สธ.แนะต้อง 2 แนวทาง เร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นผู้สูงวัย ส่วนลูกหลานให้ฉีดวัคซีน-ตรวจ ATK ก่อนกลับภูมิลำเนา ลดเสี่ยงนำเชื้อกลับบ้านโดยไม่รู้ตัว รมว.วัฒนธรรม เสียงเข้มสงกรานต์ปีนี้ต้องงดกิจกรรมเล่นสาดน้ำ ให้ทำได้แค่จัดงานประเพณี การแสดงทางวัฒนธรรม และต้องขออนุญาตก่อนจัดกิจกรรม ขณะที่หลายจังหวัดในอีสานยังน่าห่วง ยอดติด-ตายรายวันต่อเนื่อง คุกโคราช 7 วันตรวจพบติดเชื้อแล้วกว่า 1.2 พันคน
ยิ่งใกล้ช่วงเทศกาลสำคัญของคนไทยในช่วงเดือนเมษายน กระทรวงสาธารณสุขเร่งเครื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรค โควิด-19) ให้กับผู้สูงอายุที่ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรงหากติดเชื้อ
เทงบฯสู้โควิด 8.4 พันล้านบาท
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 21 มี.ค. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายก รัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบฯปี 65 งบกลางรายการค่าใช้จ่ายบรรเทาแก้ไขปัญหา และเยียวยาเกี่ยวกับโรคโควิด-19 วงเงิน 8,458.38 ล้านบาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอจัดสรรแก่ สำนักงานปลัดกระทรวงฯ 7,777.09 ล้านบาท กรมการแพทย์ 626.53 ล้านบาท กรมสุขภาพจิต 27.84 ล้านบาท กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 13.53 ล้านบาท และกรมอนามัย 13.37 ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายเป็นค่าตอบแทนการเสี่ยงภัยของเจ้าหน้าที่และค่าตอบแทนบุคลากรนอกเหนือภารกิจปกติ นอกจากนี้ ครม.ได้อนุมัติงบกลางอีก 811.77 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าตอบแทนเสี่ยงภัยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานส่วนหน้า ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) ของกรมการปกครอง 270,590 คน คนละ 500 บาทต่อเดือนตั้งแต่ ต.ค.64-มี.ค.65
...
ย้ำสงกรานต์ปีนี้งดสาดน้ำ
ขณะที่นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า จากที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เห็นชอบมาตรการป้องกันโควิด-19 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2565 แบบวิถีใหม่ไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่เนื่องจากมีการเผยแพร่ข้อมูลที่มีความคลาดเคลื่อนสร้างความเข้าใจผิดให้แก่ประชาชนว่าปีนี้สามารถจัดกิจกรรมเล่นน้ำและสาดน้ำได้แล้ว ทาง ศบค.กำชับมายัง วธ.ให้ เร่งสร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการ หน่วยงานภาคส่วนต่างๆ รวมถึงประชาชนว่ามาตรการโควิด-19 ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ไม่ได้อนุญาตให้การเล่นน้ำ หรือสาดน้ำแต่อย่างใด อนุญาตเฉพาะการจัดประเพณีการละเล่น การแสดงดนตรี การแสดงทางวัฒนธรรม ตลอดจนประเพณีท้องถิ่นอันดีงาม อาทิ การสรงน้ำพระ รดน้ำ ดำหัวผู้สูงอายุ ทำบุญตักบาตร เท่านั้น พร้อมย้ำทุกจังหวัดและทุกพื้นที่ที่มีการจัดกิจกรรมจะต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัด และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
เข้มจัดงานต้องขออนุญาต
นายอิทธิพลกล่าวว่า ได้ประสานงานไปยังสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ (สวจ.) เพื่อสร้างความเข้าใจกับภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ โดยย้ำให้ประสานงานกับจังหวัดในการขออนุญาตการจัดกิจกรรมทั้งการจัดงานประเพณีวัฒนธรรม และการแสดงทางวัฒนธรรม เพื่อป้องกันความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรค สำหรับการจัดกิจกรรมต่างๆจะต้องจัดจุดคัดกรอง มีเจ้าหน้าที่ประจำจุด และลงทะเบียนเข้าออกผ่านแพลตฟอร์มไทยชนะ จำกัดจำนวนผู้เข้าชมหรือร่วมกิจกรรมให้มีระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และพกเจลแอลกอฮอล์ตลอดเวลาที่ร่วมงาน ในส่วนของพื้นที่ส่วนกลางได้ประสานงานกรุงเทพ มหานคร (กทม.) แจ้งแนวทางทุกเขตไม่ให้เล่นสาดน้ำ ฉีดวัคซีน 3 เข็ม ATK เป็นลบ 72 ชั่วโมง ที่จะมีการจัดงานบริเวณศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และศูนย์การค้าไอคอนสยาม จะมีสำนักอนามัย กทม.ตรวจสอบพื้นที่ที่ขออนุญาตจัดงาน พร้อมกันนี้ ยังมีสายด่วน 1765 เปิดรับแจ้งพฤติกรรมไม่เหมาะสมในเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงให้คำแนะนำการจัดงานที่สามารถจัดได้
ติดเชื้อยังทะลุกว่า 2.1 หมื่นคน
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทย เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 21,382 คน ติดเชื้อในประเทศ 21,280 คน มาจากเรือนจำ 44 คน เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 58 คน หายป่วยเพิ่มขึ้น 24,824 คน อยู่ระหว่างรักษา 236,814 คน อาการหนัก 1,484 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 532 คน
ป่วยตายเพิ่มอีก 83 ศพ
ส่วนผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 83 คน เป็นชาย 51 คน หญิง 32 คน อายุ 60 ปีขึ้นไป 65 คน มีโรคเรื้อรัง 16 คน ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 2 คน โดย กทม.พบผู้เสียชีวิตสูงสุดที่ 11 คน แต่เมื่อดูเป็นรายภาค พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้เสียชีวิตสูงสุดถึง 22 คน ตามด้วยภาคใต้ 21 คน ขณะที่พบผู้ติดเชื้อทุกจังหวัด โดย 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 3,109 คน ชลบุรี 1,420 คน นครศรีธรรมราช 1,136 คน สมุทรปราการ 874 คน สมุทรสาคร 613 คน นครราชสีมา 606 คน ร้อยเอ็ด 597 คน ระยอง 533 คน นครปฐม 503 คน บุรีรัมย์ 498 คน ส่งให้ขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,398,792 คน หายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,137,561 คน ผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 24,417 คน ส่วนยอดฉีดวัคซีนวันที่ 21 มี.ค.105,249 โดส ยอดฉีดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 จำนวน 127,488,916 โดส
คาดหลังสงกรานต์ติดเชื้อพุ่ง
อีกด้านหนึ่งที่ รพ.ศิริราช ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงการระบาดของโรคโควิด-19 ว่า ช่วงนี้จนถึงสงกรานต์ ตนเคยย้ำเตือน 4 เสี่ยงที่เจอพร้อมกันเมื่อไหร่ต้องระวังให้มาก คือ บุคคล กิจกรรม สถานที่ และช่วงเวลาเสี่ยง ขณะนี้มีการผ่อนคลายกิจกรรมระยะหนึ่งทำให้ 3 เสี่ยงแรกเกิดขึ้น ส่วนช่วงเวลาเสี่ยงที่ใกล้มาถึงคือสงกรานต์ ปีที่แล้วหลังสงกรานต์พบหลายอย่างเคลื่อนไปในทางแย่ลง แต่จุดต่างปีนี้คือวัคซีน รวมถึงสายพันธุ์โอมิครอนที่มีความรุนแรงลดลง และอีกจุดเปลี่ยนคือการพยายามผ่อนคลายกิจกรรมต่างๆ หลังจากที่เราดำเนินการมาระยะหนึ่ง ผ่านจุดทดสอบช่วงปีใหม่ จะเห็นว่าหลังปีใหม่ตัวเลขเกือบไม่ขึ้น ถือ ว่าเราร่วมมือกันทำได้ดี ต่อมาหลังตรุษจีนตัวเลขเริ่มขึ้น สงกรานต์ปีนี้หลังจาก 1-2 ปีที่ผ่านมา หลายคนไม่ได้กลับไปพบบุพการี ปีนี้คงอยากกลับจำนวนมาก จะเกิดการเคลื่อนย้ายระหว่างจังหวัดมาก สิ่งที่อาจเกิดขึ้นคือ ตัวเลขติดเชื้อต่อวันมีแนวโน้มเพิ่ม เพราะโอมิครอนติดเชื้อง่ายอยู่แล้ว ขณะที่คนติดไม่มีอาการ โอกาสที่ใครสักคนเดินทางไปหาครอบครัว มั่นใจว่าไม่มีเชื้อ อาจไม่ตรวจเชื้อ ก็ต้องระวัง เราอาจนำเชื้อแพร่ได้ คาดการณ์หลังสงกรานต์ตัวเลขจะขึ้น แต่สิ่งที่เราไม่อยากเห็นคือตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น
...
สูงวัย 2.2 ล้านคนเสี่ยงป่วย
ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ข้อมูล 3 สัปดาห์ของเดือน มี.ค. ผู้เสียชีวิตพบว่าร้อยละ 50-60 เป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน อีกร้อยละ 30 เป็นผู้ที่ฉีดเพียง 2 เข็มนานเกิน 3 เดือน ส่วนร้อยละ 5-10 คือคนที่ฉีดเข็ม 1 อย่างเดียว เมื่อรวมกันกว่าร้อยละ 90 คือคนที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเพียงพอ เป็นจุดที่เราต้องเร่งแก้ นอกจากนี้กลุ่มผู้เสียชีวิต ร้อยละ 80-90 เป็น กลุ่มผู้สูงอายุ 608 ฉะนั้นถ้าเราอยากให้สงกรานต์เต็มไปด้วยความสุข ต่อเนื่องจนถึงหลังสงกรานต์ ช่วงนี้สำคัญในการเชิญชวนให้มาฉีดวัคซีน คนที่รับ 2 เข็มเกิน 3 เดือนแล้ว ขอให้รีบมารับเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ยังไม่มารับวัคซีนเลย ยังมีราว 2.2 ล้านคนถือเป็นกลุ่มเสี่ยง ขอให้ลูกหลานพาไปฉีด อย่าคิดว่าโอมิครอนไม่รุนแรง ความรุนแรงต้องดูว่าเป็นเพราะตัวไวรัสเอง หรือเพราะคนมีภูมิเพราะฉีดวัคซีนมากขึ้น ทำให้ไวรัสก่อความรุนแรงน้อยลง ส่วนคนที่ฉีด 3 เข็มเกิน 4 เดือนก็ขอให้รับเข็ม 4
สวมหน้ากาก-ล้างมือยังจำเป็น
ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า สงกรานต์ปีนี้ผู้ที่จะกลับบ้าน เดินทางไปท่องเที่ยว ขอให้ตรวจหาเชื้อด้วย ATK ก่อนเดินทาง และย้ำการสวมหน้ากากอนามัยมีความจำเป็น อยากให้ทุกคนนึกว่าเหมือนการสวมเสื้อผ้าที่ จำเป็น เพราะมีประโยชน์ชัดเจน ทั่วโลกใส่หน้ากากกันจนหวัดธรรมดา โรคอื่นน้อยลง รวมถึงการหมั่นล้างมือ เป็นสุขอนามัยที่จำเป็นเพื่อลดการติดเชื้อ
...
ชี้จุดปรับเป็นโรคประจำถิ่น
ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวถึงการปรับโควิด-19 ให้เป็นโรคประจำถิ่นว่า ต้องจับตาประเมินสถานการณ์หลังเทศกาลสงกรานต์นี้ที่จะเป็นจุดชี้ว่าประเทศไทยเราพร้อมหรือไม่ในการเข้าไปสู่โรคประจำท้องถิ่น ถ้าหากช่วงสงกรานต์ที่เป็นช่วงเสี่ยง แล้วเราผ่านไปได้ดี คนไทยเข้าใจโรค วิถีชีวิตในช่วงสงกรานต์นี้ก็จะต่อเนื่องไป ถ้าเราผ่านสงกรานต์ไปด้วยดี คนฉีดวัคซีนมากขึ้นอีก สิ่งที่เราเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในสังคมไทยคือ คนที่หายจากการติดเชื้อที่เฉลี่ยวันละ 2 หมื่นคนนี้ เท่ากับเราจะมีคนที่มีภูมิคุ้มกันมากเกิดขึ้น ทั้งจากวัคซีนและหายจากโรคเพิ่มขึ้นในสังคม เชื่อว่าตอนนั้นเราจะเห็นข้อบ่งชี้ที่ทำให้โควิด-19 กลายเป็นประจำท้องถิ่น
แนะลดเสี่ยงนำเชื้อกลับบ้าน
ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยหลังเปิดกิจกรรม “Save 608 by Booster Dose” รณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ในผู้สูงอายุ เพื่อต้อนรับลูกหลานกลับบ้านอย่างปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่ศูนย์การประชุมนานาชาตินงนุชพัทยา จ.ชลบุรี ว่า ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่มีความเสี่ยงเสียชีวิตจากโควิด-19 มากที่สุด ข้อมูลผู้เสียชีวิตในแต่ละวัน ประมาณร้อยละ 90 เป็นกลุ่ม 608 และร้อยละ 70 ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน โดยมีผู้สูงอายุราว 3 ล้านคน ที่ต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครอบคลุมมากที่สุด ขอให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งเร่งจัดกิจกรรมฉีดวัคซีน โดยเฉพาะผู้สูงอายุให้ครอบคลุมมากที่สุดภายในสิ้นเดือน มี.ค.นี้ เพื่อให้ทุกคนในประเทศมีภูมิต้านทานที่เพียงพอ ลดการป่วยหนักและเสียชีวิต รวมถึงลดความเสี่ยงอาจนำเชื้อไปแพร่ต่อโดยไม่รู้ตัว โดยให้ อสม.ลงพื้นที่เชิงรุกสร้างความเข้าใจและชักชวนประชาชนเข้าฉีดวัคซีน ส่วนลูกหลานที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนา ขอให้ทำตัวเองให้ปลอดจากเชื้อโควิด-19 ด้วยการฉีดวัคซีนทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้น ช่วง 1 สัปดาห์ก่อนเดินทาง งดรวมกลุ่มสังสรรค์ พบปะผู้คนจำนวนมาก หรือเข้าไปยังสถานที่เสี่ยง และตรวจ ATK ก่อนเดินทาง ลดความเสี่ยงนำเชื้อกลับไปแพร่ให้ผู้สูงอายุที่บ้านโดยไม่รู้ตัว
...
“หนึ่ง อีทีซี” ติดโควิดขณะมาสมุย
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคนในแวดวงบันเทิงยังประกาศติดโควิด-19 ต่อเนื่อง ล่าสุดนักร้องหนุ่ม “หนึ่ง-อภิวัฒน์ พงษ์วาท” หรือ “หนึ่ง อีทีซี” แจ้งข่าวว่าติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างเดินทางไปเที่ยวพักผ่อนที่เกาะสมุยกับครอบครัว โดยระบุว่าเริ่มมี อาการเจ็บคอ 2-3 วันก่อน มาทริปสมุยกับครอบครัวพอดี ตรวจ ATK ขึ้นสองขีด เลยไปตรวจซ้ำ RT-PCR ปรากฏว่าพบเชื้อ พักรักษาตัวที่ Hospitel เรียบร้อยแล้ว
2 คลัสเตอร์ใหม่อุบลฯป่วยกว่าร้อย
สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในหลายจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังน่าห่วง โดยเมื่อวันที่ 22 มี.ค. ศูนย์ EOC COVID-19 จ.อุบลราชธานี รายงานมีผู้ติดเชื้อจากการตรวจแบบ RT-PCR และ ATK รวม 2,186 คน ผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 4 คน เป็นชายทั้งหมด อายุ 64, 46, 77 และ 66 ปี ทุกคนมีโรคประจำตัว อาทิ ลิ้นหัวใจรั่ว ไตวายระยะสุดท้าย พาร์กินสัน และมะเร็งกระดูก นอกจากนี้ พบการระบาด 2 คลัสเตอร์ใหม่คือ ร้านเหม่งจ๋าย ร้านกึ่งสถานบันเทิง อ.วารินชำราบ พบนักศึกษา ม.อุบลฯไปใช้บริการ ติดเชื้อครั้งแรก วันที่ 20 มี.ค. พบผู้ติดเชื้อแล้ว 50 คน มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 60 คน ขอให้ผู้ไปใช้บริการร้านดังกล่าวในวันที่ 15-20 มี.ค. เฝ้าสังเกตอาการ กักตัว 10 วันและตรวจหาเชื้อทันที อีกคลัสเตอร์คืองานบุญ หมู่ 13 ต.คำเขื่อนแก้ว อ.สิรินธร พบกลุ่มผู้ไปร่วมงานบุญมีการรับประทานอาหารร่วมกัน ตรวจพบเชื้อไม่ทราบปัจจัยเสี่ยงครั้งแรกวันที่ 18 มี.ค. พบผู้ติดเชื้อแล้ว 69 คน ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 235 คน
คุกโคราชติดเชื้อกว่า 1.2 พันคน
ขณะที่ จ.นครราชสีมา พบผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ยังสูงถึง 1,914 คน แยกเป็นตรวจ RT-PCR 272 คน ATK 1,642 คน ผู้ป่วยเสียชีวิต 1 ศพ เป็นหญิง อายุ 70 ปี ชาว ต.สัมฤทธิ์ อ.พิมาย ฉีดวัคซีน 2 เข็ม สูตรไขว้ซิโนแวค-แอสตราเซเนกา ส่วนสถานการณ์คลัสเตอร์ต่างๆนั้น นายวิเชียร จันทรโณทัย ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ มีความเป็นห่วง หลังพบการแพร่ระบาดของคนในครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ โดยช่วงวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา มีการตรวจ ATK ที่ลานต้นโพธิ์ ศาลากางจังหวัดฯ รวม 1,844 คน พบผู้ติดเชื้อ 422 คน ได้ให้กักตัวที่บ้านและเข้าสู่ระบบการรักษาแล้ว ขณะที่คลัสเตอร์ในพื้นที่ อ.สีคิ้ว มีการติดเชื้อเกือบ 200 คน ทีมสอบสวนโรคสาธารณสุขจังหวัด อยู่ระหว่างสอบสวนโรค ขณะที่ อ.เสิงสาง ติดเชื้อกว่า 118 คน ในจำนวนนี้มีผู้ติดเชื้อเป็นพนักงานในโรงงานแป้งมันสำปะหลังรายใหญ่ ต.กุดโบสถ์ ติดเชื้อเกือบ 10 คน รวมทั้งที่ต้องมีการแก้ไขการติดเชื้อคลัสเตอร์เรือนจำที่มีการตรวจ ATK พบผู้ติดเชื้อทั้งเรือนจำนครราชสีมาตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. ผลตรวจ ATK เป็นบวก 1,241 คน
มข.เปิดตัวสเปรย์ฟ้าทะลายโจร
ขณะเดียวกัน มีข่าวดีเมื่อนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย ขอนแก่น (มข.) คิดค้นสเปรย์ฟ้าทะลายโจรสู้ภัยโควิด ด้วยระบบเทคโนโลยีแอนโดรกราโฟไลด์ นาโน อิมัลชันได้เป็นครั้งแรก โดยเมื่อเวลา 14.30 น.วันที่ 22 มี.ค. ที่ห้องประชุมชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มข. รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มข.พร้อมด้วย ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดี ฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มข. และ ดร.นพรัตน์ อินทร์วิเศษ หัวหน้าทีมวิจัย บริษัท มิส ลิลลี่ จำกัด ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวสเปรย์สำหรับช่องปากและลำคอ จากสมุนไพรฟ้าทะลายโจร สถาบันวิจัยและ พัฒนา มข.ร่วมกับ บ.มิส ลิลลี่ จำกัด วิจัยและคิดค้นขึ้นสำเร็จเป็นครั้งแรก รศ.นพ.ชาญชัย และ ศ.ดร.มนต์ชัยร่วมแถลงว่า สาระสำคัญในฟ้าทะลายโจรที่ให้ฤทธิ์ทางยา และได้รับการรับรองอย่างแพร่หลายทั่วโลกในแง่ของการป้องกันและยับยั้งเชื้อโควิดได้ก็คือ แอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) คณะนักวิจัย มข.ได้ศึกษาวิจัยจนประสบความสำเร็จในการคิดค้นแนวทางการนำสารแอนโดรกราโฟไลด์มาใช้ในรูปแบบนาโนอิมัลชันได้เป็นครั้งแรกของโลก และมีการต่อยอดเชิงพาณิชย์ในรูปแบบของสเปรย์พ่นช่องปากและลำคอ ขนาด 10 มิลลิลิตรและ 20 มิลลิลิตร ขณะนี้ผลิตภัณฑ์ตัวอย่างวางจำหน่ายแล้วที่ รพ.ศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มข. และร้านขายยาในความรับผิดชอบของ มข. และจะมีการต่อยอดเชิงพาณิชย์ไปในกลุ่มร้านขายยา คาดว่าวางจำหน่ายได้ในช่วงต้นเดือน เม.ย.นี้ สเปรย์พ่นช่องปากและลำคอจากฟ้าทะลายโจรดังกล่าวถือเป็นการเตรียมการตามแผนโรดแม็ปรัฐบาลที่เตรียมประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นในวันที่ 1 ก.ค.นี้