มาว่ากันต่อจากคราวที่แล้ว...ถึงการแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่เกิดจากการเผาวัสดุทางการเกษตรในที่โล่งแจ้ง โดยเฉพาะการเผาใบอ้อย ที่แต่ละปีจะมีใบอ้อยที่สามารถแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าในไร่อ้อยของบ้านเรามากถึงปีละ 37 ล้านตัน คิดเป็นใบอ้อยแห้งประมาณ 14 ล้านตัน ถ้าปล่อยทิ้งไว้ให้ถูกเผาจะเกิดปัญหาฝุ่นควันมหาศาล
แต่ถ้ามีระบบจัดการที่ดี ทิ้งใบอ้อยส่วนหนึ่ง 40% ไว้คลุมดินเป็นธาตุอาหาร ที่เหลืออีก 60% หรือ 8.4 ล้านตัน เก็บรวบรวมเพื่อป้อนเข้าโรงไฟฟ้า จะสามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงปั่นกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 500 เมกะวัตต์
นั่นเป็นสิ่งที่ ดร.บุรินทร์ สุขพิศาล คณะบริหารธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย มองว่า จะเป็นแนวทางจัดการปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่เกิดจากการเผาอ้อยได้ดีที่สุด ไม่เพียงจะช่วยลดมลพิษทางอากาศให้กับประชาชนทั่วไป แต่ยังจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยจากการเก็บรวบรวมใบอ้อยไปขาย
แต่ปัญหาใหญ่ในเรื่องนี้ นอกจากรัฐบาลจะต้องดำเนินการอนุมัติให้มีการตั้งโรงไฟฟ้าจากใบอ้อยในพื้นที่ที่มีการปลูกอ้อย โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาฝุ่นควัน และหากต้องการให้มีการจูงใจให้เกษตรกรเลิกเผาอ้อย ต้องให้ราคาใบอ้อยที่เหมาะสม...เพื่อเกษตรกรอยากจะเก็บใบอ้อยไว้ขายมากกว่าเผาทิ้ง
...
ราคาที่เหมาะสมควรอยู่ ณ จุดไหน ดร.บุรินทร์ ได้ประมาณการกำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้าและราคาค่าไฟฟ้าที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐ โดยคิดเงินลงทุนรวมทุกอย่างที่ประมาณเมกะวัตต์ละ 48 ล้านบาท ตัดค่าเสื่อม 15 ปี เดินเครื่อง 330 วันต่อปี
หากรัฐอยากจูงใจให้โรง ไฟฟ้ารับซื้อใบอ้อยแห้งที่ราคาตันละ 1,000 บาท ต้องอนุมัติราคาค่าไฟอย่างต่ำหน่วยละ 2.95 บาท โรงไฟฟ้าจึงจะอยู่รอด
ถ้าเห็นว่าราคาค่าไฟนี้แพง รัฐรับซื้อไฟฟ้าในราคาถูกลง แล้วผลักภาระให้โรงไฟฟ้าไปปรับลดราคา รับซื้อใบอ้อยจากเกษตรกร จะส่งผลให้ไม่เกิดแรงจูงใจมากพอ เช่น หากรับซื้อใบอ้อยที่ราคา 700 บาท ชาวไร่จะเหลือกำไรค่าใบอ้อยไร่ละ 200 บาทเท่านั้น เพราะการเก็บรวบรวมใบอ้อย การอัดก้อนและขนไปขายโรงไฟฟ้านั้นมีต้นทุนค่าใช้จ่ายจัดเก็บ อัดก้อนและค่าขนส่งประมาณตันละ 500 บาท
เพื่อแก้ปัญหานี้ นอกจากรัฐจะต้องหาโควตาการผลิตไฟฟ้า 500 เมกะวัตต์ให้กับผู้ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใบอ้อยแล้ว ยังต้องพิจารณาราคาค่าไฟฟ้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมอีกด้วย
หากมองว่ารัฐนำไปจำหน่ายหน่วยละ 3 บาทกว่า ยังถือว่ารัฐคุ้มที่จะรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชน โดยที่รัฐไม่ต้องเป็นผู้ลงทุนเองและเป็นการกระจายรายได้ให้แก่ภาคการเกษตร ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
เพราะกรณีนี้จะแตกต่างจากการรับซื้อไฟฟ้าจากการลงทุนในกรณีของแสงอาทิตย์หรือพลังงานลม ซึ่งไม่ได้มีการกระจายรายได้ไปยังประชาชนในภาคการเกษตรแต่อย่างใด
“การกระจายรายได้เป็นจุดเด่นของวงจรการผลิตไฟฟ้าชีวมวล แถมเรื่องนี้นำไปใช้กับพืชอื่นได้ เช่น ฟางข้าว เศษวัสดุจากป่าไม้ โดยต้องสนับสนุนให้มีการตั้งโรงไฟฟ้ากระจายไปทั่วพื้นที่ที่มีวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเหล่านี้
หากรัฐไม่เดินหน้าในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ประเทศไทยคงต้องวนเวียนในการแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 อย่างไม่มีวันจบสิ้น เพราะต้นตอของปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ประชาชนคงเผชิญปัญหาฝุ่นควันต่อไป และรัฐต้องสูญงบประมาณมหาศาลในการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุรวมถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพมากมายในทุกฤดูกาลที่มีการเผา”
วิธีการนี้ไม่เพียงจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ยังทำให้เราพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าด้วยตนเองได้มากขึ้น แถมเกษตรกรมีรายได้เพิ่ม...ยิงธนูนัดเดียวได้นก 3 ตัว ทั้งได้ลดฝุ่น เพิ่มรายได้ให้ภาคเกษตร และได้พลังงานใช้ แต่ก็ไม่ง้าง ไม่ยิงเสียที ไม่รู้ทำไม
...
หรือต้องเอาอะไรมาล่อจึงจะยกธนูขึ้นยิงได้เสียที.
ชาติชาย ศิริพัฒน์