- ยอดผู้ป่วยโควิด-เสียชีวิตรายวัน ยังพุ่งไม่หยุด ส่วนใหญ่เป็น "ผู้สูงวัย" ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น พบมีถึง 6 ล้านคน ฉีดครบสองเข็มเกิน 3 เดือนแล้ว ไม่มาซ้ำเข็มสาม
- เร่งรณรงค์พา "ผู้สูงอายุ" ฉีดวัคซีนก่อน หวังเกิดภูมิคุ้มกันทัน "สงกรานต์" ตั้งเป้าฉีดเข็มกระตุ้นให้ได้ร้อยละ 70 หลังผลการศึกษายืนยันฉีดเข็ม 3 ขึ้นไป ป้องกันติดเชื้อ-ตายได้
- สธ.เร่งฉีดวัคซีนอย่างด่วน พร้อมให้ อสม.ผนึก รพ.สต.เข้าฉีดในพื้นที่ห่างไกล เตรียมวัคซีนไว้ 3 ล้านโดส จับตา "โอมิครอน" สายพันธุ์ลูกผสม "BA.1+BA.2"
โควิดฯในไทยยังน่าเป็นห่วง ถึงแม้ตัวเลขผู้ป่วยจะดูลดลง แต่ยอดผู้เสียชีวิตยังพุ่งไม่หยุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็น "ผู้สูงวัย" ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น พบมีถึง 6 ล้านคน ฉีดครบ 2 เข็มเกิน 3 เดือนแล้ว แต่ไม่มาซ้ำเข็ม 3 ขณะที่ภาครัฐเร่งรณรงค์พาผู้สูงวัยมาฉีดวัคซีน พร้อมสั่งการให้ รพ.สต.ผนึกกำลัง อสม.หิ้วกระเป๋าเข้าฉีดในพื้นที่ห่างไกล โดยเตรียมไว้ 3 ล้านโดส ตั้งเป้าฉีดเข็มกระตุ้นผู้สูงวัย ให้ได้ร้อยละ 70 หลังผลการศึกษายืนยันแล้วว่า การฉีดเข็ม 3 ขึ้นไปนั้น สามารถป้องกันการติดเชื้อและการเสียชีวิตได้ ก่อนที่ลูกหลานจะแห่เดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาล "สงกรานต์" นี้ ส่วนความกังวลเรื่องเชื้อ "เดลตาครอน" ที่ระบาดอยู่ในต่างประเทศขณะนี้นั้น แพทย์ยืนยันแล้วว่ายังไม่พบในไทย แต่เร่งจับตา "โอมิครอน" สายพันธุ์ใหม่ลูกผสม ระหว่าง "BA.1+BA.2" ที่พบในประเทศอิสราเอล หลังพบว่ามีการแพร่เชื้อได้สูงขึ้น และหวั่นเป็นต้นตอของการระบาดระลอกที่ 6
...
"ผู้สูงวัย" ไม่ฉีดเข็มกระตุ้น เสียชีวิตเพิ่ม พบ 2.1 ล้านคน ยังไม่ฉีดสักเข็ม
สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดฯในไทย ยังต้องลุ้นวันต่อวัน เมื่อยอดผู้เสียชีวิตรายวันพุ่งทะลุหลัก 80 มาเกือบ 1 สัปดาห์แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือยังไม่ได้ฉีดเลยสักเข็มเดียว โดย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับสาเหตุที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากขึ้นนั้นพบว่า ผู้เสียชีวิตเป็นกลุ่มคนสูงอายุที่มีโรคประจำตัว และไม่ได้มีการทำกิจกรรมนอกบ้าน เป็นการรับและติดเชื้อจากคนใกล้ชิด หรือคนในครอบครัว โดยผู้สูงอายุกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือเข็ม 3 เมื่อมีการเจ็บป่วยจึงทำให้มีอาการรุนแรงและเสียชีวิต และกว่าจะมีอาการหนักหรือรุนแรงจนกระทั่งเสียชีวิต ต้องนอนใน รพ.ไม่น้อยกว่า 1-2 สัปดาห์
จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค เมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมาพบว่า สัดส่วนของผู้สูงอายุที่มารับเข็มกระตุ้น หรือเข็ม 3 ยังน้อยอยู่ มีแค่ 4.2 ล้านคนเท่านั้น จากจำนวนสัดส่วนของผู้สูงอายุที่รับวัคซีนเข็ม 2 จำนวน 10 ล้านคน และพบว่าในจำนวนนี้มีผู้ที่รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ผ่านไปนานแล้วถึง 3 เดือน มีจำนวนถึง 6 ล้านคน และยังมีผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับวัคซีนสักเข็มเลยอีก 2.1 ล้านคน จึงอยากวิงวอนให้คนกลุ่มนี้มารับวัคซีน
ตายกว่าครึ่งยังไม่ได้ฉีดวัคซีน
นพ.เฉวตสรร นามวาท ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดฯ ว่า ยอดผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ย 14 วัน อยู่ที่ 23,540 คน จุดสำคัญที่เน้นติดตามในขณะนี้ คือ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงที่มีปอดอักเสบ ส่วนผู้เสียชีวิตนั้นยกระดับจาก 70 คน ผ่านมา 2 สัปดาห์ สูงขึ้นเป็นกว่า 88 คน เป็นที่ทราบกันดีว่า จำนวนผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตจะตามมาหลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นก่อนหน้านี้ เป็นที่คาดการณ์จากแบบจำลองการระบาดที่วางไว้ โดยจำนวนนี้ยังอยู่ในระดับที่เรารับมือได้ค่อนข้างดี เป็นระดับเส้นสีเขียว สำหรับข้อมูลการเสียชีวิต 88 คนนั้น แบ่งเป็นผู้เสียชีวิตที่มีรายงานปอดอักเสบรุนแรง 74 คน ไม่ระบุ หรือไม่มีรายงานปอดอักเสบ 14 คน และเป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัวเรื้อรัง คิดเป็นร้อยละ 94 ของผู้เสียชีวิตในวันนี้ ในจำนวนนี้ไม่ได้รับวัคซีน 44 คน คิดเป็นร้อยละ 52 ทั้งที่ในประเทศไทยฉีดเข็มที่ 1 ไปแล้วถึงร้อยละ 80 ซึ่งหมายความว่า คนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลยมีอยู่ร้อยละ 20 แต่ปรากฏว่าในคนที่เสียชีวิตและไม่ได้รับวัคซีนมีสูงถึงร้อยละ 52 ซึ่งน่าเสียดายที่บุคคลเหล่านี้ขาดโอกาสได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิผลในการป้องกันการเสียชีวิต
ไม่ถึง 3 เดือน ตายแล้วกว่า 2.4 พันคน
นพ.เฉวตสรร กล่าวต่อว่า ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-19 มี.ค. 65 มีผู้เสียชีวิตแล้ว 2,464 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ อายุเฉลี่ย 73 ปี อายุน้อยที่สุด 3 เดือน มากที่สุด 107 ปี เสียชีวิตจากโรคประจำตัว 2,135 คน พบมากที่สุด คือ โรคความดันโลหิตสูง 1,157 คน รองลงมาคือ เบาหวาน 748 คน ไตเรื้อรัง 440 คน อ้วน 188 คน ไขมันในเลือดสูง 158 คน เป็นต้น ปัจจัยเสี่ยงของผู้เสียชีวิตสูงสุด คือ สัมผัสผู้ติดเชื้อ 1,358 คน ไม่สามารถระบุได้ 735 คน อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง 219 คน สำหรับผู้เสียชีวิตที่มีข้อมูลว่าฉีดวัคซีนแล้ว 2 เข็มนั้น อาจพบได้ บางคนอาจมีโรคประจำตัวและเหตุอื่นประกอบ และวัคซีนไม่ได้ป้องกันเต็มร้อย เวลาประเมินคนทั้งประเทศจำนวนมากๆ อาจพบได้ว่าเสียชีวิตแม้ว่าจะฉีดวัคซีนแล้ว แต่ภาพรวมของประสิทธิผลของการฉีดวัคซีนนั้นสามารถป้องกันการเสียชีวิตได้มาก
...
2 เข็มเอา "โอมิครอน" ไม่อยู่ 3 เข็มขึ้นไปกันตายได้
สำหรับประสิทธิผลของวัคซีนนั้น นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ รายงานผลการติดตามการระบาดและการฉีดวัคซีนของจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า อัตราการเสียชีวิตของผู้สูงอายุใน จ.เชียงใหม่ ในแต่ละเดือนสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเดือน ต.ค. 64 คิดเป็นร้อยละ 60 เดือน พ.ย. คิดเป็นร้อยละ 71 เดือน ธ.ค. ร้อยละ 79 เดือน ม.ค. 65 ร้อยละ 76.5 และเดือน ก.พ. ร้อยละ 89.5 ผู้สูงอายุจึงเป็นกลุ่มสำคัญที่ต้องเร่งป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน ผลการศึกษาวัคซีนใน จ.เชียงใหม่ เดือน ก.พ. 65 ด้านการป้องกันการติดเชื้อ 2 เข็มไม่สามารถป้องกันโอมิครอนได้ ส่วน 3 เข็มป้องกันได้ร้อยละ 45 ส่วน 4 เข็มป้องกันได้ร้อยละ 82 และประสิทธิภาพการป้องกันการเสียชีวิต พบว่า ในเดือน ก.พ. ผู้ที่ฉีด 2 เข็มป้องกันการเสียชีวิตได้ร้อยละ 85 ส่วน 3 เข็มป้องกันได้ร้อยละ 98 และ 4 เข็มยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากผู้ที่ได้รับวัคซีน 4 เข็ม เมื่อเทียบประสิทธิผลระดับประเทศ พบว่า วัคซีน 2 เข็มป้องกันการเสียชีวิตได้ร้อยละ 79.2 ส่วน 3 เข็มป้องกันได้ร้อยละ 87 เป็นการย้ำให้เห็นว่าการฉีด 2 เข็มป้องกันการป่วยและเสียชีวิต และเข็มที่ 3 ยังจำเป็น เพราะป้องกันการเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 87
...
เร่งทุกจังหวัดฉีดเข็มกระตุ้น "คนแก่" ก่อนสงกรานต์
ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกและเข็มสองในสัดส่วนที่สูงตามเป้าหมาย แต่เข็มกระตุ้นยังฉีดได้เพียงประมาณร้อยละ 30 ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุมีอัตราการเสียชีวิตสูงสุด กระทรวงสาธารณสุขจึงให้ทุกจังหวัดเร่งรัดการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่มนี้ เพื่อสร้างความปลอดภัยตามนโยบาย "SAVE 608 by Booster Dose" โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง เนื่องจากลูกหลานมีการเดินทางกลับภูมิลำเนาไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่จำนวนมาก ทำให้มีความเสี่ยงสัมผัสใกล้ชิดกันในครอบครัว จึงต้องสร้างความปลอดภัยให้กับผู้สูงอายุด้วยการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุด ขณะที่ลูกหลานก็ต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น และทำตัวเองให้ปราศจากเชื้อ ก่อนเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านด้วย
วางแผนเพิ่มการเข้าถึงวัคซีน ยก 6 กลยุทธ์ เข้าถึงชาวบ้าน ชูมหาสารคามโมเดล
นพ.สุเทพ กล่าวต่อว่า ขณะนี้แต่ละจังหวัดมีการวางแผนการดำเนินงานเพื่อเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนแล้ว และจากการลงพื้นที่ จ.มหาสารคาม พบว่า ได้กำหนด 6 กลยุทธ์สำคัญทำให้ฉีดวัคซีนในกลุ่ม 608 ได้เพิ่มขึ้น คือ 1.จัดทำรายชื่อเป็นรายบุคคล และการลงนามสามเส้า ระหว่างประชาชน ผู้ใหญ่บ้าน และ อสม.ทุกหมู่บ้าน จำนวน 1,934 หมู่บ้าน รวม 30 ชุมชน 2.มีการสรุปรายงานถึงนายอำเภอให้สั่งการหมู่บ้าน/ชุมชน ร่วมจัดเตรียมผู้มารับการฉีดในพื้นที่ 3.มีระบบรายงานสรุปผลงานการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 แบบรายหน่วย จำนวน 193 หน่วยฉีดในทุกวัน เรียงลำดับผลงานจากมาก-น้อย ทำให้ช่วยเร่งการดำเนินงานของแต่ละหน่วยเพิ่มขึ้น
...
นพ.สุเทพ กล่าวต่อว่า 4.จัดแคมเปญที่เหมาะสมทุกเดือนและสื่อสารอย่างทั่วถึง เช่น เดือนมีนาคม เดือนแห่งพลัง อสม. โดยให้ อสม.ออกเคาะประตูบ้านชวนประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น ตั้งเป้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ให้แล้วเสร็จก่อนวัน อสม.แห่งชาติ ส่วนช่วงใกล้สงกรานต์จะมีแคมเปญมหาสงกรานต์ มหาสารคาม 2565 รณรงค์ให้ลูกหลานและผู้สูงอายุฉีดวัคซีนเข็ม 3 เพื่อให้ลูกหลานกลับบ้านและผู้สูงอายุอยู่บ้านอย่างปลอดภัย เป็นต้น 5.มีระบบการเสริมพลังรายพื้นที่ 6.ระบบรางวัลสร้างขวัญกำลังใจระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และหน่วยฉีด แนวทางดังกล่าวของจังหวัดมหาสารคาม ได้มีการเสนอต่อที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าเป็นแนวทางที่ได้ผลดี จังหวัดต่างๆ สามารถนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เพื่อช่วยเพิ่มความครอบคลุมการได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นของกลุ่ม 608 ให้ได้มากที่สุด
เตรียม 3 ล้านโดสให้ผู้สูงวัย ตั้งเป้าฉีดเข็มกระตุ้นให้ได้ร้อยละ 70
นพ.วิชาญ ปาวัน ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค มีมติและคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน ดังนี้ 1.การฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น สำหรับผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็ม 3 ห่างจากเข็ม 2 ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป ในทุกสูตร ส่วนเข็ม 4 ให้ฉีดห่างจากเข็ม 3 ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป ส่วนการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ครึ่งโดส ทำได้ตามดุลพินิจของแพทย์และความสมัครใจของผู้รับวัคซีน 2.การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในเด็กอายุ 12-17 ปี ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม เข้ารับวัคซีนชนิด mRNA เป็นเข็มที่ 3 โดยใช้ขนาดโดสมาตรฐาน มีระยะห่างจากเข็ม 2 ตั้งแต่ 4-6 เดือนขึ้นไป 3.การฉีดวัคซีนสำหรับผู้มีประวัติติดเชื้อโควิดมาก่อน ให้ฉีดหลังจากการติดเชื้อแล้ว 3 เดือน สำหรับแผนการฉีดวัคซีนนั้น กระทรวงสาธารณสุข และ ศบค.ให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในผู้สูงอายุ เพื่อเตรียมความพร้อมรับเทศกาลสงกรานต์ โดยตั้งเป้าฉีดเข็มกระตุ้นในผู้สูงอายุให้ได้ร้อยละ 70 ก่อนสงกรานต์ โดยเตรียมวัคซีนไว้ 3 ล้านโดส
ศูนย์ฯบางซื่อรณรงค์ฉีดเข็มกระตุ้น
ส่วนการรณรงค์ฉีดวัคซีนพื้นที่กรุงเทพฯ ที่สถานีกลางบางซื่อ พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผอ.ศูนย์วัคซีนกลางบางซื่อ และ ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.-6 เม.ย.นี้ ซึ่งเป็นช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ สถานีกลางบางซื่อรณรงค์อย่างเข้มข้นเพื่อเชิญชวนผู้สูงอายุมารับวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเตรียมวัคซีนไว้รองรับวันละ 10,000 โดส และเปิดวอล์กอินให้ทุกคนสามารถเข้ามาฉีดได้ตั้งแต่เข็ม 1 เข็ม 2 และเข็ม 3 พบว่าได้รับความสนใจจากลูกหลานพาผู้สูงอายุมาฉีดวัคซีนมากขึ้นพอสมควร อีกกลุ่มคือกลุ่มประชากรแฝงในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นคนต่างจังหวัดที่อาศัยในกรุงเทพฯ มาฉีดวัคซีน เพื่อที่จะได้กลับบ้านในช่วงสงกรานต์ และพบด้วยว่ามีผู้มาขอฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 เฉลี่ยวันละประมาณ 500-1,000 คน จากการสอบถามสาเหตุที่ยอมออกมาฉีดเพราะเห็นว่า ช่วงนี้การระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นสายพันธุ์โอมิครอนติดต่อกันได้ง่ายขึ้น และเมื่อเปิดวอล์กอิน ทำให้ลูกหลานสะดวกที่จะพาผู้สูงอายุมาฉีดในวันเวลาใดก็ได้ รวมทั้งศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อเปิดให้ผู้รับวัคซีนเลือกชนิดฉีดวัคซีนได้ตามใจชอบ เช่น ฉีดไฟเซอร์ ทั้งเต็มโดส ครึ่งโดส ฉีดใต้ผิวหนัง ได้หมด เรียกว่าอยากได้อะไร เราจัดให้หมด
คาดหลัง "สงกรานต์" ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่ง
ขณะที่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงการระบาดของโควิดฯ ว่า ช่วงนี้จนถึงสงกรานต์ ตนเคยย้ำเตือน 4 เสี่ยงที่เจอพร้อมกันเมื่อไหร่ต้องระวังให้มาก คือ บุคคล กิจกรรม สถานที่ และช่วงเวลาเสี่ยง ขณะนี้มีการผ่อนคลายกิจกรรมระยะหนึ่งทำให้ 3 เสี่ยงแรกเกิดขึ้น ส่วนช่วงเวลาเสี่ยงที่ใกล้มาถึง คือสงกรานต์ ปีที่แล้วหลังสงกรานต์พบหลายอย่างเคลื่อนไปในทางแย่ลง แต่จุดต่างปีนี้คือวัคซีน รวมถึงสายพันธุ์โอมิครอนที่มีความรุนแรงลดลง และอีกจุดเปลี่ยนคือการพยายามผ่อนคลายกิจกรรมต่างๆ หลังจากที่เราดำเนินการมาระยะหนึ่ง ผ่านจุดทดสอบช่วงปีใหม่ จะเห็นว่าหลังปีใหม่ตัวเลขเกือบไม่ขึ้น ถือว่าเราร่วมมือกันทำได้ดี ต่อมาหลังตรุษจีนตัวเลขเริ่มขึ้น สงกรานต์ปีนี้หลังจาก 1-2 ปีที่ผ่านมา หลายคนไม่ได้กลับไปพบบุพการี ปีนี้คงอยากกลับจำนวนมาก จะเกิดการเคลื่อนย้ายระหว่างจังหวัดมาก สิ่งที่อาจเกิดขึ้น คือ ตัวเลขติดเชื้อต่อวันมีแนวโน้มเพิ่ม เพราะโอมิครอนติดเชื้อง่ายอยู่แล้ว ขณะที่คนติดไม่มีอาการ โอกาสที่ใครสักคนเดินทางไปหาครอบครัว มั่นใจว่าไม่มีเชื้ออาจไม่ตรวจนั้นก็ต้องระวัง เราอาจนำเชื้อแพร่ได้ คาดการณ์หลังสงกรานต์ตัวเลขจะขึ้น แต่สิ่งที่เราไม่อยากเห็นคือตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น
ไทย "โอมิครอน" ครองทุกพื้นที่ ยังไม่พบ "เดลตาครอน"
ด้าน ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงการพบสายพันธุ์ลูกผสม (Recombination) ว่า ลูกผสมเดลตากับโอมิครอนเป็นเดลตาครอน ขณะนี้ส่วนใหญ่พบในฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ อังกฤษมีบ้าง เท่าที่ดูข้อมูลยังไม่พบการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว คนที่ติดไม่มีอาการรุนแรง ไม่ต่างจากโอมิครอนทั่วไป ข้อมูลในฐานข้อมูลกลางโควิดโลก หรือ GISAID พบสายพันธุ์เดลตาครอนมากบ้างน้อยบ้างในแต่ละพื้นที่ จำนวนไม่ได้เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ แสดงว่าเดลตาครอนเปรียบเหมือนเด็กที่เกิดมาเป็นเด็กไม่แข็งแรงสมบูรณ์หรือพิการ เพราะฉะนั้นก็จะแพร่ระบาดสืบทอดลูกหลานได้ไม่ดี ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ก็ไม่ได้จัดให้อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of concern-VOC) สำหรับประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นโอมิครอนครองพื้นที่ อาจจะเกิดเดลตาครอนได้ยาก หากจะเกิดขึ้นน่าจะเป็นการนำเข้าจากประเทศอื่นมากกว่า
ห่วงพันธุ์ใหม่ลูกผสม "BA.1+BA.2" แพร่เชื้อเร็วกว่า
"ส่วนลูกผสมโอมิครอนด้วยกันระหว่าง BA.1+BA.2 เป็นตัวที่น่าจับตามากกว่า ข้อมูลเบื้องต้นที่มีการคำนวณผ่านระบบคอมพิวเตอร์คร่าวๆ จากรหัสพันธุกรรมที่ถอดได้กับระยะเวลาที่พบเชื้อ พบอัตราการติดเชื้อที่แพร่ได้มากขึ้นจาก BA.2 ในสัดส่วน 126% แต่ต้องใช้เวลาศึกษาอีกสักพัก อย่างไรก็ตาม นอกจากพบในอิสราเอลตามที่ปรากฏในข่าว มีรายงานการพบที่อังกฤษและไอร์แลนด์ 267 ราย เท่าที่ดูข้อมูลรหัสพันธุกรรมยังไม่มีการนำส่วนสำคัญที่สร้างโปรตีนหนามสไปค์มาแลกเปลี่ยนกันเป็นลูกผสม ความรุนแรงก็อาจจะยังไม่ต่างจากสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน
อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตามองว่าท้ายที่สุดแล้วจะกลายเป็นคลื่นลูกใหม่ที่ส่งผลให้เกิดการระบาดระลอกที่ 6 หรือไม่ ยังไม่สามารถระบุเป็นฆาตกร หรือคนดี จนกว่าจะเห็นพฤติกรรมความรุนแรง ทั้งนี้ WHO ได้ออกมาเตือนถึงการมองโอมิครอนจะเป็นสายพันธุ์สุดท้าย ทำให้คนการ์ดตก หรือมองว่ากำลังจะเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่ง WHO มองว่า น่าจะมีสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ได้มากกว่าโอมิครอน ที่อาจจะเป็นการระบาดระลอกที่ 6 ซึ่งโอมิครอนกลายพันธุ์ไปจากอู่ฮั่นประมาณ 100 ตำแหน่ง ตัวที่ 6 จะต้องกลายพันธุ์มากกว่าโอมิครอนหลายตำแหน่ง แต่จะร้ายกาจรุนแรงหรือไม่นั้น ยังไม่รู้ ลูกผสม BA.1+BA.2 เป็นแคนดิเดตหนึ่งที่ต้องจับตา สำหรับประเทศไทยที่ศูนย์จีโนมฯ ยังไม่พบลูกผสมตัวดังกล่าว".
ผู้เขียน : หงเหมิน
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun