วันนี้ (21 มี.ค. 65) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะรองผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ประจำวันที่ 21 มี.ค. 65 โดยกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง พบว่า ในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด มีจำนวนการเกิดจุดความร้อน (Hotspot) สะสม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 65 - 20 มี.ค. 65 จำนวน 15,716 จุด แบ่งเป็น พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 6,757 จุด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 4,594 จุด พื้นที่เกษตร 2,172 จุด พื้นที่เขต สปก. 1,370 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่นๆ 749 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 74 จุด โดยจังหวัดภาคเหนือที่เกิดจุดความร้อนสะสมสูงสุด คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 2,823 จุด จังหวัดลำปาง 1,971 จุด และจังหวัดเชียงใหม่ 1,665 จุด ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกันเกิดจุด Hotspot สะสม 51,536 จุด โดยลดลงกว่าปีที่แล้ว 35,820 จุด คิดเป็นร้อยละ 69.50 ในส่วนของสถานการณ์ PM 2.5 พบว่า คุณภาพอากาศอยู่ในระดับ ดีมากถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยตรวจพบฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) เกินมาตรฐานที่บริเวณตำบลจองคำ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ฯ ทั่วประเทศ พบจุด Hotspot สะสม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 65 - 20 มี.ค. 65 จำนวน 33,283 จุด แยกเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11,650 จุด ภาคเหนือ 10,798 จุด ภาคกลาง 6,104 จุด ภาคตะวันตก 2,991 จุด ภาคตะวันออก 1,383 จุด และภาคใต้ 357 จุด จำแนกตามประเภทพื้นที่ แบ่งเป็น พื้นที่เกษตร 9,122 จุด ป่าสงวนแห่งชาติ 8,965 จุด ป่าอนุรักษ์ 6,691 เขต สปก. 4,667 จุด เขตชุมชนและอื่นๆ 3,460 จุด พื้นที่ริมทางหลวง 378 จุด จังหวัดที่เกิดจุดความร้อนสะสมมากที่สุด 5 อันดับ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 2,823 จุด ลำปาง 1,971 จุด เชียงใหม่ 1,665 จุด ตาก 1,426 จุด และจังหวัดชัยภูมิ 1,314 จุด ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกันเกิดจุด Hotspot สะสม 85,209 โดยลดลงกว่าปีที่แล้ว 51,926 จุด คิดเป็นร้อยละ 60.94 และสำหรับข้อมูลวานนี้ (20 มี.ค. 65) พบว่า มีจำนวนจุด Hotspot 192 จุด ในพื้นที่ 28 จังหวัด 56 อำเภอ 81 ตำบล โดยจังหวัดที่เกิดจุดความร้อนสูงสุด คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 112 จุด ร้อยเอ็ด 9 จุด นครพนม 8 จุด เชียงใหม่ 8 จุด และจังหวัดหนองบัวลำภู 8 จุด

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวต่อว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้กำชับไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ให้ติดตามสถานการณ์ที่ส่งผลต่อการเกิดไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่ ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทิศทางลม การเกิดจุดความร้อน (Hotspot) พร้อมทั้งจัดทำแผนเผชิญเหตุ และปรับปรุงข้อมูลพื้นที่เสี่ยง ข้อมูลกลุ่มเปราะบาง พื้นที่รับผิดชอบให้เป็นปัจจุบันและชัดเจน และเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งยานพาหนะ การก่อสร้าง ภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน และสร้างการรับรู้ให้พี่น้องประชาชนเข้าใจถึงสถานการณ์และมีส่วนร่วมตามมาตรการภาครัฐ โดยหากเกิดสถานการณ์ฯ ในพื้นที่และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น ให้ใช้กลไกตามกฎหมาย สั่งการและบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่าย อาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เข้าแก้ไขปัญหาโดยทันที พร้อมทั้งเตรียมอากาศยาน เช่น เฮลิคอปเตอร์ โดรน สนับสนุนการปฏิบัติโดยเร็ว และจัดหน้าที่สาธารณสุขดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างใกล้ชิด ตามแนวทางและมาตรการป้องกันควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบเห็นสถานการณ์ไฟป่า สามารถแจ้งสายด่วนนิรภัย โทร. 1784 หรือสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการได้อย่างทันท่วงที

“ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกคนและทุกภาคส่วน ลด ละ เลิก กิจกรรมที่ส่งผลให้เกิดสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก เช่น การเผาป่า การเผาเศษวัสดุทางการเกษตร การตรวจสอบสภาพรถไม่ให้ปล่อยควันเสียที่เผาไหม้ไม่หมดในอากาศ ซึ่งหากทุกฝ่ายร่วมมือกัน ก็จะช่วยลดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้ปัญหาโลกร้อนทวีความรุนแรงขึ้น และพวกเราทุกคนจะได้ร่วมกันสร้างสิ่งที่ดีให้กับสิ่งแวดล้อม Change for Good ยุติปัญหาสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก เมื่อไม่มีมลพิษในอากาศ สุขภาพร่างกายของพวกเราทุกคนก็จะดีอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย.