วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา อาจจะเป็นวันอาทิตย์ธรรมดาๆ วันหนึ่งสำหรับคนไทยทั่วประเทศ ที่มักจะใช้เป็นวันพักผ่อนหย่อนใจ...ทั้งดูหนัง ดูทีวี เล่นมือถืออยู่ที่บ้าน...หรือที่กล้าหาญหน่อยก็จะออกไปเดินท้าทายโควิด-19 ตามศูนย์การค้าต่างๆ
แต่สำหรับผมแล้ว วันอาทิตย์ที่ผ่านมาออกจะเป็นวันพิเศษอยู่หน่อยๆ...พิเศษในเชิงเศร้าๆน่ะครับ ไม่ใช่พิเศษในเชิงน่ายินดีปรีดาหรือชวนให้ปลาบปลื้มสุขใจสุขกายแต่ประการใด
เหตุเพราะจะเป็น “วันสุดท้าย” ที่แผงหนังสือพิมพ์แห่งสุดท้ายประจำหมู่บ้านผมจะ “หยุดขาย” หนังสือพิมพ์อย่างถาวร
ด้วยเหตุผลที่ไม่ต้องบอกก็คงจะรู้ๆกันอยู่แล้ว
ผมเป็นแฟนประจำของแผงนี้มา 50 กว่าปีแล้ว...เรียกว่าตั้งแต่ย้ายมาอยู่ที่หมู่บ้านนี้ว่างั้นเถอะ...ผมสมัครเป็นสมาชิกตั้งแต่เจ้าของแผงยังมีรถมอเตอร์ไซค์ไปส่ง จนเมื่อเลิกส่งผมก็เดินมาซื้อเอง หรือไม่ก็ฝากผู้ช่วยแม่บ้านผมให้ช่วยซื้อด้วยเวลาที่เธอไปซื้อกับข้าว
หมู่บ้านที่ผมอาศัยอยู่มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า “หมู่บ้านนักกีฬาคลองจั่น” หรือไม่ก็ “อาคารสงเคราะห์คลองจั่น” อยู่ข้างๆสำนักงานใหญ่ การเคหะแห่งชาติ ที่ ถนนนวมินทร์ เลย 4 แยก หน้าเขตบางกะปิไปหน่อยเดียวนั่นแหละ
รุ่นแรกที่สร้างขึ้นน่าจะมีประมาณสัก 200 หลัง สำหรับใช้เป็นหมู่บ้านของนักกีฬาที่จะเข้าร่วมในการแข่งขันกีฬา เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 5 ซึ่งประเทศไทยขันอาสาเป็นเจ้าภาพ เมื่อ ค.ศ.1966 หรือ พ.ศ.2509
การจัดกีฬาเอเชียนเกมส์ ถือเป็นงานใหญ่มากของประเทศเราในยุคโน้น เพราะเราเคยจัดแต่ เซียพเกมส์ หรือกีฬาแหลมทอง ที่มีประเทศมาแข่งเพียง 5-6 ประเทศ แต่พอมาระดับเอเชียจะมีมาแข่งถึง 40 ประเทศ เป็นอย่างน้อย ใหญ่กว่ากัน 10 เท่าตัวเลยทีเดียว
...
ที่สำคัญจะต้องมีการจัดสร้างหมู่บ้านนักกีฬาขึ้นด้วยเพื่อให้นักกีฬาจากชาติต่างๆหลายพันคนมาพักอาศัยอยู่ร่วมกัน...ซึ่งเป็นเงื่อนไขหลักของการเป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์
ด้วยเหตุนี้รัฐบาลไทยจึงมอบหมายให้กรมประชาสงเคราะห์ไปซื้อพื้นที่ท้องนาที่อำเภอบางกะปิ (สมัยก่อนเรียกอำเภอ) เอาไว้จำนวนหนึ่ง เพื่อสร้างเป็นหมู่บ้านนักกีฬาขึ้นดังกล่าว
เอเชียนเกมส์ครั้งที่ 5 (แต่เราเป็นเจ้าภาพครั้งแรก) ผ่านไปด้วยความสำเร็จท่วมท้น...ไทยเราได้เหรียญทองมาหลายเหรียญ...ดังที่สุดคือเหรียญทองจักรยานจาก ปรีดา จุลละมณฑล
เมื่อจัดเสร็จรัฐบาลก็ขายหมู่บ้านเลหลังให้ประชาชนมาผ่อนส่งต่อ หลังจากนั้นก็ก่อตั้ง การเคหะแห่งชาติ ขึ้นมาทำหน้าที่แทนกรมประชาสงเคราะห์ จัดสร้างหมู่บ้านรุ่นต่างๆเพิ่มเติมจากรุ่นเอเชียนเกมส์
ผมเป็น 1 ในประชาชนนับหมื่นคนที่ไปเข้าชื่อขอผ่อนส่งรุ่นที่ 4 เมื่อ พ.ศ.2514 จนถึงขั้นต้องมีการออกสลากตามหมายเลข ใบจอง ให้แก่ผู้โชคดีประมาณ 200 รายของรุ่นนั้น (ซึ่งมีผมเป็น 1 ใน 200 อยู่ด้วย)
ช่วงที่ผมไปเป็นสมาชิกหมู่บ้านใหม่ๆ...พบว่าในหมู่บ้านแห่งนี้มีแผงจำหน่ายหนังสือพิมพ์ถึง 5 แผง กระจายอยู่ตามมุมต่างๆ
แต่ก็อย่างที่เราทราบเมื่อกาลเวลาผ่านไป แผงหนังสือก็ค่อยๆ เลิกรากันไปทีละแผง 2 แผง จนเหลืออยู่เพียงแผงเดียวล่าสุด
ผมโชคดีที่เป็นสมาชิกแผงนี้มาแต่ต้นจึงไม่ได้รับผลกระทบกระเทือนจากการที่แผงอื่นๆหยุดจำหน่าย...เพิ่งจะมากระเทือนในคราวนี้เอง
แต่จะทำอย่างไรได้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเป็นธรรมดาโลก เมื่อแผงหนังสือพิมพ์เกิดขึ้นได้ก็ย่อมดับได้เป็นธรรมดาๆเช่นกัน แม้จะอาลัยอาวรณ์และห่อเหี่ยวเพียงใด แต่ผมก็ทำใจล่วงหน้าไว้แล้ว
โชคดีที่หมู่บ้านผมมีร้าน “เซเว่นอีเลฟเว่น” ถึง 3 แห่ง อยู่ใกล้ๆกัน และมีหนังสือพิมพ์วางขายทั้ง 3 แห่ง
จะยากลำบากหน่อยก็ตรงที่เราจะต้องไปแย่งซื้อกับคนอื่นๆ เพราะเซเว่นไม่มีระบบเก็บไว้ให้สมาชิกประจำอย่างแผงเมื่อสักครู่
ก็เอาเถอะ...ขอให้มีอ่านยังดีกว่าไม่มีอ่าน...คนเสพข่าวและติดข่าวหนังสือพิมพ์มากกว่ามือถืออย่างผม และอย่างคนเก่าแก่อีกประมาณ 100 คนของหมู่บ้านที่ไปซื้อเป็นประจำที่แผงสุดท้ายคงจะต้องไปแย่งกันซื้อที่ร้านเซเว่นต่อไป
ผมสั่งผู้ช่วยแม่บ้านผมให้ตื่นเช้ากว่าปกตินับแต่นี้เป็นต้นไป เพื่อรีบไปเซเว่นให้ทันก่อนที่หนังสือพิมพ์จะหมด
โดยเฉพาะ “ไทยรัฐ” มักจะหมดก่อนใครเสียด้วยซี!
“ซูม”