สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 สงขลา (สศท.9) ศึกษาวิจัยการผลิตและการตลาดแพะขุนในพื้นที่จังหวัดสงขลา แหล่งผลิตอันดับ 2 ของภาคใต้ตอนล่าง รองจากจังหวัดยะลา พบว่าเกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงพันธุ์แพะลูกผสม พันธุ์ซาเนนกับพันธุ์แองโกลนูเบียน พันธุ์ซาเนนกับพันธุ์พื้นเมือง และพันธุ์ซาเนนกับพันธุ์บอร์ ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากข้อดี และลดข้อด้อยของสายพันธุ์ที่เป็นพันธุ์แท้แต่ละพันธุ์
สำหรับต้นทุนและผลตอบแทนการผลิตแพะขุน พบว่ามีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยตัวละ 2,655 บาท หรือ กก.ละ 107 บาท โดยเกษตรกรนำลูกแพะน้ำหนักเฉลี่ยตัวละ 12.01 กก. มาเริ่มเลี้ยงขุน และใช้เวลาเลี้ยงขุนเฉลี่ย 73 วัน สามารถจำหน่ายได้ในราคาเฉลี่ยตัวละ 3,814.96 บาท หรือ กก.ละ 154.14 บาท (น้ำหนักเฉลี่ยตัวละ 24.75 กก.)
คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) ตัวละ 1,160 บาท หรือ กก.ละ 47 บาท
ด้านสถานการณ์ตลาด ร้อยละ 54 เกษตรกรจำหน่ายให้กับพ่อค้ารวบรวมในจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ พัทลุง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เพื่อจำหน่ายต่อในจังหวัดและรวบรวมส่งออกไปยังประเทศเวียดนามและมาเลเซีย รองลงมาร้อยละ 33 จำหน่ายให้กับพ่อค้ารวบรวมในจังหวัดสงขลาเพื่อนำไปจำหน่ายต่อให้แก่พ่อค้าขายปลีกเนื้อแพะชำแหละ ร้อยละ 9 เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะเป็นผู้จำหน่ายเองให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง และส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 4 จำหน่ายให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะในท้องถิ่นเพื่อนำไปเลี้ยงต่อหรือขยายพันธุ์ต่อไป
ปัจจุบันสงขลาเป็นอีกหนึ่งจังหวัดของภาคใต้ตอนล่างที่มีการส่งเสริมการเลี้ยงแพะอย่างจริงจัง เนื่องจากแพะเป็นสัตว์เศรษฐกิจ สามารถพัฒนาเป็นสินค้าทางเลือกอีกชนิดหนึ่งที่เลี้ยงในเชิงพาณิชย์ได้ เนื่องจากใช้ระยะเวลาสั้นในการเลี้ยง ทนทานต่อสภาพภูมิอากาศ หากินเก่งและกินใบไม้ได้หลายชนิด สามารถเลี้ยงได้ทั้งแบบผูกล่าม แบบปล่อย แบบขังคอก รวมไปถึงการปล่อยลงแทะเล็มในทุ่งหญ้า อีกทั้งแพะมีขนาดตัวเล็ก ใช้พื้นที่น้อย จัดการง่าย
...
อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงแพะควรมีการส่งเสริมพัฒนาองค์ความรู้ พัฒนาการเลี้ยงแพะขุนคุณภาพอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนากลุ่มเกษตรกรในการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร และพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกัน อีกทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มเพื่อจำหน่ายให้พ่อค้าขายปลีกเนื้อแพะชำแหละโดยตรง มีการส่งเสริมสนับสนุนการจัดตั้งโรงชำแหละที่ได้รับมาตรฐาน และการส่งเสริมการแปรรูปเนื้อแพะให้แก่เกษตรกรเพื่อนำไปขยายผลและพัฒนาต่อไป.
สะ–เล–เต