การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) คาดการณ์ ปีนี้จะเป็นปีทองของยางพารา ด้วยมีเหตุปัจจัยหลายอย่างเกื้อหนุนให้ราคาพุ่ง
แต่พี่น้องสวนยางจะได้รับอานิสงส์นี้แค่ไหน ถ้าสวนยางตัวเองประสบปัญหาหน้ายางตาย ที่วันนี้นักวิชาการยังหาทางออกไม่เจอ แถมยังยอมรับว่าเป็นโรคที่ยังไม่มียารักษาได้
7 เดือนที่แล้ว เนื้อที่ตรงนี้ได้เขียนถึง สวนยางไร้ยุง บ.ห้วยแคนน้อย ต.ตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ์ จ.สกลนคร ของ ครูสะเอ็ม บุญเสนา อดีตครูวัย 68 ปี เจ้าของสวนยาง 30 ไร่ ที่ใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ฉีดพ่นต้นยางเพื่อแก้ปัญหาหน้ายางตาย
ไม่เพียงจะทำให้สวนยางของตัวเองไร้ยุง...แถมยังได้น้ำยางมากล้น
เรื่องราวได้สร้างความสนใจให้กับพี่น้องชาวสวนยางที่เจอปัญหาหน้ายางตาย รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ กยท.ในพื้นที่ต้องเข้ามาสำรวจพิสูจน์ข้อเท็จจริง จนส่งผลให้เกิดการพาชาวสวนยางจากทั่วประเทศ โดยเฉพาะในภาคอีสานมาศึกษาดูการใช้น้ำหมักชีวภาพแก้ปัญหาหน้ายางตาย กลายเป็นล้นทะลักของ ครูสะเอ็ม
ที่วันนี้ได้พัฒนาสูตรมาเรื่อยๆ จนทำให้สวนยางที่มีอยู่ 1,000 ต้น กรีด 7 มีด แบบวันเว้นวัน ได้ยางก้อนถ้วยหนักรวมกันมากถึง 1,200 กก.
...
สูตรน้ำหมักของ ครูสะเอ็ม เป็นอย่างไร...มีอะไรบ้าง
1.เนอเจอร์แคร์ หรือจุลินทรีย์แห้ง ที่เรียกกันว่าซุปเปอร์โบกาฉิ 1 กก.
2.น้ำหมักอีเอ็ม 1 ลิตร
3.เกลือสมุทร 3 กก.
4.กากน้ำตาล 5 กก.
5.ปุ๋ยสูตร 25-5-5 จำนวน 3 กก.
6.น้ำ 200 ลิตร
นำวัตถุดิบทั้งหมดมาผสมคนให้เข้ากัน หมักไว้ในถังปิดสนิทไม่ให้อากาศเข้านาน 15 วัน...เมื่อครบกำหนดหมัก เปิดฝาถังหมักจะเห็นฝ้าขาวๆอยู่ด้านบน และน้ำหมักที่มีกลิ่นเหมือนไวน์ พร้อมที่จะนำไปใช้งาน
การจะนำไปใช้งานให้ได้ผลดี ครูสะเอ็มแนะนำให้ทำตอนต้นฤดูฝน ในช่วง พ.ค.–มิ.ย. ด้วยการนำน้ำหมักมาผสมน้ำในอัตราส่วน น้ำหมัก 1 ลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ชุ่มฉ่ำไปทั่วทั้งต้น ตั้งแต่กิ่งก้านลงไปยันพื้นดิน...ฉีดพ่นทุกๆ 7 วันจนกว่าอาการหน้ายางตายจะหาย สังเกตได้จากผิวต้นยาง พาราจะมีไลเคนขึ้นเป็นลายตุ๊กแก แล้วลองกรีดยางดูว่ามีน้ำยางไหลออกมาหรือไม่
“แต่ก่อนจะฉีดพ่นต้องขึ้นไปแซะเปลือกแห้ง เปลือกตายของต้นยางออกให้หมด โดยเฉพาะตรงบริเวณง่ามกิ่ง เพราะถ้าเราไม่แซะออกฉีดพ่นน้ำหมักไป พอฝนมา กิ่งจะถูกลมพัดฉีกหักไปหมด เพราะตรงง่ามกิ่งนั้นเป็นที่สะสมของเห็ดรา และไม้ยางยังเป็นอาหารโอชะของพวกเห็ดราด้วย เห็นได้จากเขามักจะเอาเศษผงไม้ยางไปทำเป็นผงก้อนเห็ด เราฉีดพ่นน้ำหมักไปโดยไม่แซะเปลือกแห้ง เปลือกตายออก ยิ่งจะไปเร่งให้เชื้อราเติบโตกัดกินให้ง่ามกิ่งต้นยางเปราะ เมื่อกิ่งหัก ใบไม้มีน้อย การสังเคราะห์นำอาหารมาเลี้ยงลำต้นน้อยตาม ผลที่ตามมาคือต้นยางไม่อุดมสมบูรณ์ ให้น้ำยางน้อย”
และถ้าจะแก้ปัญหาหน้ายางตายให้กลับมามีน้ำยางเป็นมากล้น นอกจากจะฉีดพ่นน้ำหมักสูตรดังกล่าวแล้ว ครูสะเอ็ม ยังแนะให้ใช้ปุ๋ยคอกเข้ามาร่วมแก้ปัญหาด้วย...โดยการใส่ปุ๋ยคอกระหว่างแถวต้นยางทุกๆ 3 ปีในช่วงต้นฝน...ปีแรกให้ใส่ต้นละ 3 กระสอบ ปีที่ 4 ต้นละ 1.5 กระสอบ...ปีที่ 7 ต้นละ 1 กระสอบ หลังจากนั้นไม่ต้องใส่ปุ๋ยอีกเลย
...
สุดท้าย ครูสะเอ็ม บอกว่า ถ้าทำน้ำหมักและฉีดตามวิธีการที่บอกมา ปัญหาหน้ายางตายจะหายไปภายใน 1 เดือน เฉพาะกรณีของเกษตรกรพบปัญหาหน้ายางตายแล้วหยุดกรีด ไม่ได้ทำร้ายให้โทรมโดยการย้ายที่ไปเปิดกรีดหน้ายางใหม่ในอีกด้านของต้น
แต่ถ้าเป็นกรณีเกิดปัญหาหน้ายางตายแล้วเกษตรกรส่วนใหญ่มักจะย้ายจุดกรีด หันไปกรีดอีกด้านของต้นนั้นต้องใช้เวลาฉีดพ่นน้ำหมักนานเพิ่มขึ้นเป็น 3 เดือนกว่าปัญหานี้จะหมดไป เนื่องจากการย้ายที่กรีดยิ่งเป็นการซ้ำเติมต้นยางที่ป่วยหนักให้ทรุดโทรมลงไปอีก
เพราะต้นยางนั้นมีชีวิตไม่ต่างกับคน ป่วยอยู่แล้วยิ่งไปซ้ำเติมใช้งานหนักมากขึ้น อาการป่วยจะยิ่งทรุดหนักนั่นเอง...อยากได้ความรู้แก้ปัญหาหน้ายางตาย สอบถามไปได้ที่ 08-7217-7176 หรือติดตามได้ทาง YouTube ครูสะเอ็ม บุญเสนา ยางพาราพารวย.
ชาติชาย ศิริพัฒน์