ในระยะแตกกอ กรมวิชาการเกษตร แจ้งเตือนเกษตรกรชาวไร่อ้อยเฝ้าระวังหนอนกออ้อยที่มีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด คือ หนอนกอลายจุดเล็ก หนอนกอสีขาว และ หนอนกอสีชมพู

หนอนกอลายจุดเล็ก เป็นหนอนที่เจาะกออ้อยบริเวณโคนระดับผิวดินเข้าไปกัดกินส่วนที่กำลังเจริญเติบโตภายในหน่ออ้อย ทำให้ยอดแห้งตาย ทำให้ผลผลิตอ้อยลดลง 5-40% นอกจากนี้ ยังเข้าทำลายอ้อยในระยะอ้อยย่างปล้อง โดยเข้าไปกัดกินอยู่ภายในลำต้นอ้อย ทำให้อ้อยแตกแขนงใหม่ และแตกยอดพุ่ม

หนอนกอสีขาว จะเจาะไชจากส่วนยอดเข้าไปกัดกินยอดที่กำลังเจริญเติบโต ทำให้ยอดแห้งตายโดยเฉพาะใบที่ยังม้วนอยู่ ใบยอดที่หนอนเข้าทำลายจะหงิกงอและมีรูพรุน เมื่ออ้อยมีลำจะเข้าทำลายส่วนที่กำลังเจริญเติบโต ทำให้อ้อยไม่สามารถสร้างปล้องให้สูงขึ้นไปได้อีก ตาอ้อยที่อยู่ต่ำกว่าส่วนที่ถูกทำลายจะแตกหน่อด้านข้างเกิดอาการแตกยอดพุ่ม

หนอนกอสีชมพู จะเจาะเข้าไปกัดกินตรงส่วนโคนระดับผิวดิน เข้าไปกัดกินภายในหน่ออ้อยทำให้ยอดแห้งตาย แม้ว่าหน่ออ้อยที่ถูกทำลายแตกหน่อใหม่ แต่หน่อจะมีอายุสั้น ทำให้ผลผลิตและคุณภาพของอ้อยลดลง

แนวทางในการป้องกันและกำจัด...ในแหล่งชลประทานควรให้น้ำเพื่อ ให้อ้อยแตกหน่อชดเชย พร้อมปล่อยแตนเบียนไข่ไตรโครแกรมมา อัตราไร่ละ 30,000 ตัวต่อครั้ง ปล่อยติดต่อกัน 2-3 ครั้งในช่วงที่พบ กลุ่มไข่ของหนอนกออ้อย

สำหรับในช่วงที่พบหนอนกออ้อยและกลุ่มไข่ ให้ปล่อยแมลงหางหนีบไร่ละ 500 ตัว โดยปล่อยให้กระจายทั่วแปลง และควรปล่อยให้ชิดกออ้อย และใช้ใบอ้อยหรือฟางที่เปียกชื้นคลุมจะช่วยให้โอกาสรอดสูงขึ้น และปล่อยซ้ำถ้าการระบาดยังไม่ลดลง สำหรับในช่วงที่พบหนอนกออ้อยและกลุ่มไข่ของหนอนกอ

หากปล่อยแตนเบียนไข่ไตรโครแกรมมา ไม่ต้องปล่อยแมลงหางหนีบ เพราะแมลงหางหนีบจะกินแตนเบียนไข่ไตรโครแกรมมาด้วย

...

แต่ถ้าพบว่าอ้อยแสดงอาการยอดเหี่ยวมากกว่า 10% ให้พ่นสารฆ่าแมลง เดลทาเมทริน 3% EC หรือ อินดอกซาคาร์บ 15% EC หรือ คลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SC หรือ ลูเฟนนูรอน 5% EC พื้นที่ 1 ไร่ สารเคมีผสมน้ำตามอัตราส่วนที่ระบุไว้ในฉลากให้ได้ 50 ลิตร และฉีดพ่น 2-3 ครั้ง ห่างกัน 14 วัน ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีในแปลงที่ปล่อยแตนเบียนไข่ไตรโครแกรมมาและแมลงหางหนีบ.

สะ-เล-เต