พุ่งเป้าไปที่ทวีปยุโรป ญี่ปุ่น อเมริกา...กำลังตื่นตัวกับการฝึกให้คนรุ่นใหม่ในประเทศเป็นมนุษย์สายพันธุ์ใหม่คือ “Active Citizen” หรือ “พลเมืองสร้างสรรค์”
โดยเน้นที่นำเยาวชนอายุระหว่าง 12-18 ปี ในช่วงเวลาว่าง เช่น ปิดเทอม มาร่วมทำกิจกรรมปลูกฝังจิตสำนึกให้เป็นพลเมืองรุ่นใหม่ใส่ใจด้วยจิตสาธารณะ เพื่อเป็นอนาคตของประเทศต่อไป
ย้ำว่า “Active Citizen” หมายถึง พลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อตัวเองและผู้อื่น มีจิตสาธารณะ เห็นแก่ประโยชน์ของสังคมเป็นหลัก ช่วยเหลือ และกระทำสิ่งต่างๆ โดยไม่มุ่งหวังผลตอบแทน เป็น “พลเมืองสร้างสรรค์” ซึ่งจะมีบทบาทในการร่วมขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวเดินไปข้างหน้าใน “ทิศทางที่สร้างสรรค์”
ประเด็นถัดมา...การปลูกฝังจิตสาธารณะให้ซึมซับให้ประชาชนตั้งแต่ยังเป็นเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่จะทำให้คนในประเทศรุ่นต่อไปไม่ว่าจะ “ยากจน” หรือ “ร่ำรวย” แต่ทุกคนเป็นพลเมืองที่มีจิตอาสา ไม่นิ่งดูดายต่อปัญหาส่วนรวม มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม...สิ่งแวดล้อม
...
...เป็นพลเมืองที่ดีที่เคารพกฎหมายและสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“รัฐบาลในหลายประเทศทางยุโรป ญี่ปุ่น อเมริกา ส่งเสริมออกทุนให้เด็ก...เยาวชนในทุกเมืองเข้าค่ายร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคมในช่วงเวลาปิดเทอม โดยกิจกรรมดังกล่าวจะแฝงด้วยการฝึกอบรมที่เน้นให้เป็นพลเมืองสร้างสรรค์ ซึ่งนำไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาทุกด้าน”
อาทิ การหยุดรถให้คนข้ามบนทางม้าลาย ทิ้งขยะในถังขยะแยกประเภท เก็บขยะบนชายหาดเมื่อพบเห็น ช่วยเหลือคนแก่ที่ถือของหนัก ให้โอกาสคนพิการ เด็ก...ผู้หญิงก่อน จิตอาสาช่วยค้นหาคนหาย เข้าคิวซื้อของหรือขึ้นรถโดยสารประจำทาง เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครด้านต่างๆเมื่อประเทศต้องการ
นับรวมไปถึงแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม
ทั้งหมดเหล่านี้จะถูกปลูกฝังไว้ในหัวตั้งแต่เป็นเด็ก...เยาวชนเมื่อเติบโตขึ้นจะนำไปสู่การเป็น “คนดี” มีจิตสาธารณะ...ถึงตรงนี้คำถามสำคัญตามมามีว่า “ประเทศไทย” ได้เริ่มต้นหรือยัง?
เหลียวหลังกลับมามอง ประเทศที่ฝันถึง Net Zero, SDG, BCG Economy แต่ไม่แก้ไขปัญหา “สิ่งแวดล้อมพื้นฐาน”...อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการ สิ่งแวดล้อมไทย มองว่า การที่ประเทศไทยจะพัฒนาเข้าสู่ “Net zero”... การไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มเติม และ การพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้นโยบาย BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ, เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy)
ข้างต้นเหล่านี้จึงเป็นคำพูดสวยหรูเอาไปสอนเด็กในมหาวิทยาลัยและคนทั่วไปเท่านั้น แต่ในสถานการณ์ที่เป็นจริงจะต้องแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมพื้นฐานที่ก่อกันไว้ให้ได้ก่อน...
นับหนึ่ง...“ขยะชุมชน” ที่กองเป็นภูเขาอยู่ 1,667 แห่งทั่วประเทศ ส่งทั้ง “กลิ่นเหม็น” และ “น้ำเสีย” ในฤดูฝนและไฟไหม้ในฤดูร้อน
นับสองที่...“ฝุ่นละออง PM 2.5” สูงเกินมาตรฐานในเขตเมืองและภาคเหนือในช่วงฤดูหนาวมาจากรถเครื่องยนต์ดีเซลเก่า น้ำมันไร้คุณภาพและการเผาในที่โล่งที่เกิดซ้ำซากมากว่า 5 ปีแล้ว...ยังแก้ไม่ได้
นับสามที่...ลำน้ำที่เสื่อมโทรมและเน่าเสียมากในปี 2564 ได้แก่ ลำตะคองตอนล่าง, แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง...สะแกกรัง...แม่น้ำระยองตอนล่าง และแม่น้ำกวง รวมทั้งคลองแสนแสบใน กทม.ยังแก้ไขไม่ได้
...
นับสี่...“กากอุตสาหกรรม” หายออกจากระบบกำจัด...หลังสิ้นปี 2563 มีกากอุตสาหกรรมอันตรายเกิดขึ้น 1.29 ล้านตัน และมีกากอุตสาหกรรมไม่อันตราย 16.63 ล้านตัน ซึ่งกากอุตสาหกรรมที่อันตรายเข้าระบบมีเพียงแค่ 1% ส่วนกากไม่อันตรายมีเข้าระบบเพียง 6.44 ล้านตัน...
ที่เหลือไปกองอยู่ที่ไหนไม่มีใครรู้ แต่พบมีกรณีแอบทิ้งกากในที่สาธารณะเป็นประจำ
นับห้า...โรงงานสภาพเก่าแก่ตั้งอยู่อย่างหนาแน่นในเขตจังหวัดสมุทรปราการจำนวน 6,814 แห่ง โดยอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเพียงแค่ 630 แห่ง ที่เหลือเป็นโรงงานนอกนิคมอุตสาหกรรม โรงงานเหล่านี้พร้อมเกิดอุบัติภัยได้ทุกเมื่อ
นับหก...แผนปฏิรูปประเทศไทยมีนโยบายจะถอดพื้นที่อุตสาหกรรมมาบตาพุดออกจากการเป็นเขตควบคุมมลพิษภายในปี 2565 เพื่อรองรับการพัฒนา EEC
ทั้งๆที่ทุกวันนี้ไอระเหยสารอินทรีย์ที่เป็นสารก่อมะเร็งบางตัวยังเกินมาตรฐานอยู่ เกิดไฟไหม้ระเบิดของโรงงานในพื้นที่อยู่เนืองๆ รวมทั้งกรณีน้ำมันดิบรั่วไหลซ้ำซากยังแก้ไม่ได้
นับเจ็ด...พื้นที่ EEC ใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา มีขยายพื้นที่ประเภทอุตสาหกรรมรุกเข้าไปพื้นที่ทำกินของชุมชน แหล่งท่องเที่ยว เปลี่ยนสีผังเมืองเป็นว่าเล่น...แถมยกเว้นกฎหมายไม่ต้องขออนุญาตอีก 8 ฉบับ
...
อำนวยความสะดวกให้ทุกอย่างแต่พบว่าอุตสาหกรรม 10 ประเภท Super cluster ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามที่คาดหวังไว้กลับไม่มีใครมาลงทุน มีแต่โรงงานประเภทรีไซเคิลขยะและโรงไฟฟ้าขยะที่เข้ามาขอตั้งจำนวนมาก...แก้ปัญหาพื้นฐานเหล่านี้ไม่ได้อย่าเพิ่งไปฝันถึง Net Zero, SDG และ BCG Economy เลย?
สารพัดสารพันปัญหาสิ่งแวดล้อมรายรอบเช่นนี้ อาจารย์สนธิ ย้ำว่า อย่างกรณีค่าชดเชยกับอาชีพประมงกรณีน้ำมันรั่วที่จังหวัดระยองก็กลายเป็นหนังชีวิต?
เมื่อไม่นานนี้การเจรจาก็ล่มอีกครั้งเป็นครั้งที่ 3 บริษัทบอกจ่ายก่อน 30,000 บาทแล้วค่อยคุยกันใหม่ แต่กลุ่มประมงต้องการให้บริษัทตัดสินใจเลยว่าจ่ายทั้งก้อนเท่าไหร่...สุดท้ายเวทีล่ม
ย้อนไปกรณีน้ำมันรั่วไหลลงทะเลเมื่อปี 2556 ศาลแพ่งอุทธรณ์ สั่ง “พีทีทีซีจี” จ่ายชดเชยให้ชาวประมงรายละ 1.5 แสนบาท ดังนั้นควรนำคำพิพากษาของศาลมาเป็นบรรทัดฐานเบื้องต้นในการที่จะให้บริษัท SPRC จ่ายค่าชดเชยให้ชาวประมงหลังจากทำน้ำมันรั่วในปี 2565
คิดแบบประชาชนเวลาผ่านไป 9 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งว่าอัตราเงินเฟ้อเกิดขึ้นปีละประมาณ 3.5% หากคิดทบต้นเงินรวมที่ควรได้รับบวกค่าเสียโอกาสอื่นๆ รวมแล้วอย่างต่ำ 210,000 บาทต่อราย
ความเป็นธรรมอยู่ตรงไหน? น้ำมันรั่ว จ.ระยอง คำถามสำคัญคือเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลักการ “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Pollutor pay principle)”...ใช้ได้จริงหรือไม่? เท่าไหร่จึงจะเป็นธรรม?...บริษัทก็อาจจะใช้กลยุทธ์ยืดเวลาจ่ายให้นานที่สุด “หากอยากได้ไปฟ้องเอา?”
...
ทิ้งท้ายในอีกประเด็นสำคัญเกี่ยวโยงกับอนาคตสิ่งแวดล้อมไทยไม่มากก็น้อย นั่นก็คือย้อนไปก่อนหน้านี้ หากยังจำกันได้ กรณีเหตุการณ์ท่อแก๊สระเบิด ที่ตำบลเปร็ง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 มีผู้เสียชีวิต 5 คน บ้านเรือนนับสิบ สถานที่ราชการ ผู้คนได้รับอันตรายจำนวนมาก
ข้อมูลที่สื่อสะท้อนเผยแพร่ในโลกออนไลน์มีว่า “ผ่านมาปีกว่ายังหาสาเหตุการระเบิดไม่พบ ข้อสรุปอย่างเดียวที่ได้คือ เมื่อคุณตายโหงจะได้ค่าหัวคนละ 5 ล้าน ลูกหลานได้บ้านใหม่ และประชาชนคนไทยหลายล้านชีวิตจงเชื่อ (ง) และนอนอยู่บนความเสี่ยงท่อแก๊สระเบิด...ต่อไป?” ถึงวันนี้มีแผ่นป้ายไวนิลโครงการศึกษาแค่หาปัจจัยนะครับ สาเหตุไม่ฟันธงของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และไซต์งานก่อสร้างเครื่องจักรหนัก
ซึ่งอันที่จริงนั่นคือกระบวนการเตรียมซ่อมท่อเพื่อใช้งาน? ป.ล. เบอร์โทร. QR Code ใช้งานไม่ได้ พยายามติดต่อผ่านมาจะ 1 สัปดาห์แล้ว ไม่รับไม่ตอบกลับ...ติดป้ายไว้เพื่อสับขาหลอก?
สิ่งแวดล้อมเมืองไทย อนาคตประเทศไทยจะพัฒนาไปอย่างไร... อรุ่มเจ๊าะจริงๆ.