• ยอดผู้ติดเชื้อโควิด ยังพุ่งเกิน 2 หมื่นรายต่อเนื่อง ดีเดย์แผนรักษาโควิดแบบผู้ป่วยนอก ตาม รพ.ต่างๆ ซึ่งถือเป็นหนึ่งแผนปลดโควิดเป็นโรคประจำถิ่น
  • "เจอ-แจก-จบ" เริ่มแล้ว ให้บริการรักษาผู้ป่วยโควิดแบบ OPD วันแรก 1 มี.ค. ย้ำส่วนใหญ่ผู้ป่วยเป็นกลุ่มสีเขียวไม่แสดงอาการ เน้นจ่ายยาตามอาการ
  • การรักษาคนไข้โควิดแบบ OPD ต้องสื่อสารให้ชัด เพื่อสร้างความมั่นใจในบริการ ย้ำผู้ติดเชื้อโอมิครอน 95% อาการน้อยแปรเป็นเหลือง-แดงไม่ถึง 1% คาดกลาง มี.ค.ผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง

สถานการณ์โควิดฯ ในไทย ยอดป่วยรายวันยังทะลุ 2 หมื่นต่อเนื่อง ถึงแม้ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงบ้างแล้วก็ตาม แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตต่อวัน ยังพุ่งเกินกว่า 40 คน ซึ่งการต่อสู้ของทุกฝ่ายยังดำเนินต่อไป ท่ามกลางความหวังจะฝ่าฟันวิกฤติ ลดจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตให้ได้โดยเร็ว เพื่อให้ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติมากที่สุด ท่ามกลางข้อมูลการแพร่ระบาดทั่วประเทศ ที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ขณะที่หน่วยงานรัฐก็เริ่มใช้แนวทางดูแลผู้ติดเชื้อโควิดแบบ "เจอ-แจก-จบ" เป็นผู้ป่วยนอก ตามโรงพยาบาลต่างๆ ควบคู่ไปกับระบบการดูแลรักษาที่บ้านหรือชุมชน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแผนปลดโควิดฯ ออกจากโรคระบาดมาเป็นโรคประจำถิ่น !!!

...

เริ่มแล้ว รักษาโควิดฯ แบบ "OPD" เน้นจ่ายยาตามความเหมาะสม

ล่าสุดแผนรักษาผู้ป่วยโควิดฯ แบบ OPD หรือการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เริ่มดีเดย์ใช้แล้ววันแรก เมื่อ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ตามโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแผนปลดโควิดฯ เป็นโรคประจำถิ่น โดย นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผอ.รพ.ราชวิถี เปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายเพิ่มช่องทางการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิดแบบ OPD เป็นผู้ป่วยนอกด้วยความสมัครใจ เริ่มวันที่ 1 มี.ค.เป็นวันแรก เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่พบว่า มีผู้ป่วยมารับบริการที่ ARI Clinic ของ รพ.ราชวิถี หรือระบบดูแลผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น เฉลี่ยวันละ 200-300 คน ทำให้ระบบการทำงานต้องแบ่งเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่ง ดูแลผู้ป่วยในคลินิก และติดตามผู้ป่วยในระบบ Home Isolation หรือ HI อาจทำให้ผู้ป่วยต้องรอการติดต่อนาน แต่การคัดกรองแบบระบบ OPD จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับบริการเร็วขึ้น เป็นการแยกคัดกรองในกลุ่มสีเขียว บางคนเป็นสีเขียวเข้มไม่มีอาการอะไร บางคนสีเขียวมีอาการเล็กน้อย หากคุยกันเข้าใจก็เข้าระบบ HI ได้ทันที หรือบางคนที่มาแสดงผล ATK ตรง จะได้นำเข้าระบบเลย หรือถ้าต้องการพบแพทย์ทำได้ แต่ต้องรอคิวสถานการณ์โควิดปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวที่ไม่มีอาการ การจ่ายยาจะจ่ายตามความเหมาะสมกับผู้ป่วย เพราะไม่ใช่ทุกรายจะต้องได้รับยา

วางหลักเกณฑ์รักษาโควิดแบบ "OPD" 4 กลุ่ม

นพ.จินดา เปิดเผยต่อว่า การรักษาผู้ป่วยโควิดแบบ OPD ตามหลักเกณฑ์ที่ สธ.วางไว้ มีดังนี้

  • กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยไม่มีอาการ พบกว่า 90% อยากให้รักษาที่บ้านหรือแบบผู้ป่วยนอก อาจมีอาการคันคอจะไม่มีการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากส่วนมากหายเองได้ ไม่ต้องเสี่ยงจากผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ตาสีฟ้า เสี่ยงดื้อยา ไม่แนะนำใช้ในหญิงตั้งครรภ์โดยเฉพาะตั้งครรภ์อ่อนๆ เพราะพบว่ามีผลต่อตัวอ่อนในสัตว์ทดลอง ผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้อาจจะพิจารณาให้ฟ้าทะลายโจรตามดุลพินิจแพทย์ แต่ไม่ให้ในเด็ก คนท้อง คนป่วยโรคตับ
  • กลุ่มที่ 2 กรณีมีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง ไม่มีโรคร่วม แพทย์พิจารณาว่าจะให้ยาฟาวิพิราเวียร์หรือไม่ หากให้ต้องหยุดกินฟ้าทะลายโจร แต่หากตรวจพบเชื้อมีอาการเกิน 5 วัน การให้ยาต้านอาจจะไม่มีประโยชน์
  • กลุ่มที่ 3 กรณีผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น อายุ 65 ปีขึ้นไป มีโรคร่วมแพทย์พิจารณาแอดมิตในโรงพยาบาล ส่วนยาที่ใช้จะมีหลายตัว
  • กลุ่มที่ 4 อาการรุนแรงอยู่ในโรงพยาบาลอยู่แล้ว แพทย์จะพิจารณาการรักษาที่เหมาะสม ตลอดการรักษาแบบ OPD ยังคงอยู่ที่บ้านกักตัว 7 วันเป็นอย่างน้อย ตรวจ ATK ในวันที่ 5-6 หากไม่เจอใช้ชีวิตตามปกติ แต่งดการรวมตัวกันจำนวนมาก

แผน "OPD" โควิดฯ เป็นไปตามความสมัครใจ เน้นอาการน้อย ไม่มีความเสี่ยง

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้เพิ่มการรักษาผู้ป่วยโควิดฯ เป็นผู้ป่วยนอก หรือ OPD เป็นไปตามความสมัครใจ รองรับผู้ป่วยไม่มีอาการ อาการน้อย ไม่มีความเสี่ยง เป็นมาตรการเสริมจาก HI/CI ลดภาระ รพ. ความแตกต่างผู้ป่วยนอกกับ HI คือ ผู้ป่วยนอกจะมีแพทย์ติดตามอาการหลังตรวจคัดกรองภายใน 48 ชม. หากมีอาการเปลี่ยนแปลงสามารถติดต่อกลับได้ทุกเวลา ไม่มีอุปกรณ์ตรวจประเมิน เช่น ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว และไม่มีอาหารให้ หลังดำเนินการจะประเมินระบบเป็นระยะ ส่วนจำนวนเตียง รพ.ขณะนี้ยังเพียงพอ แต่หากมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้น ได้มีหนังสือแจ้งไปยัง รพ.เครือข่ายให้เตรียมพร้อมลดเตียงผู้ป่วย Non-Covid มารองรับผู้ป่วยโควิด 15-20% ส่วนผู้ป่วยนอกจะสามารถเคลมประกันได้หรือไม่ ได้พูดคุยกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ทาง คปภ.ต้องไปดำเนินการต่อ

...

แจง "เจอ-แจก-จบ" ย้ำ "โอมิครอน" อาการน้อย-โควิดรักษาฟรี

ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังตรวจเยี่ยมการรักษาผู้ป่วยโควิดฯ ในระบบ OPD ว่า ได้มอบนโยบายโรงพยาบาลเพิ่มทางเลือกรักษาผู้ป่วยโควิดฯ สีเขียว ที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการเป็นผู้ป่วยนอก ตามแผน "เจอ-แจก-จบ" ที่เริ่มเมื่อวันที่ 1 มี.ค. "เจอ" คือ การตรวจเชื้อพบผลบวก "แจก" คือการแจกความรู้สร้างความเข้าใจแนะนำให้เข้าถึงระบบ และ "จบ" คือผู้ป่วยได้เข้าสู่ระบบบริการครบวงจร หากผู้ป่วยตรวจ ATK ด้วยตนเองพบผลบวก แนะนำให้โทร.สายด่วน สปสช.1330 เพื่อให้แพทย์ประเมินคัดกรองความเสี่ยง ถ้าเสี่ยงน้อยจะประสานการรักษาผ่าน OPD หรือ HI/CI ตามความสมัครใจ หากผู้ป่วยต้องการเดินทางมารักษาในระบบ OPD ที่คลินิกทางเดินหายใจ หรือ ARI โรงพยาบาลต้องป้องกันตนเองสูงสุด ทั้งนี้ 95% ของผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน จะมีอาการน้อยถึงไม่มีอาการ อยู่ในกลุ่มสีเขียว โอกาสที่อาการแปรผันกลายเป็นผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง มีน้อยไม่ถึง 1% ย้ำว่าผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรับบริการรักษาฟรี

...

เน้นจ่ายยาสมเหตุสมผล เหมาะกับผู้ป่วย แจงสูตรยาแจกผู้ติดเชื้อ

ขณะที่ นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผอ.รพ.ราชวิถี เปิดเผยเพิ่มเติมว่า มีผู้ป่วยเดินทางมารักษาที่คลินิกทางเดินหายใจเฉลี่ยวันละ 150-250 คน ในจำนวนนี้เมื่อคัดกรองความเสี่ยงพบเป็นโควิดฯ ประมาณ 60-70% ขณะนี้มีผู้ป่วยอยู่ในระบบ HI ของ รพ.ราชวิถี 2,021 คน การจ่ายยาเน้นจ่ายอย่างสมเหตุสมผล เหมาะกับผู้ป่วย สูตรยาที่จะแจกให้กับผู้ติดเชื้อโควิดแบ่งไปตามกลุ่มอาการ ได้แก่ 1. สูตรยารักษาตามอาการ 2. สูตรยารักษาการติดเชื้อที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ จะจ่ายยาโอเซลทามิเวียร์ รวมถึงยาแก้แพ้ 3. สูตรยา ที่มีอาการเจ็บคอจากเชื้อแบคทีเรีย และจ่ายยาฆ่าเชื้อ 4. สูตรยากลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีอาการแพ้อะม็อกซีซิลลิน 5. สูตรยาที่มีการผสมฟ้าทะลายโจร 6. สูตรยาที่มีการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้กับคนที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 90 กิโลกรัม 7. สูตรยาที่มีการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ในผู้ติดเชื้อน้ำหนัก 90 กิโลกรัมขึ้นไป

ผู้ป่วยนอกต้องสื่อสารให้ชัด เพื่อสร้างความมั่นใจในบริการ

...

ส่วนกรณีการสื่อสารกับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโควิดฯ แบบผู้ป่วยนอกหรือ OPD นั้น นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า ต้องให้คนเข้าใจถึงลักษณะอาการทั่วไปของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนว่า สำหรับคนที่มีเกณฑ์ได้ฉีดวัคซีนป้องกันอย่างน้อย 3 เข็ม ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง 608 อายุไม่มาก ไม่มีโรคประจำตัวขอให้มั่นใจว่าถ้าเป็นเชื้อโอมิครอนจะไม่เป็นปัญหา ต้องอธิบายให้ชัดถ้าเขามีเกณฑ์ตามนี้ อาการอาจจะมีไข้อยู่บ้าง ดังนั้นถ้าเป็นผู้ป่วย OPD จะไม่เป็นอันตราย หมอต้องให้คำยืนยันให้ชัด ต้องให้ข้อมูลที่เพียงพอว่า ถ้าเป็นโอมิครอนแล้วอยู่ในเกณฑ์แบบนี้ เป็นการไปพบหมอและได้คำแนะนำกลับไปดูอาการตัวเอง พร้อมที่จะให้เขากลับมาเมื่อมีอาการรุนแรง

ถ้าไม่มั่นใจคำแนะนำ หมอต้องเลือกสิ่งที่คนไข้เชื่อมั่น

สำหรับกรณีผู้ป่วยโควิดที่เข้าระบบ HI ได้รับอุปกรณ์และอาหาร คนจะเกิดทางเลือกหรือไม่ เนื่องจาก OPD จะไม่ได้รับในส่วนนี้ นายสาธิต กล่าวชี้แจงว่า การมีทางเลือกเยอะๆ ให้กับผู้ติดเชื้อนั้น จะทำให้เขาเชื่อมั่นและเคยชิน ส่วนเรื่องการหารือเกี่ยวกับการป้องกันความซ้ำซ้อนของการให้บริการนั้น ตนคิดว่าต้องมีข้อมูลให้เขามั่นใจทุกช่องทางที่เขาเลือก โดยให้เลือกใช้ทรัพยากรจากช่องทางใดช่องทางหนึ่งด้วยความสมัครใจ ต้องให้หมอให้คำแนะนำ แต่สุดท้ายหากหมอให้คำแนะนำแล้วแต่ยังไม่มั่นใจ ก็ต้องเลือกใช้ในสิ่งที่เขาเชื่อมั่น ตอนนี้ขอให้หน่วยงานทุกหน่วยงานเปิดช่องให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการให้บริการ เพื่อนำไปสู่การเข้าใจมากขึ้นในอนาคต

คาดกลาง มี.ค. สถานการณ์โควิดเข้าสู่ขาลง

ปิดทายที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อมูลในเฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิดฯ ภายในประเทศว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงขาขึ้น เชื่อว่าจะเริ่มลงในกลางเดือน มี.ค.หลังจากที่นักเรียนปิดเทอมและอยู่ในช่วงฤดูร้อน ขณะนี้จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นนั้น จำนวนหนึ่งจะเป็นเด็กและวัยรุ่นที่เพิ่มขึ้น ส่วนในเด็กเมื่อมีการติดเชื้อจะเกิดกลุ่มก้อนในบ้าน ซึ่งเด็กส่วนใหญ่แข็งแรงดี เมื่อติดเชื้อจะมีอาการน้อยมาก แต่จะมีส่วนในการแพร่กระจายเชื้อในครอบครัว เด็กเองมีความจำเป็นในเรื่องของการศึกษา และในอนาคตจำเป็นที่จะต้องไปโรงเรียน ส่วนเด็กเล็กการระบาดของโรคทางเดินหายใจนั้น ส่วนใหญ่จะพบได้สูงมากหลังนักเรียนเปิดเทอม คือในเดือน มิ.ย.จนถึง ก.ย. และจะเริ่มน้อยลง ไปเพิ่มอีกครั้งหนึ่งในราวเดือน ม.ค.ถึง มี.ค.เป็นประจำทุกปี ยิ่งช่วงแรกของเทอมแรกมากกว่าในเทอมที่ 2 การให้ภูมิต้านทานในเด็กถ้ามองจากระยะยาวแล้ว จากบทเรียนที่ให้ผู้ใหญ่ การเริ่มให้วัคซีนตั้งแต่วันนี้และวางแผนเข็มที่ 3 ในช่วงเทอมหน้าก็จะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าวัคซีน 2 เข็มจะป้องกันได้ในระยะสั้น และเมื่อภูมิต้านทานลดลง จำเป็นต้องมีการกระตุ้นครั้งที่ 3 เพื่อให้ภูมิสูงขึ้นและอยู่นานกว่า

ผู้เขียน : หงเหมิน

กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun