นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้ชะลอการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MOU ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยที่ผ่านมากระทรวงแรงงานมีมาตรการโดยใช้กำลังแรงงานที่มีอยู่ในประเทศเป็นลำดับแรก พร้อมกับเตรียมกระบวนการรองรับการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MoU เพื่อที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยกระทรวงแรงงานได้เสนอแนวทางการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MOU ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 มีมติเห็นชอบตามแนวทางที่เสนอ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 กระทรวงแรงงานได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 เป็นต้นมา
กระทรวงแรงงานได้บูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MoU ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีแนวทางการดำเนินการ 8 ขั้นตอน 1. นายจ้างยื่นแบบคำร้องขอนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ (Demand) กับกรมการจัดหางานหรือสำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ 2. เมื่อกรมการจัดหางานตรวจสอบเอกสารและหลักฐานแล้วจะมีหนังสือแจ้งความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว (Demand) ผ่านสถานเอกอัครราชทูตของประเทศต้นทางประจำประเทศไทยไปยังประเทศต้นทาง 3. ประเทศต้นทางดำเนินการรับสมัคร คัดเลือก ทำสัญญา และจัดทำบัญชีรายชื่อคนงานต่างด้าว (Name List) ส่งให้กรมการจัดหางานผ่านสถานเอกอัครราชทูตประเทศต้นทางประจำประเทศไทย และกรมการจัดหางานจัดส่ง Name List ให้นายจ้าง 4. นายจ้างที่ได้รับบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว (Name List) แล้ว ยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 5. กรมการจัดหางานมีหนังสือถึงสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ ประเทศต้นทาง (กัมพูชา และลาว)
เพื่อพิจารณาออกวีซ่า (Non – Immigrant L-A) ให้แก่คนต่างด้าวตามบัญชีรายชื่อ และสถานเอกอัครราชทูตเมียนมา ประจำประเทศไทย เพื่ออนุญาตให้คนต่างด้าวตามบัญชีรายชื่อเดินทางมาทำงานในประเทศไทย และหนังสือแจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่ออนุญาตให้คนต่างด้าวเดินทางเข้าประเทศผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองตามที่นายจ้าง
ได้แจ้งไว้ 6. เมื่อคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรต้องแสดงเอกสารหลักฐาน 7. คนต่างด้าวต้องเข้ารับตรวจสุขภาพ 6 โรค เข้ารับการกักตัว และตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR 8. คนต่างด้าวรับการอบรมผ่านระบบ Video Conference ณ สถานที่ทำงาน เมื่อผ่านการอบรมแล้ว คนต่างด้าวจะได้รับใบอนุญาตทำงาน จากสำนักงานจัดหางานที่สถานประกอบการตั้งอยู่โดยการอนุญาตให้ทำงานจะเริ่มจากวันที่คนต่างด้าวได้รับการตรวจลงตรา (วีซ่า) ให้เดินทางเข้ามาในประเทศ
ปัจจุบันแรงงานต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาทำงานตาม MOU เดินทางเข้ามาประเทศไทย เป็นแรงงานสัญชาติกัมพูชา โดยเดินทางเข้ามาทางจังหวัดสระแก้ว วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมาในส่วนของแรงงานต่างด้าวสัญชาติลาว และเมียนมา ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการของประเทศต้นทาง ซึ่งเมื่อทุกอย่างเรียบร้อยตามขั้นตอนแล้วก็จะทยอยเดินทางเข้ามา
ประเทศไทย ซึ่งกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานมีการวางแผนบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ในทุกระยะ เพื่อให้การเข้าสู่ระบบการจ้างแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้อง มีการคุ้มครองแรงงานต่างด้าวให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ช่วยแก้ปัญหาการลักลอบทำงานผิดกฎหมาย ปัญหาการค้ามนุษย์ แรงงานบังคับ และปัญหาการใช้แรงงานผิดกฎหมาย เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แต่สิ่งสำคัญที่จะแก้ปัญหาให้คือ นายจ้าง/สถานประกอบการ จำเป็นต้องร่วมมือใช้แรงงานที่เข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมาย ไม่รับแรงงานที่ลักลอบเข้าประเทศมาทำงาน เพราะแรงงานกลุ่มดังกล่าวไม่ได้ผ่านการตรวจคัดกรองโควิดตามมาตรการสาธารณสุข ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิด การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลกระทบโดยตรงทั้งต่อกิจการ ชุมชนใกล้เคียง จนถึงประเทศชาติ ดังนั้น หากต้องการจ้างแรงงาน 3 สัญชาติ นายจ้าง สามารถยื่นคำร้องขอนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ (Demand) กับกรมการจัดหางานหรือสำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่