ชุดข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน (Thailand Community Data) หรือ TCD คือ “บิ๊กดาต้า” ชุมชน 3 พันตำบลหรือครึ่งหนึ่งของประเทศ ที่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดทำขึ้นผ่าน โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือ U2T ที่นักศึกษาและผู้ได้รับการจ้างงานกว่า 6 หมื่นคน ลงพื้นที่ไปทำงานและเก็บข้อมูลร่วมกับชุมชน

ชุดข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน หรือ TCD มีข้อมูลที่จัดเก็บมาได้กว่า 1,082,297 ชิ้น โดยแบ่งหมวดหมู่ต่างๆ ได้แก่ เกษตรกรในท้องถิ่น 310,522 ชิ้น แหล่งน้ำในท้องถิ่น 31,964 ชิ้น ผู้ที่ย้ายกลับบ้านเนื่องจากสถานการณ์โควิด–19 จำนวน 72,639 ชิ้น ภูมิปัญญาท้องถิ่น 35,054 ชิ้น สัตว์ในท้องถิ่น 92,652 ชิ้น พืชในท้องถิ่น 311,471 ชิ้น แหล่งท่องเที่ยว 36,474 ชิ้น ร้านอาหารในท้องถิ่น 79,136 ชิ้น อาหารที่น่าสนใจในท้องถิ่น 85,234 ชิ้น ที่พัก/โรงแรม 27,151 ชิ้น

ฐานข้อมูลเหล่านี้ได้ถูกจัดเก็บ เรียบเรียงเพื่อนำไปสู่การสร้างมูลค่า เชื่อมโยงการวิเคราะห์กับข้อมูลความต้องการของตลาด ข้อมูลปัจจัยต่างๆ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานราชการอื่น อาทิ ข้อมูลผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน ข้อมูลการส่งออก ข้อมูล TPMAP ที่เป็นระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนและแก้จนแบบชี้เป้า เป็นต้น

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ชื่นชมชุดข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน หรือ TCD ว่า ทำให้ได้ข้อมูล พื้นที่จริง ทันสมัย เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจวางแผนพัฒนาพื้นที่ได้อย่างตรงจุดและแม่นยำ พร้อมสั่งให้ อว.ทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) นำข้อมูล TCD มาใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาครัวเรือนยากจน ที่สำคัญนำข้อมูล TCD ไปเชื่อมโยงกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ หรือ BCG ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้” ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. กล่าวหลัง จากนำชุดข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชนหรือ TCD ไปให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ดูในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 22 ก.พ.2565

...

“TCD จะเป็นหัวใจสำคัญในการวางแผน การบริหารจัดการ ทั้งยังเป็นคลังสมองให้กับรัฐบาลในการวางแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจบีซีจีให้สอดคล้องกับเขตระเบียงเศรษฐกิจที่ได้กำหนดไว้ โดยอาศัยกลไกของพื้นที่และสถาบันอุดมศึกษาที่กระจายอยู่ทั่วประเทศในการร่วมขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม” รมว.อว. กล่าว

ที่สำคัญข้อมูลต่างๆสามารถถูกเพิ่มและเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องครบถ้วนได้ตลอดเวลา เนื่องจากเชื่อมต่อกับระบบบันทึกข้อมูลอิเล็ก ทรอนิกส์ ทำให้มีความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถเรียกใช้ข้อมูลได้และข้อมูลสามารถถูกนำไปสู่ระบบการประมวลผลปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (AI) เพื่อให้การวางแผนบริหารจัดการพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้เกิดการสร้างแผนงานรายตำบลที่แม่นยำ

“ตัวอย่างหนึ่งที่เป็นผลของการวิเคราะห์ฐานข้อมูล TCD จากการป้อนข้อมูลความต้องการของตลาดที่กำลังมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นสวนทิศทางของโควิด คือ ผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกจากแมลง ที่สามารถเติบโตเกือบเท่าตัวอยู่ที่ 34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และตัวเลขคาดการณ์การเติบโตยังคงอยู่ในทิศทางที่สูงขึ้น ในขณะที่ข้อมูลจาก TCD พบว่ากำลังการเลี้ยงของชาวบ้านเกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสาน ยังสามารถรับการพัฒนาและเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้อีกจำนวนมาก โดยใช้เทคโน โลยี Internet of Things (IoT) หรือไอโอที ใน การสร้างโรงเรือนดูแล การเลี้ยงแมลง การใช้ของเหลือทิ้งจากแปลงเกษตร เช่น ใบมันสำปะหลัง มาเป็นอาหารให้แมลง รวมถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหารในอนาคตของไทยมาช่วยในการแปรรูปสร้างมูลค่าการส่งออก เนื่องจากโปรตีนจากแมลงถือเป็นแหล่งโปรตีนต้นทุนต่ำและกำลัง

ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์

ได้รับความนิยมในต่างประเทศ นอกจากนี้แล้วกลุ่มของมันสำปะหลัง และของเหลือทิ้งจากไร่อ้อยก็ยังสามารถนำมาใช้ในการสร้างพลังงานชีวมวลให้กับพื้นที่ แปรรูปเป็นพลังงานทางเลือก แทนการเผาที่เป็นต้นเหตุของการเกิดมลพิษ PM 2.5 ได้อีกด้วย” ศ.ดร.เอนก ระบุ

ขณะที่ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการ U2T กล่าวว่า อว.ได้ประสานพูดคุยกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) แล้ว เบื้องต้นจะขอเข้าร่วมสนับสนุน U2T ระยะ 2 และ มท.จะให้กรมการพัฒนาชุมชน เข้าร่วมสนับสนุนโครงการ U2T และ อว.ส่วนหน้า โดย มท.จะส่งชื่อผู้ประสานงาน 76 จังหวัด ทำงานร่วมกับ อว.ส่วนหน้า เพื่อใช้ประโยชน์ TCD ใน การสร้างงาน สร้างรายได้ และการช่วยครัวเรือน ยากจนที่ตกเกณฑ์ TPMAP ในทุกจังหวัดให้ได้รับความช่วยเหลือทั้งการเพิ่มทักษะอาชีพ การสร้างโอกาสให้เข้าสู่อาชีพใหม่ๆ

“นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆในการเชื่อมโยงและแลก เปลี่ยนข้อมูลที่แต่ละหน่วยงานจัดเก็บ เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลที่มีความสมบูรณ์และครอบคลุมทุกมิติ พร้อมส่งเสริมและเผยแพร่ให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการวิเคราะห์ เพื่อการพัฒนาพื้นที่อย่างหลากหลาย

...

ที่สำคัญ อว.จะส่งคืนข้อมูลในฐานข้อมูล TCD นี้ ให้กับชุมชนทั้ง 3,000 ตำบล ซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูล ที่แท้จริง เพื่อนำไปใช้พัฒนา สร้างงาน สร้างรายได้ ในชุมชนของตนเอง และได้มอบให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งเข้ามาสนับสนุนชุมชนอย่างใกล้ชิด และมุ่งเป้าตามนโยบายของรัฐบาล” ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าว

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล

“ทีมข่าวอุดมศึกษา” มองว่า ชุดข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน หรือ TCD น่าจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือ หรือกุญแจสำคัญนำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนของชุมชนได้ เพราะเท่ากับมีข้อมูลที่สามารถระบุกลุ่มเป้าหมายได้ทั้งในครัวเรือนและลงลึกถึงระดับบุคคลของแต่ละพื้นที่อย่างชัดเจน

แต่สิ่งที่เราอยากขอฝากไว้คือ ความจริงจัง และความต่อเนื่องของทุกภาคส่วน ที่จะร่วมพลัง ร่วมแรง ร่วมใจ เพื่อทำให้ชุดข้อมูลขนาดใหญ่นี้ส่งผลตรงและเข้าถึงเป้าหมายได้อย่างแท้จริง
จากนี้เวลาเท่านั้น ที่จะพิสูจน์ประสิทธิภาพของชุดข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน ว่าจะสามารถ “สร้างโอกาสท่ามกลางวิกฤติ” และช่วยชาวบ้าน “แก้จนครบวงจร” ได้ผลมากน้อยเพียงใด.

...

ทีมข่าวอุดมศึกษา