กรมปศุสัตว์ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยสั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เร่งสำรวจเกษตรกรและปศุสัตว์ที่ได้รับผลกระทบตายและสูญหาย พร้อมประสานกับศูนย์วิจัยพัฒนาอาหารสัตว์ในการให้ความช่วยเหลือด้านเสบียงสัตว์ แร่ธาตุ และเวชภัณฑ์แก่สัตว์เลี้ยงของเกษตรกรเป็นการด่วน ซึ่งในเบื้องต้นสำรวจพบผลกระทบเสียหายแล้ว 7 จังหวัด ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา นราธิวาส ปัตตานี และยะลา และให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าไปแล้ว 3 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากการที่ได้เกิดอุทกภัยขึ้นในหลายจังหวัดทางภาคใต้นั้น ทางกรมปศุสัตว์ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานในพื้นที่ให้เร่งดำเนินการสำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอุทกภัย พร้อมให้การช่วยเหลือด้านเสบียงสัตว์ซึ่งเตรียมไว้รองรับภัยพิบัติ รวมทั้งแร่ธาตุ และเวชภัณฑ์แก่สัตว์เลี้ยงของเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่เป็นการด่วน โดยให้ประสานศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ในพื้นที่ภาคใต้ ทั้ง 2 เขต จำนวน 7 หน่วยงาน ดังนี้ พื้นที่เขต 8 จำนวน 5 หน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์สุราษฎร์ธานี สนับสนุนเสบียงสัตว์ให้ 3 จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี พังงา และภูเก็ต ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ชุมพร สนับสนุนเสบียงสัตว์ให้ 2 จังหวัด คือ ชุมพร และระนอง ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ตรัง สนับสนุนเสบียงสัตว์ให้ 2 จังหวัด คือ ตรัง และกระบี่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์พัทลุง สนับสนุนเสบียงสัตว์ภายในจังหวัดพัทลุง ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นครศรีธรรมราช สนับสนุนเสบียงสัตว์ภายในจังหวัดนครศรีธรรมราช และพื้นที่เขต 9 จำนวน 2 หน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์สตูล สนับสนุนเสบียงสัตว์ให้ 3 จังหวัด คือ สตูล สงขลา และปัตตานี และศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นราธิวาส สนับสนุนเสบียงสัตว์ให้ 2 จังหวัด คือ นราธิวาส และยะลา

ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ กรมปศุสัตว์ได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกร 3,494 ราย ในพื้นที่ 3 จังหวัด 14 อำเภอ 57 ตำบล 198 หมู่บ้าน ให้ความช่วยเหลือปศุสัตว์ที่ได้รับผลกระทบแล้ว เป็นจำนวน 17,199 ตัว แบ่งเป็น โค 5,732 ตัว กระบือ 454 ตัว แพะ/แกะ 5,083 ตัว สัตว์ปีก 5,930 ตัว แปลงหญ้า 102 ไร่ โดยกรมปศุสัตว์ได้สนับสนุนเสบียงสัตว์ ไปแล้ว 43,800 กิโลกรัม แบ่งเป็นเสบียงแห้ง 41,300 กิโลกรัม และเสบียงสด 2,500 กิโลกรัม

ทั้งนี้ เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยสามารถติดต่อขอรับการสนับสนุนเสบียงสัตว์ ได้ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ในพื้นที่ หรือติดต่อกลุ่มโครงการพิเศษและป้องกันภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ กองส่งเสริมและพัฒนาปศุสัตว์ โทร. 0-2653-4444 ต่อ 3315

นอกจากนี้ เมื่อหลังจากน้ำลดและเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว กรมปศุสัตว์จะให้การช่วยเหลือเกษตรกร เป็นการฟื้นฟูสภาพการเลี้ยงสัตว์ ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ต่อไป อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด.

*****************************

ข้อมูล : กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ / สำนักพัฒนาอาหารสัตว์

ข่าว : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมปศุสัตว์