โควิดลามเข้าวงการบันเทิงไม่หยุด 10 ดารานักร้องเรียงแถวติดโควิด-19 กันระนาว อาทิ เกรท-วรินทร อาเล็ก-ธีรเดช มิ้นท์-ณัฐวรา แชป-วรากร เจ-เจตริน ส้ม มารี ว่าน วันวาน โดยเฉพาะ “เจ-เจตริน” ขนาดฉีดวัคซีน 4 เข็มแล้วยังติด สปสช.เร่งแก้ไขปัญหาโทร.สายด่วน 1330 หลังผู้ป่วยโควิด-19 ยอดพุ่งจนเกิดภาวะวิกฤติ คนกระหน่ำโทร.ขอเข้ารักษาแบบ HI สายแทบไหม้ ถึงขนาดต้องประกาศรับจิตอาสามาช่วยรับสาย พร้อมเพิ่มช่องทางการติดต่อทาง “ไลน์” นายกฯประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ย้ำปี 65 ต้องฉีดวัคซีนครบทุกคน สั่งติดตามการเบิกจ่ายค่าบริการโควิด-19 แต่ละ รพ.ให้เหมาะสมไม่ซ้ำซ้อน กระทรวงการท่องเที่ยวฯเสนอปรับระบบ Test & Go เรื่องการตรวจหาเชื้อโควิด ขณะที่ สปสช.ปรับลดค่ารักษาต่อหัวทุก รพ. อนุทินแจงเหตุ ครม.ตีกลับการปรับรูปแบบยูเซ็ป เผยที่กำหนดเกณฑ์เพื่อความมั่นคงของระบบสาธารณสุขไทย พบเด็กปฐมวัยติดเชื้อเพียบ โคราชจับตา 14 คลัสเตอร์ นครศรีฯอ่วมป่วยเกือบ 900 ราย “อัศวิน” โล่งผลตรวจ RT-PCR เป็นลบหลังทำศบค.ผวาไม่กล้าประชุมร่วม พร้อมยืนยันศูนย์พักคอยมีเพียงพอ

กลายเป็นความตระหนกตกใจไปตามๆกัน หลังผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ทวีจำนวนเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดโดยพุ่งขึ้นถึงหลัก 2 หมื่นกว่าคนเพียงระยะเวลาไม่กี่วัน ส่งผลให้เตียงรองรับผู้ป่วยหลายพื้นที่มีไม่เพียงพอ

...

ศบค.ผวา “อัศวิน” ร่วมวงเสี่ยงติดโควิด

ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเช้าวันที่ 23 ก.พ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค.เป็นประธานประชุม ศบค.ครั้งที่ 4/2565 ระหว่างประชุม พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ได้ออกจากห้องประชุมทันทีเพื่อไปตรวจ RT-PCR หลังได้รับรายงานว่านายณรงค์ เรืองศรี รองปลัด กทม.ที่ทำงานใกล้ชิดติดเชื้อโควิด แต่ผลตรวจของ พล.ต.อ.อัศวิน เป็นลบไม่พบเชื้อ

สั่งตีปี๊บระบบ สธ.ไทยดีกว่าชาติอื่น

ขณะที่นายกฯกล่าวในที่ประชุมโดยกำชับ เรื่องการสื่อสารให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชนว่า ไทยมีผู้เสียชีวิตจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับหลายประเทศที่มีประชากรใกล้เคียงกันหมายความว่าไทยมีระบบสาธารณสุขที่ดี ผู้ติดเชื้อเข้าถึงระบบรักษาพยาบาลได้ดี พร้อมเน้นย้ำให้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศยกระดับประสิทธิภาพ HI CI รวมถึง call center ปรับรูปแบบดูแลให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ ประชาสัมพันธ์สื่อสารให้ประชาชนทราบสถานที่บริการ HI CI เพื่อเข้ารับบริการได้

ตั้งเป้าปี 65 ฉีดวัคซีนครบทุกคน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมมีการรายงานศักยภาพการดูแลรักษาอัตราการครองเตียง ยา เวชภัณฑ์ ว่ายังเพียงพอต่อความต้องการใช้นายกฯ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงาน ร่วมพิจารณาดูแลรักษาประชาชนให้สะดวกมากขึ้น ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มงวดมากขึ้น เพื่อรักษามาตรการควบคุมโรค ขอบคุณและชื่นชม ให้กำลังใจหน่วยงานที่คิดค้นวิจัยวัคซีนโควิด-19 ส่วนแผนให้บริการวัคซีนของไทยปี 65 ต้องฉีดให้ประชาชนทุกคนอย่างครอบคลุม รองรับการระบาด รวมถึงเชื้อกลายพันธุ์ ตั้งเป้าในกลุ่มเด็กนักเรียนที่ยังไม่ฉีด กลุ่มเข็มกระตุ้น รวมทั้งกลุ่มเด็กอายุ 5- 11 ปี ที่ฉีดตามความสมัครใจ ส่วนมาตรการการเปิดเรียน On site นายกฯสั่งตรวจสอบ ดูแลจัดการอย่างดีที่สุด นอกจากนี้ นายกฯยังสั่งการให้ติดตามตรวจสอบการเบิกจ่ายค่าบริการจากโควิด-19 ของแต่ละ รพ.ให้ถูกต้องเหมาะสม ไม่ซ้ำซ้อน แต่ละแห่งอาจมีต้นทุนไม่เท่ากัน สถานการณ์ยากลำบากอย่างนี้ขอความร่วมมือทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือกับรัฐบาล

ติดเชื้อทะลุ 2 หมื่น ตายพุ่ง 39 ราย

จากนั้นเวลา 12.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงหลังการประชุมถึงสถานการณ์โควิด-19 ในไทยว่าพบผู้ติดเชื้อใหม่ 21,232 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 39 ราย เป็นชาย 20 ราย หญิง 19 ราย เป็นผู้เสียชีวิตอายุ 60 ปีขึ้น ไป 31 ราย มีโรคเรื้อรัง 3 ราย ทำให้มียอดเสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 รวม 22,730 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก ติดเชื้อสะสม 427,884,735 ราย เสียชีวิตสะสม 5,923,005 ราย

กทม.เสริม 900 เตียง CI

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ภาพรวมการครองเตียงในประเทศ มีการใช้เตียงสีเขียวไป 82,523 เตียงคิดเป็น 55.7% สีเหลืองระดับ 1 ใช้ไป 4,882 เตียง คิดเป็น 20.1% สีเหลืองระดับ 2 ใช้ไป 676 เตียง คิดเป็น 12.1% สีแดง ใช้ไป 402 เตียง คิดเป็น 18.6% เราต้องเอาเตียงไว้ให้กับผู้ป่วยวิกฤติหนัก ให้คนที่อาการไม่หนักไปอยู่ CI และ HI สำหรับ CI ใน กทม. ถือว่ามีความสำคัญ ผู้ว่าฯกทม.รายงานที่ประชุมว่าขณะนี้ยังมี CI ใน กทม.เหลือ 2 พันเตียงจะเปิดเพิ่มอีก 900 เตียง

...

สปสช.ปรับลดค่ารักษาต่อหัวทุก รพ.

นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่าที่ประชุม ศบค.ยังรายงานการใช้จ่ายงบปี 63 กรมบัญชีกลางใช้ไป 232.19 ล้านบาท ประกันสังคม (สปส.) ใช้ไป 306.87 ล้าน บาท หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ใช้ไป 3,302.09 ล้านบาท รวม 3,841.15 ล้านบาท ปี 64 กรมบัญชีกลางใช้ไป 36,652.97 ล้านบาท สปส. 42,917.39 ล้านบาท สปสช.ใช้ 51,177.58 ล้านบาท รวม 97,747.94 ล้านบาท ขณะที่ปี 65 สปสช.วางงบไว้ 32,488 ล้านบาท อยู่ระหว่างการของบเพิ่มเติม โดยจะมีการปรับค่ารักษาลงจากเดิมผู้ป่วยสีเขียวต่อรายใน รพ.รัฐ จาก 23,248 บาท รพ.เอกชน 50,236 บาท ลดให้เหลือ 12,000 บาท ผู้ป่วยสีเหลือง รพ.รัฐ 81,844 บาท เอกชน 92,752 บาท ให้ลดเหลือ 69,300 บาท ผู้ป่วยสีแดง รพ.รัฐ 252,182 บาท เอกชน 375,428 บาท ให้ลดเหลือ 214,400 บาท ส่วนเงินยูเซ็ปที่ใช้กับโควิด-19 แยกเป็นรายสี พบว่าใช้ในส่วนของผู้ป่วยสีเขียว 88% สีเหลือง 11% สีแดง 1% ผอ.ศบค.แจ้งว่า จะยังใช้เกณฑ์เดิมอยู่ หากจะมีการปรับขอให้ปรับในเกณฑ์ที่ประชาชนไม่เดือดร้อน

ปิดโรงเรียนไม่ตรงนโยบายออนไซต์

...

นพ.ทวีศิลป์ยังกล่าวว่า ในที่ประชุมมีการรายงานสถานการณ์การติดเชื้อในเด็กอายุ 0-19 ปี ว่ามีผู้ติดเชื้อ 21.9% ผู้ป่วยหนักมีน้อย การปิดโรงเรียนในช่วงที่ผ่านมาพบว่าโรงเรียนที่มีผู้ติดเชื้อ 1 คนขึ้นไปมีการปิดโรงเรียนไปถึง 27.8% โรงเรียนที่ติดเชื้อมากกว่า 1 ห้อง ปิดเรียนถึง 55.7% โรงเรียนที่มีผู้ติดเชื้อในโรงเรียนใกล้เคียง มีการปิดโรงเรียนไปถึง 9% ถือว่าไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ จึงเสนอมาตรการ “เปิดเรียนออนไซต์อยู่ได้กับโควิด-19” กรณีนักเรียนมีความเสี่ยงและติดเชื้อในสถานศึกษา สำหรับของโรงเรียนประจำนั้น ถ้านักเรียน ครู บุคลากรเป็นผู้เสี่ยงต่ำให้เรียนออนไซต์ปกติ สังเกตอาการและประเมินความเสี่ยง กรณีเสี่ยงสูงให้จัดการเรียนการสอนในควอรันทีนโซน จัดการตรวจคัดกรองหาเชื้อ หากนักเรียน ครู บุคลากรเป็นผู้ติดเชื้อให้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขจัดทำ School Isolation ให้จัดการเรียนการสอนอย่างเหมาะสม กำกับติดตามขั้นสูงสุด ขณะที่โรงเรียนแบบไปกลับ ในกรณีนักเรียน ครู บุคลากรเสี่ยงต่ำ ให้เรียนออนไซต์ปกติ หากสี่ยงสูงให้แยกกักตัวที่บ้านเป็นเวลา 7 วัน หากเป็นผู้ติดเชื้อให้ปฏิบัติตามมาตรการการรักษาของกระทรวงสาธารณสุข พิจารณาจัดทำ School Isolation ตามความเหมาะสม

จัดแยกห้องสอบให้ผู้ติดเชื้อ

นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดสอบกรณีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงติดเชื้อในสถานที่สอบให้ประสานหน่วยงานบริการสาธารณสุขตามระบบอนามัยโรงเรียน ให้มีพื้นที่แยกจัดสอบเป็นสัดส่วน แยกกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ผู้ติดเชื้อ จัดที่นั่งสอบไม่น้อยกว่า 2 เมตร หากเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ อาการเล็กน้อย หรือสัมผัสเสี่ยงสูง ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือก่อนและหลังสอบงดการพูดคุย ส่วนการเดินทางไปสนามสอบให้เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวหรือประสานหน่วยสถานที่สอบ หรือบริการสาธารณสุขในกรณีไม่มีรถยนต์ส่วนตัว ขณะที่ผู้คุมสอบให้ปฏิบัติการคุมสอบตามมาตรฐานการป้องกันการติดเชื้อสำหรับบุคลากรด้านสาธารณสุข เช่น การใส่หน้ากากอนามัยใช้เวลาในการคุมสอบในห้องสอบให้น้อยที่สุด รวมถึงการวางแผนจัดการสอบให้เหมาะสม

...

ปรับระบบคนเข้าประเทศ

นพ.ทวีศิลป์ยังกล่าวด้วยว่า การเดินทางเข้าราชอาณาจักร กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เสนอปรับเปลี่ยนจากเดิมตรวจ RT-PCR รวม 2 ครั้ง ในวันแรกและวันที่ 5 นั้น ปรับเป็นตรวจ RT-PCR ในวันแรกส่วนวันที่ 5 ให้ตรวจ ATK ขอให้ติดตั้งแอปพลิเคชันหมอชนะ เพื่อส่งผลการตรวจ ส่วนมาตรการตามจุดผ่านแดน เช่น ที่ จ.หนองคาย อุดรธานี สงขลา พยายามจะเปิดด่านนำร่องให้เกิดกิจกรรมทางการค้า รวมถึงเรื่องประกันภัยสุขภาพนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่จากเดิม 50,000 เหรียญสหรัฐฯ ขอปรับเป็นไม่น้อยกว่า 20,000 เหรียญสหรัฐฯ ผอ.ศบค. มอบเลขาธิการ สมช. ไปดูรายละเอียด เนื่องจากมีบางคนมาทำการค้าเพียงวันเดียว หากต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยสูงมากอย่างนี้อาจไม่คุ้ม ส่วนเรื่องกีฬา เรือยอชต์ เรือสำราญ จะต้องผ่านระบบนี้ในรูปแบบที่ใกล้เคียงกันด้วย

โทร.เช็กคอลเซ็นเตอร์ให้กำลังใจ

นพ.ทวีศิลป์กล่าวตอนท้ายว่า นายกฯฝากขอบคุณคอลเซ็นเตอร์ในช่วงนี้ นายกฯได้โทร.ไปเองจึงทราบว่าทำงานกันอย่างหนักและได้ให้กำลังใจทุกคน รวมถึงภาคประชาสังคมที่ไปช่วยทีมงานของภาครัฐที่ดูแลผู้ป่วย ผู้ที่รอคอยการดูแลที่อยู่ตามบ้าน บางคนบ้านไม่เหมาะที่จะใช้เป็นที่กักตัว ขอให้ภาครัฐร่วมมือกับองค์กรทั้งหลายให้ช่วยดูแลคนไข้มีเป็นจำนวนมาก นายกฯให้เรียงลำดับความสำคัญ ฝากผู้บริหารทั้งหลายให้ช่วยกัน ส่วนเรื่องของสถานประกอบการที่เปิดแล้วและส่วนหนึ่งมีการติดเชื้อเนื่องจากมีการผ่อนคลาย ขอฝากให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ควบคุม ติดตามจริงจัง สำคัญที่สุดขอให้ประชาชนรับผิดชอบร่วมกันให้มากๆ การผ่อนคลายกิจการเปิดได้ แต่ผู้ป่วยมากขึ้นภาครัฐต้องเข้าดูแล สิ่งต่างๆจะต้องวางสมดุลให้เกิดขึ้น เพื่อที่จะดำเนินกิจการต่างๆเหล่านี้ต่อไป

แจงโควิดไม่แรงถอนยูเซ็ป

ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงการปรับรูปแบบยูเซ็ปว่า เหตุผลหลักเป็นเรื่องเตียง ช่วงแรกเรายังไม่รู้จักโควิด-19 ระบาดรุนแรงสูง ป่วยตายจำนวนมาก ในกรุงเทพฯกระทรวงไม่ได้ดูแลพื้นที่โดยตรง รพ.ส่วนใหญ่เป็นของมหาวิทยาลัยและเอกชน ช่วงแรกที่จำเป็นต้องกักกันโรคและรักษา เตียงของภาครัฐไม่พอ จึงประกาศให้เป็นยูเซ็ปโควิด ขณะนี้ล่วงเลยมา 2 ปีกว่าความรุนแรงของโรคลดลง เจ็บป่วยร้ายแรงลดลง ตอนนี้ใช้เตียงร้อยละ 50 เป็นเตียงเขียว ส่วนผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง ใช้ไม่ถึงร้อยละ 20 จึงคิดว่าเตียงเพียงพอ ต่อให้ปรับรูปแบบจริง ผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงยังจะได้รับสิทธิอยู่ แต่เพื่อความรอบคอบ ครม.จึงให้นำกลับไปทบทวน ยืน ยันว่า การทบทวนไม่มีเหตุผลเรื่องงบฯเกี่ยวข้อง แต่เป็นแผนที่เราจะทำให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น

รักษาตามสิทธิเพื่อระบบมั่นคง

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลัง ครม.ให้ทบทวนประกาศกระทรวง ที่จะให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รักษาตามสิทธิและประกาศใช้ UCEP PLUS ยูเซ็ป-พลัส กรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน ว่า ขณะนี้ผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ผู้เสียชีวิตยังเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 ที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือรับไม่ครบ หรือยังไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น จึงต้องวิงวอนให้ผู้สูงอายุไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ส่วนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นคนวัยทำงานที่อาการน้อยหรือไม่มีอาการเข้าระบบ HI/CI ได้ที่ต้องกำหนดเกณฑ์ผู้ป่วยวิกฤติโควิดในสิทธิยูเซ็ปเพื่อรักษาความมั่นคงของระบบสาธารณสุข หากไม่ฉุกเฉินใช้สิทธิสุขภาพของแต่ละคนได้ฟรี ยืนยันว่า ครม.ไม่ได้ตีตกหรือตีกลับ แต่เป็นการให้ทบทวนเพื่อหาข้อมูลมาประกอบให้เกิดความมั่นใจยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ยืนยันกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องการประหยัดงบเพราะงบที่ใช้ นายกฯ ผันมาจากงบกลาง

ไม่ใช่เชื่อหนูแต่ต้องเชื่อหมอ

เมื่อถามว่าเป็นเกมการเมืองต้องเชื่อหนูหรือไม่ เพราะประกาศดังกล่าวมีการลงนามไปแล้ว นายอนุทินกล่าวว่า ไม่ใช่เกมเชื่อหนู แต่ต้องเชื่อหมอ เชื่อคนทำงาน การที่แพทย์ยืนยันว่าเตียงพร้อม ถ้าแพทย์ไม่พร้อมจริงๆเขาต้องบอกแน่นอน ในฐานะรัฐมนตรีต้องแปลงความเห็นเหล่านั้นนำมาสู่การปฏิบัติ ส่วนเรื่องสายด่วนที่ประชาชนโทร.ไปแต่ไม่ มีคนรับสาย สปสช.กำลังแก้ปัญหา คงต้องเพิ่มคู่สาย แต่ปัญหาส่วนใหญ่จะเกิดใน กทม.

รพ.ทำงานร่วมจิตอาสา

กรณีที่กลุ่มจิตอาสาออกมาช่วยเหลือผู้ป่วยที่ตกค้างจำนวนมาก นายอนุทินกล่าวว่า ขอบคุณทุกท่านอย่างยิ่ง ปลัดกระทรวง รายงานทุกวันยืนยันว่า มีความพร้อม เพียงพอรองรับได้ รพ.หลายแห่งก็ทำงานร่วมกับจิตอาสาเป็นเครือข่ายกันอยู่แล้ว รับผู้ป่วยมา รพ.พร้อมให้การดูแล สำหรับการติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ที่มีกทม.เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลกระทรวง พร้อมสนับสนุน หากมีการร้องขอเข้ามา ประเด็นดราม่าเรื่อง รพ.ไม่ควรหยุดเสาร์อาทิตย์ในภาวะที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น หน่วยบริการสาธารณสุข ผอ.รพ. จะต้องบริหารตั้งแต่ทรัพยากรเวชภัณฑ์ ไปจนถึงทรัพยากรบุคคล เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าเมื่อเขาเจ็บป่วยแล้วจะมีคนดูแล

โยนให้ถาม กทม.ปล่อยคนรอเตียง

เมื่อถามว่า มีภาพผู้ป่วยที่รอคอยเตียงอยู่จำนวนมากจะแก้ปัญหาอย่างไร นายอนุทินตอบว่าต้องไปบอก กทม. กระทรวงแค่สนับสนุน เช่น รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน รพ.นพรัตนราชธานี แต่การบริหารจัดการสถานการณ์ต้องเป็นเรื่องของ กทม. วันนี้ต้องเน้นว่า อย่าให้เจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ส่วนการติดเชื้อปกติคนก็ต้องทำงาน มีกิจกรรมต้องระมัดระวัง ควบคุมความเสียหาย ต้องฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ 3-4 เมื่อถามว่า มีข้อเสนอว่า ควรงดการเสนอรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อแต่ละวัน เพราะทำให้คนตกใจ นายอนุทินตอบว่า อยู่กับความจริงดีที่สุด สิ่งที่กระทรวงจะไม่ทำคือ การปรุงแต่งตัวเลขและปิดบังความจริง

คนแห่โทร. 1330 ขอเข้า HI

ขณะที่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช. เปิดเผยว่า จากยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่พุ่งสูงขึ้น โดยวันที่ 23 ก.พ.สูงถึง 21,232 ราย มีผู้ที่ต้องเข้าสู่ระบบการดูแลผู้ติดเชื้อที่บ้านหรือ HI สูงขึ้น ทำให้ประชาชนที่โทร.เข้าสายด่วน สปสช. 1330 เพิ่มสูงต่อเนื่องเป็นวันที่สอง วันที่ 21 ก.พ. สูงสุดถึง 49,005 สาย วันที่ 22 ก.พ. 46,375 สาย ขณะที่ผู้รับสาย รวมเจ้าหน้าที่สายด่วน สปสช. จิตอาสา หน่วยงานต่างๆ มีประมาณ 300 คน รับสายได้เพียง 15,157 สาย เจ้าหน้าที่ได้ติดต่อกลับ 3,480 สาย รวมเป็นสายที่ สปสช.ตอบรับ 18,637 สาย การให้บริการของสายด่วน สปสช.1330 ช่องทางอื่นๆ ทั้ง line @nhso, line สปสช.โควิด, FB.สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อีเมล 1330 เป็นต้น ตั้งแต่วันที่ 1 -21 ก.พ. มีจำนวนผู้ติดต่อทั้งหมด 72,256 ราย ในจำนวนนี้ติดต่อกลับและได้รับบริการแล้ว 52,760 ราย คิดเป็นร้อยละ 75.98

เร่งติดต่อกลับคนกัก HI

“สปสช.ขอยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยสถาน การณ์ผู้ติดเชื้อโควิดที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วที่นับเป็นภาวะวิกฤติ ประกอบกับความเชื่อมั่นของประชาชนต่อสายด่วน สปสช. 1330 ทำให้มีจำนวนสายเข้ามาเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีจำนวนสายของผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนหนึ่งที่เข้าสู่ระบบการรักษาที่บ้านแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการติดต่อจากหน่วยบริการก็โทร.กลับมาที่ สปสช.อีก ส่งผลให้ยอดการโทร.พุ่งสูงแบบก้าวกระโดด ขอความร่วมมือจากหน่วยบริการให้รีบติดต่อผู้ป่วยที่ได้รับการจับคู่ในระบบการรักษาที่บ้านโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแล” เลขาธิการ สปสช.กล่าว

เพิ่มไลน์ @nhso ช่วยประชาชน

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า สปสช.มีช่องทางในการให้บริการประชาชน ที่ต้องการเข้าสู่ระบบการกักตัวที่บ้าน ผ่านทางสายด่วน 1330 และได้เพิ่มช่องทางอื่นในการติดต่อ ได้แก่ การลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ Home Isolation ด้วยตัวเองทางเว็บไซต์ สปสช. https://crmsup. nhso.go.th/#TicketHI จะมีแบบฟอร์มให้กรอกชื่อ เบอร์โทร. ที่อยู่ปัจจุบัน โรคประจำตัว น้ำหนัก ส่วนสูง เมื่อบันทึกข้อมูลแล้ว 15-20 นาที ตรวจสอบได้เลยว่าจะมีหน่วยบริการไหนมาเป็นเจ้าภาพรับดูแลทำ Home Isolation ให้ หรือผ่านไลน์ @nhso หรือคลิก https://lin.ee/ zzn3pU6 จะมีเมนูเกี่ยวกับโควิด-19 ให้เข้าไปกรอกข้อมูลเพื่อรับการดูแลแบบ Home Isolation ได้เช่นกัน แต่หากไม่ถนัดเรื่องเทคโนโลยีให้โทร.เข้า 1330 ได้ตามปกติ หากโทร.ไม่ติดหรือไม่มีคนรับอย่ากังวล จะมีเจ้าหน้าที่โทร.กลับไปหา แต่อาจจะต้องรอพักหนึ่ง

ขอจิตอาสาช่วยรับสาย

ทพ.อรรถพรกล่าวต่อว่า เพื่อให้การดูแลผู้ติดเชื้อเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สปสช.จึงขอเชิญชวนหน่วยงานต่างๆที่มีบริการ Call Center เข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานของ 1330 ในการรับสายจากประชาชนและประสานเข้าสู่ระบบการดูแลแบบ HI อีกทางหนึ่ง รวมถึงรับสมัครจิตอาสาช่วยตอบคำถามผ่านไลน์ สปสช. โดย สปสช.จะทำการอบรมเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานและจิตอาสาที่เข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงาน เพื่อให้ทราบถึงแนวปฏิบัติและช่องทางการส่งต่อข้อมูลและการประสานหน่วยบริการต่างๆ

เด็กปฐมวัยติดเชื้อเพิ่มเพียบ

วันเดียวกัน นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงสถานการณ์เด็กปฐมวัยติดเชื้อว่า เด็กปฐมวัยตั้งแต่แรกเกิด-5 ขวบรอบ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาติดเชื้อสูงมากขึ้นกว่า 6,000 กว่าคน สูงเหมือนช่วงวัยอื่นๆ โดย 6 จังหวัดที่พบติดเชื้อสูงสุดคือ กทม. นนทบุรี ชลบุรี สมุทรปราการ ภูเก็ต นครศรีธรรมราช ยอดสะสมระลอก 3 ตั้งแต่ 1 เม.ย.64 ถึงปัจจุบันติดเชื้อ 107,059 คน เสียชีวิตสะสม 29 คน เกินครึ่งมีโรคประจำตัว สาเหตุการติดเชื้อมาจากการสัมผัสผู้ติดเชื้อในครอบครัวที่รับเชื้อมาจากนอกบ้าน เด็กเล็กยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ขาดความใส่ใจในสุขอนามัย

แยกกินใช้ห้องน้ำร่วมทำได้น้อย

รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าวด้วยว่า ผลสำรวจอนามัยอีเวนต์โพล พบว่า การประเมินความเสี่ยงของคนในครอบครัวที่มาจากนอกบ้านผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ มีเพียงร้อยละ 28 ที่มีการประเมิน ทั้งยังพบถึงการปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันโรคเมื่ออยู่ในบ้านส่วนใหญ่ทำได้ไม่ถึงครึ่ง ทั้งการแยกใช้อุปกรณ์ส่วนตัว ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่จับร่วม โดยเฉพาะการไม่กินอาหารร่วมกันและแยกใช้ห้องน้ำทำได้น้อยมาก มีคำแนะนำให้เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น รณรงค์ฉีดวัคซีนให้ครบ หลีกเลี่ยงไปสถานที่ที่มีคนรวมตัวกันมาก อย่านำเด็กเล็กไป ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมรวมถึงของเล่น โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีโรคประจำตัวร่วมต้องระวังเป็นพิเศษ

หญิงท้องติดโควิดตาย 110 คน

นพ.เอกชัยยังกล่าวต่อว่า กรณีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อตั้งแต่ระลอก 3 เม.ย.64 พบ 6,829 คน เสียชีวิต 110 คน มีเด็กในท้องเสียชีวิตตามไปด้วยหรือการตายทั้งกลม 66 คน เกินครึ่งหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิตมีโรคประจำตัวไม่ได้รับวัคซีนมีฉีดเพียง 3-4 คน ส่วนใหญ่เสียชีวิตช่วงการระบาดของเดลตา ช่วงเดือน ม.ค.65 เป็นการระบาดของโอมิครอนมีไม่ถึง 10 คน มีหญิงตั้งครรภ์ที่ฉีดวัคซีนเพียง 115,000 คน และยังมีอีก 2 แสนกว่าคน อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ที่ยังไม่เข้ารับการฉีด ส่วนใหญ่ยังกังวลจะมีผลต่อลูกในครรภ์ ทั้งที่วัคซีนปลอดภัย ต้องเร่งรณรงค์ รวมถึงรณรงค์ให้คู่สมรสรับวัคซีนให้ครบ 3 เข็มก่อนตั้งครรภ์ กรณีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อที่ไม่มีโรคประจำตัวเข้าระบบดูแลด้วย HI ได้ปกติ แต่ต้องระวังตนเอง หากมีอาการหนักขึ้น ไอ ไข้สูง หายใจไม่อิ่ม ระดับออกซิเจนต่ำกว่า 94% ให้ติดต่อหมอที่ฝากครรภ์ หรือโทร.สายด่วน 1330 และ 1669

อาการเด็กเล็กติดเชื้อ

นพ.ธีรชัย บุญยะลีพรรณ รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ กรมอนามัย กล่าวว่า อาการเด็กติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นไข้ต่ำ มีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลียเหมือนหวัด บางรายอาจมีผื่น เบื่ออาหารหรือท้องเสีย หากมีอาการหนัก ไข้สูกว่า 39 องศา หายใจหอบเร็วกว่าปกติ ใช้แรงในการหายใจ ปากเขียว ระดับออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า 94% ซึมลง ไม่ดูดนมและไม่กินอาหาร ควรติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อนำเด็กเข้า รพ. ทั้งนี้ เด็กเล็กต่ำกว่า 1 ขวบให้สังเกตที่การกิน ดื่มนม ส่วนเกิน 1 ขวบให้สังเกตุที่การเล่น ถ้าพฤติกรรมดังกล่าวต่ำกว่า 50-60% ควรนำพบแพทย์ กรณีเด็กติดเชื่อแยกกักดูแลที่บ้านนั้น สิ่งสำคัญคือการเว้นระยะห่างโดยเฉพาะกับผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เกิน 2 ปี แนะนำให้เด็กใส่หน้ากากอนามัย อย่าเปิดแอร์นอน ควรเปิดโล่ง แยกของใช้ส่วนตัว หากมีไข้ให้เช็ดตัวเป็นระยะมากกว่ากินยาพารา ส่วนใหญ่ 1-2 วันไข้ลด พยายามทำกิจกรรมเล่นกับลูก กรณีเด็กเล็กต่ำกว่า 5 ปีติดเชื้อที่เข้ารักษาในฮอสพิเทลหรือ CI จะให้ผู้ปกครองเข้าไปดูแลด้วย กรณีพ่อแม่ติดเด็กไม่ติดจะให้ญาตินำเด็กไปดูแล หากไม่มีญาติให้ประสานบ้านพักเด็กช่วยดูแล

ยืนยันศูนย์พักคอยมีพอ

ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ให้สัมภาษณ์ถึงความพร้อมการเตรียมสถานที่รองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นว่า ช่วง 10 วันที่ผ่านมาเฉลี่ยผู้ติดเชื้อใน กทม.อยู่ที่ประมาณ 3,000 คน นายกฯกับ รมว.มหาดไทย สั่งการตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมาให้เพิ่มศูนย์รองรับ ศูนย์พักคอยมีพอแน่นอน แต่ส่วนของ รพ.ค่อนข้างเหลือน้อยและยังไม่น่าหนักใจ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยสีเขียว มีอาการไม่รุนแรง เมื่อถามว่า ขณะนี้มีภาพผู้ป่วยใน กทม.ที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจำนวนมาก พล.ต.อ.อัศวินตอบว่า ไม่มี ให้โทร.แจ้งได้ ศูนย์เอราวัณกทม. มีรถรับส่ง แต่ป่วยสีเขียวบางคนถ้าให้ไปอยู่โรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักคอยชุมชนจะไม่ไป เพราะอยากไป รพ.หรืออยากรักษาตัวที่โรงแรม เพราะสะดวกสบายกว่า

“อัศวิน” โล่งผล RT-PCR เป็นลบ

ในส่วนที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ต้องกลายเป็นผู้มีความเสี่ยง หลังจากไปทำงานใกล้ชิดกับนายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร ที่ติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ พล.ต.อ.อัศวินขอเลื่อนภารกิจพิธีเปิดเดินเรือส่วนต่อขยายคลองแสนแสบ ช่วงวัดศรีบุญเรือง-มีนบุรี ที่ต้องมาเป็นประธานในวันที่ 24ก.พ.ออกไป ส่วนการเดินเรือส่วนต่อขยายคลองแสนแสบฯ ยังเปิดให้บริการตามปกติ ต่อมาเย็นวันเดียวกันผลการตรวจแบบ RT-PCR ของ พล.ต.อ.อัศวิน ออกมาเป็นลบ ไม่ได้มีการติดเชื้อโควิดแต่อย่างใด

แจงเหตุทิ้งผู้ป่วยหน้าวัด

บ่ายวันเดียวกัน นายพันธ์ศักดิ์ เจริญสุขผอ.เขตคลองสามวา กทม. กล่าวถึงกรณีมีข่าวเจ้าหน้าที่เขตคลองสามวา นำผู้ติดเชื้อโควิด-19 มาปล่อยไว้ที่ศาลาข้างถนนหน้าวัดสุทธิสะอาด ว่า ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบเป็นแรงงานภายในวัด นายจ้างต้องการรับตัวไปทำงานพื้นที่อื่นและตรวจหาเชื้อโควิด- 19 ด้วยชุดตรวจ ATK พบผลเป็นบวก เลยต้องแยกกักตัวจากที่พักภายในวัด พระในวัดได้ติดต่อสายด่วนโควิด (EOC) ของเขตให้นำเข้ารักษาที่ศูนย์พักคอยของเขต แต่ผู้ติดเชื้อรายนี้มีที่พักอยู่ภายในวัด จึงต้องแยกออกมาพักที่ศาลาหน้าวัดเป็นการส่วนตัว โดยได้แจ้งเจ้าหน้าที่ EOC ให้ส่งที่จุดดังกล่าว ทำให้เกิดการเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเจ้าหน้าที่มาส่งไว้ที่ศาลาข้างถนนหน้าวัด

เกรท-วรินทรกับอาเล็กป่วยด้วย

ด้านสถานการณ์โควิด-19 ของคนวงการบันเทิงยังมีติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเมื่อ 23 ก.พ.พระเอกชื่อดังช่อง 3 “เกรท-วรินทร ปัญหกาญจน์” และ “อาเล็ก-ธีรเดช เมธาวรายุทธ” โพสต์ IGแจ้งว่าติดเชื้อโควิด-19 โดยเกรท-วรินทรระบุว่า หลังทราบว่าเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงก็กักตัวเองแล้วมีอาการเจ็บคอ ไข้ต่ำๆ เมื่อไปตรวจ RT-PCR เช้าวันที่ 22 ก.พ. ผลพบติดโควิด-19 ขณะนี้รักษาแบบโฮมไอโซเลชันหรือ HI ขณะที่อาเล็ก-ธีรเดชระบุว่า หลังไปตรวจหาเชื้อโควิดแบบ RT-PCR ผลพบเชื้อและรักษาตัวแบบ HI เช่นกัน ด้าน “แชป-วรากร ศวัสกร”พระเอกช่อง 7 แจ้งว่าติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งนักแสดงหนุ่ม “จ๊อบ-ธัชพล กู้วงศ์บัณฑิต” และ “ป๊อป-ฐากูร การทิพย์” ก็ติดเชื้อโควิด-19

นักร้องติดเชื้อกันระนาว

วงการเพลงศิลปินนักร้องพบว่ามีผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง เช่น “เจ-เจตริน วรรธนะสิน” แจ้งว่าติดเชื้อโควิด-19 หลังเช้าวันที่ 22 ก.พ. มีอาการมึนหัวเล็กน้อยและมีไข้ต่ำๆ จึงตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR ผลพบเชื้อ อาการโดยรวมเหมือนปกติ แม้ฉีดวัคซีนมาแล้ว 4 เข็ม แต่ทุกอย่างเกิดขึ้นได้การติดเชื้อน่าจะเกิดจากการเผลอไปสัมผัสระหว่างการแสดงคอนเสิร์ต รวมทั้งศิลปินนักร้อง “ส้ม มารี” หรือมารี เออเจนี เลอเลย์ ก็ประกาศติดเชื้อโควิด-19 หลังไปตรวจแบบ RT-PCR และผลออกมายืนยัน รวมทั้งค่ายเพลง“เลิฟอิส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์” แจ้งว่านักร้องสาว“ว่าน วันวาน” หรือรัชยาวีร์ วีระสุทธิมาศ ติดเชื้อโควิด-19 และเป็นผู้ป่วยสีเขียว รวมทั้งโปเต้ นักร้องนำวง MEANหรือ ปิยะพงษ์ เล็กประยูร ก็ตรวจพบเชื้อโควิด-19เช่นกัน

นักแสดง “มิ้นท์” ติดด้วย

ต่อมาเวลา 18.30 น. นักแสดงสาว “มิ้นท์-ณัฐวรา วงศ์วาสนา” ได้โพสต์ข้อความแจ้งว่าติดเชื้อโควิด-19 หลังทราบข่าวตัวเองใกล้ชิดและสัมผัสผู้ติดเชื้อ จึงไปตรวจ RT-PCR ผลออกมาคือติดเชื้อโควิด-19 ได้เข้ารับการรักษาและปฏิบัติตามมาตรการที่ถูกต้อง

แม่ลูกป่วยคู่ได้ รพ.รักษาแล้ว

ที่ จ.นนทบุรี หลังจาก น.ส.นภัสสร อายุ 26 ปีและลูกสาววัยขวบเศษ พักอยู่ที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง ตรงข้ามวัดเฉลิมพระเกียรติ ถนนท่าน้ำ-วัดโบสถ์ ต.บางศรีเมือง อ.เมืองนนทบุรี ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ทั้งแม่ลูกจนต้องมายืนริมระเบียงโบกผ้าขอความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี ให้ช่วยรับตัวไปรักษา เพราะลูกสาวมีอาการไอไข้สูง กินนมไม่ได้ โดยก่อนหน้า น.ส.นภัสสรได้ไปตรวจหาเชื้อโควิดที่ รพ.เอกชนและกลับมาพักที่คอนโด ต่อมา รพ.แจ้งว่าติดเชื้อโควิดทั้ง 2 คนจึงได้กักตัวรักษา แต่ลูกสาวอาการไม่ดี จึงอยากเข้ารักษาตามระบบ ล่าสุดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี ทราบเรื่องได้ตรวจสอบข้อมูลสิทธิ์การรักษาพบว่า น.ส.นภัสสรมีสิทธิ์รักษาที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ จึงได้ประสานเข้ารับตัวไปรักษาแล้ว ส่วนยอดผู้ป่วยทั้งจังหวัดในวันที่ 23 ก.พ.มีรวม 761 ราย พื้นที่ อ.เมืองนนทบุรีมีผู้ป่วยมากสุดถึง 256 ราย รองลงมาอ.ปากเกร็ด 162 ราย และ อ.บางบัวทอง 100 ราย ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา กลุ่มค้าขายตลาดและกลุ่มพนักงานบริษัท

เด็กแพร่เชื้อน้อยกว่าผู้ใหญ่

วันเดียวกัน มหาวิทยาลัยการแพทย์ชาริที ในเยอรมนี เผยผลการศึกษาผ่านวารสารการแพทย์รอยัล โซไซตี้ อินเตอร์เฟซ หลังพบหลักฐานที่บ่งชี้ว่าทำไมเด็กนักเรียนประถมถึงมีอัตราการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ต่ำ โดยจากการสังเกตการณ์เด็กวัย 8-10 ปี ได้พบว่าปริมาณละอองฝอยที่เกิดจากการหายใจและการพูดคุย ซึ่งเป็นตัวการกระจายเชื้อมีน้อยกว่าผู้ใหญ่ 4 เท่า ทั้งยังพบอีกว่าสิ่งที่จะสร้างละอองฝอยได้มากที่สุดคือการตะโกน ตามด้วยร้องเพลง พูดคุย และหายใจ ตามลำดับ

ซิโนฟาร์มกระตุ้นผลไม่ต่าง

มหาวิทยาลัยซุน ยัต เซน ในมณฑลกวางตุ้งของจีน เผยงานวิจัยเบื้องต้นว่า การฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มเข็มที่ 3 จะมีประสิทธิภาพลดลงกว่า 53% หลังเวลาผ่านไป 6 เดือน การฉีดเข็มที่ 4 ด้วยวัคซีนซิโนฟาร์มห่างจากเข็ม 3 เป็นเวลา 6 เดือน ไม่ได้ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันในปริมาณมากพอที่จะรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอน ยังคงมีระดับภูมิคุ้มกันใกล้เคียงกับการฉีดเข็ม 3 ส่วนรัฐบาลเกาหลีใต้ตรวจพบผู้ติดเชื้อในวันเดียวทำสถิติสูงสุด 171,452 คน พุ่งสูงจาก 1 วันก่อนที่ตรวจพบ 99,573 คน แต่ประกาศเตือนประชาชนอย่าตื่นตระหนก เพราะอัตราเสียชีวิตและล้มป่วยรุนแรงอยู่ในจุดที่ควบคุมได้ ขณะที่สิงคโปร์รายงานการตรวจพบผู้ติดเชื้อทำสถิติ 26,032 คน พร้อมระบุว่าขณะนี้มีผู้ป่วยรับการรักษาตัวในโรงพยาบาล 1,608 คน ในจำนวนนี้ 190 คน ต้องให้ออกซิเจน และมีอีก 46 คนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ