- แยกออกไหม "กบ เขียด ปาด คางคก" หน้าตาคล้ายกันแต่ไม่เหมือนกัน บางชนิดหน้าตาไม่สวยงามแต่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ
- ข่าวดี ค้นพบ เขียดชนิดใหม่ของโลก หลังจำนวนลดลงจนถูกขึ้นบัญชีเป็น "สัตว์ใกล้สูญพันธุ์"
- รู้จัก กบลำธารพะโค - กบป่าไผ่พะโค หลังถูกค้นพบเป็น "กบลำธารชนิดใหม่ของโลก" ที่เมียนมา
กบ เขียด ปาด คางคก สัตว์สะเทินบกสะเทินน้ำที่หลายคนคุ้นเคยกันดี สามารถพบเห็นได้ทั่วไป แต่บางครั้งก็ทำให้สับสน เพราะแต่ละตัว มีความคล้ายกันมาก จากข้อมูลของ ส่วนวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้ ได้เปิดเผยข้อมูลความแตกต่างของ กบ เขียด ปาด คางคก ไว้ดังนี้
- กบ ไม่มีหาง ตีนแบนมีหนังติดเป็นพืด กระโดดได้ไกล ว่ายน้ําดำน้ําได้เร็ว มักวางไข่ในน้ํา เมื่อยังเป็นตัวอ่อนจะมีหาง อยู่ในน้ําเรียกว่า ลูกอ๊อด ภายหลังจึงงอกขา หางหดหายไป แล้วขึ้นอาศัยบนบก หน้าแล้งอยู่แต่ในรู ไม่ออกหาอาหารชั่วคราว เรียกว่า กบจําศีล มีหลายชนิด เช่น กบนา
- เขียด สัตว์สะเทินน้ําสะเทินบกรูปร่างคล้ายกบ ในประเทศไทยมีหลายชนิด เช่น เขียดอ๋อง เขียดจิก เขียดบัว
- คางคก รูปร่างคล้ายกบ ผิวหนังเป็นตุ่มขรุขระ ภายในตุ่มมียางเหนียวซึ่งมีพิษต่อเนื้อเยื่ออ่อน เรียกว่า ยางขาว เคลื่อนที่โดยการย่างเดินและกระโดดหย่งๆ ในประเทศไทยมีหลายชนิด เช่น คางคกบ้าน
- อึ่ง ขนาดแตกต่างกันแล้วแต่ชนิดอยู่ระหว่าง 2-8 เซนติเมตร รูปร่างอ้วนป้อมและมักพองตัวได้ ส่วนใหญ่เป็นสีเทาหรือน้ําตาลเข้ม ผิวหนังเรียบ บริเวณฝ่าตีนมีสันแข็งใช้ขุดดิน อาศัยอยู่ใต้ผิวดินหรือใต้ก้อนหินในเวลากลางวันและในฤดูแล้ง ออกหากินตามพื้นดิน เมื่ออากาศขึ้นโดยเฉพาะช่วงหลังฝนตก กินแมลงและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น อึ่งอ่างบ้าน อึ่งลาย
...
- ปาด รูปร่างใกล้เคียงกับกบหรือเขียด ขายาว ขาคู่หลังยาวกว่าขาคู่หน้ามาก ปลายนิ้วเป็นปุ่มแบนสามารถยึดเกาะติดกับพื้นผิวหน้าเรียบได้ มักพบอาศัยอยู่ตามต้นไม้ ตัวผู้ทํากองฟองสําหรับตัวเมียวางไข่ไว้ตามกิ่งไม้เหนือชายน้ํา กินแมลง เช่น ปาดบ้าน ซึ่งพบทั่วไป
แม้ว่าบางคนจะไม่ค่อยถูกตากับ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก แต่รู้หรือไม่ สัตว์ประเภทนี้เป็นสัญญาณความสมบูรณ์และสมดุลของระบบนิเวศ แต่ที่ผ่านมา ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศทำให้สัตว์ประเภทนี้โดยเฉพาะ "เขียด" มีจำนวนลดลงอย่างมากจนถูกขึ้นบัญชีเป็น "สัตว์ใกล้สูญพันธุ์"
แต่ไม่นานมานี้มีข่าวดี หลังจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักวิจัยเยอรมัน ค้นพบ "เขียดชนิดใหม่ของโลก" ในประเทศเมียนมา ได้รับการประกาศชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Phrynoglossus myanhessei เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
โดยคำว่า myan มาจาก Myanmar ส่วน hessei มาจากชื่อรัฐ Hesse ในเยอรมนี ที่สนับสนุนงบและอำนวยความสะดวกตลอดระยะเวลาการวิจัยในเมียนมา
สำหรับเขียดชนิดใหม่นี้มีเสียงร้องที่ใหญ่ ไม่แหลมเหมือนเขียดทั่วไป ขนาดตัวเล็ก ผิวหนังค่อนข้างลื่นกว่าเขียดชนิดอื่น เท้ามีพังผืดเต็มเท้าเนื่องจากอาศัยอยู่ริมน้ำ ในไทยก็มีเขียดลักษณะคล้ายคลึงกันนี้ด้วยแต่คนละสายพันธุ์
ข่าวดีค้นพบ "กบลำธาร" ที่ประเทศเมียนมา
นอกจากการค้นพบเขียดชนิดใหม่แล้ว ในเวลาไล่เลี่ยกันยังมีการค้นพบกบลำธารชนิดใหม่ของโลกอีก 2 ชนิด ที่เขตพะโค ทางตอนเหนือของเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา
ดร.ภาณุพงศ์ ธรรมโชติ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้วิจัยสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกในภูมิภาคนี้มาอย่างต่อเนื่อง ระบุว่า การค้นพบสิ่งมีชีวิตเช่นเขียดและกบลำธารในประเทศเมียนมานับเป็นภาพสะท้อนความหลากหลายทางชีวภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทุกฝ่ายควรตระหนักและร่วมอนุรักษ์ให้คงอยู่ต่อไป
...
สำหรับการค้นพบกบลำธารชนิดใหม่ของโลกในครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือของทีมวิจัย 3 ประเทศ คือ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยอีสต์ย่างกุ้ง (East Yangon University) ประเทศเมียนมา และสถาบัน Senckenberg Forschungs institut und Naturmuseum ประเทศเยอรมนี นำโดย Prof.Dr.Gunther Köhler ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานและเทคโนโลยีจีโนมของสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก
ดร.ภาณุพงศ์ เล่าว่า เราใช้เวลาศึกษาวิจัยกว่า 2 ปี ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ไปกับการเก็บตัวอย่างกบในพื้นที่ทั้งไทยและเมียนมาให้ได้ครบตามจำนวนที่ตั้งไว้จากนั้นจึงส่งตัวอย่างไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการที่ศูนย์วิจัย Senckenberg ประเทศเยอรมนี
โดยนำความรู้ทางฟิสิกส์มาประยุกต์ใช้ทางชีววิทยา ทำการตรวจสอบ DNA ศึกษาโครงสร้างเสียงร้องของกบ รวมทั้งศึกษาจีโนมหรือข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งหมดของกบ จนพบกบชนิดใหม่ของโลกถึง 2 ชนิด ซึ่งได้รับการเผยแพร่ในวารสาร Diversity ซึ่งเป็นวารสารวิชาการระดับนานาชาติ เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา
รู้จักกบลำธารชนิดใหม่ของโลก
...
ดร.ภาณุพงศ์ อธิบายถึงลักษณะทั่วไปของกบลำธารว่า กบลำธารอาศัยอยู่ในลำธารในป่าเขตร้อน อย่างในป่าภาคตะวันตกและภาคใต้ของไทย มีขนาดตัว 3-5 เซนติเมตร ลำตัวสีน้ำตาลคล้ายใบไม้เพื่อการพรางตัว กบชนิดนี้จะส่งเสียงร้องเฉพาะเวลากลางคืนเพื่อการผสมพันธุ์ ช่วงที่เป็นลูกอ๊อดจะอาศัยบริเวณลำธารที่น้ำไหลไม่แรง และเมื่อโตเต็มวัยจะอาศัยอยู่ข้างลำธารและพบมากในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูสืบพันธุ์
สำหรับกบลำธาร 2 ชนิดใหม่ของโลกที่เพิ่งค้นพบนั้น ตัวแรกคือ กบลำธารพะโค หรือมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Limnonectes bagoensis
ส่วนกบอีกชนิดคือ กบป่าไผ่พะโค มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Limnonectes bagoyoma กบทั้งสองชนิดมีลักษณะคล้ายกันคือผิวหนังลื่น มีสีน้ำตาลเข้มหรือสีเขียวมะกอกปน ขาหน้ามี 4 นิ้ว ไม่มีพังผืด ขาหลังมี 5 นิ้ว มีพังผืดสำหรับว่ายน้ำ ผิวหนังด้านหลังค่อนข้างเรียบมีตุ่มหรือสันเพียงเล็กน้อย ผิวหนังด้านท้องสีขาวครีมเรียบไม่มีตุ่ม
...
ส่วนลักษณะที่แตกต่างกันก็คือกบลำธารพะโคจะมีแถบสีดำคาดตั้งแต่ปลายจมูกถึงแผ่นหู และมีขนาดลำตัว 30-49 ซม.ใหญ่กว่ากบป่าไผ่พะโคซึ่งมีขนาด 23-29 ซม.
อย่างไรก็ตาม การค้นพบกบชนิดใหม่ของโลกในครั้งนี้ เป็นดัชนีวัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากกบชนิดนี้จะอาศัยในแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่สะอาดและมีน้ำไหลตลอดเวลาจึงจะพบได้เฉพาะในลำธารที่มีความอุดมสมบูรณ์เท่านั้น
ดร.ภาณุพงศ์ กล่าวว่า แม้กบลำธารจะยังคงมีอยู่ แต่ก็ไม่มากนัก หากการตัดไม้ทำลายป่ายังคงดำเนินต่อไป การเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ป่าก็อาจทำให้กบเหล่านี้สูญพันธุ์ได้ในที่สุด เราหวังว่าองค์ความรู้จากการวิจัยในครั้งนี้จะทำให้คนเห็นความสำคัญของป่าไม้ ไม่ตัดไม้ทำลายป่า และหาแนวทางพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้เหมาะสมและเป็นการอนุรักษ์ป่าด้วย
อนาคตการค้นพบสัตว์ชนิดใหม่
หลังจากนี้ ดร.ภาณุพงศ์ จะวิจัยเพิ่มเติมเรื่องกบลำธารและกบทางภาคใต้ของประเทศไทยซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับกบที่พบในประเทศเมียนมา รวมทั้งศึกษาวิจัยสัตว์เลื้อยคลานชนิดอื่นๆ เช่น จิ้งเหลนชนิดใหม่ของโลกที่อาศัยอยู่บนภูเขาในประเทศอินโดนีเซีย งูปี่แก้ว ซึ่งเป็นงูไม่มีพิษแต่ชอบกินไข่งู ที่มีพิษ และงูกะปะซึ่งเป็นงูที่มีพิษรุนแรงและมักพบข่าวคนถูกงูชนิดนี้กัดจำนวนมาก เป็นต้น
"การค้นพบสัตว์ชนิดใหม่ๆ ถือเป็นดัชนีวัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าในภูมิภาคบ้านเราซึ่งเราเชื่อว่ายังมีสิ่งมีชีวิตประเภทสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกอีกมากที่รอให้เราค้นพบและเรียนรู้ การศึกษาวิจัยเรื่องสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกทำให้เห็นถึงความสำคัญของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ที่อยู่ร่วมกับมนุษย์ในระบบนิเวศ
สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกบางชนิดมีประโยชน์ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แม้รูปร่างหน้าตาของสัตว์ประเภทนี้จะไม่สวยงามเหมือนสัตว์ชนิดอื่นๆ สัตว์บางชนิดอาจมีพิษที่อันตราย แต่สัตว์เหล่านี้มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ การศึกษาวิจัยธรรมชาติวิทยาและชีววิทยา รวมถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์เหล่านี้จะช่วยให้มนุษย์เราสามารถรักษาสมดุลของระบบนิเวศได้อย่างยั่งยืน"
ผู้เขียน : J. Mashare
กราฟฟิก : Anon Chantanant
ข้อมูลจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,