รองอธิบดีกรมอนามัย รับ เด็กช่วงปฐมวัยติดโควิดเพิ่มขึ้น ปัจจุบัน ติดเชื้อแล้ว กว่า 1 แสนราย เสียชีวิต 29 ราย สาเหตุจากคนในครอบครัวแพร่เชื้อ แนะต่ำกว่า 1 ขวบ มีโรคประจำตัวต้องระวังเป็นพิเศษ

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 เมื่อเวลา 13.30 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย และนายแพทย์ธีรชัย บุญยะลีพรรณ รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ กรมอนามัย ร่วมกันแถลงข่าวประเด็น ดูแลป้องกันอย่างไร เมื่อเด็กปฐมวัยติดเชื้อ โควิด-19
นายแพทย์เอกชัย กล่าวว่า การติดเชื้อในวันนี้ค่อนข้างสูง แต่ถ้าพิจารณาในตัวเลขของเด็กปฐมวัย แรกเกิดถึง 5 ขวบ ในช่วงที่ผ่านมาก็มีการติดเชื้อสูงตามกลุ่มวัยอื่นๆ เช่นกัน โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าเด็กกลุ่มนี้มีการติดเชื้อสูงกว่า 6,000 ราย หากดูการติดเชื้อในรอบล่าสุดสายพันธุ์โอมิครอน ตั้งแต่เดือนมกราคม จะพบว่าเด็กกลุ่มนี้ติดเชื้อเพียงแค่สัปดาห์ละพันกว่าราย จากนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 2-3 พันราย แต่เมื่อดูย้อนหลังตั้งแต่มีการระบาดระลอกที่ 3 เดือนเมษายน ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ไทยมีผู้ป่วยสะสมในเด็กกลุ่มนี้แล้ว 107,059 ราย หรือคิดเป็น 5% ของการติดเชื้อทั้งหมด และมีการเสียชีวิต 29 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เด็กมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ขณะที่สาเหตุการติดเชื้อของเด็กวัยปฐมวัย มาจากการติดเชื้อในครอบครัว อีกทั้งไม่มีวัคซีน

...

ส่วนผลการสำรวจ Anamai Event poll เรื่องความกังวลและพฤติกรรมการป้องกันโรคโควิด-19 ในบ้าน พบว่า มีการประเมินความเสี่ยงของคนในครอบครัวที่มาจากนอกบ้านเพียง 28% และไม่มีการประเมินสูงถึง 72% จึงแนะนำว่าหากมีกลุ่มเปราะบางในบ้านควรประเมินตนเอง ส่วนการแยกใช้อุปกรณ์ส่วนตัวกับผู้อื่น ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่จับร่วมกัน และไม่กินอาหารร่วมกัน พบว่าทำได้ต่ำกว่า 50% และการแยกใช้ห้องน้ำ ก็พบว่าทำไม่ได้ถึง 59% จึงขอให้ระมัดระวังจุดสัมผัส ส่วนเหตุผลและข้อจำกัดที่ไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคภาคในบ้านได้ พบว่าในเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย เพราะไม่ชิน อึดอัด มั่นใจว่าในบ้านไม่มีเชื้อ ขณะที่การเว้นระยะห่าง พบว่ามีข้อจำกัดเรื่องเนื้อที่ และการกินอาหารร่วมกัน พบว่าเพราะอาหารไม่พอถ้าต้องแยกกัน ดังนั้นหากทำไม่ได้คนในครอบครัวต้องไปฉีดวัคซีนเพื่อให้มีภูมิคุ้มกัน พยายามหลีกเลี่ยงไปในที่แออัด เช่น ร้านอาหารแบบปิด

นอกจากนี้ ควรสอนเด็กให้ล้างมือเป็นลักษณะนิสัย ส่วนเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ไม่แนะนำให้ใส่หน้ากาอนามัยให้เพราะเด็กยังไม่รู้จักเอาหน้ากากอนามัยออกเองได้ ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสบ่อยๆ และคอยสังเกตดูแลสุขภาพเด็กอยู่เสมอ ไม่พาเด็กไปที่เสี่ยง และกลุ่มที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี และเด็กที่มีโรคประจำตัว