ไร่ภูวาฬ์ติณณ์ บ.ไสขรบ ต.อิปัน อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี เป็นอีกตัวอย่างของการนำ ระบบธนาคารน้ำใต้ดินมาใช้แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำทำเกษตรที่ได้ผล
จากพื้นที่แห้งแล้ง มีน้ำไม่พอเพียงทั้งอุปโภค บริโภค รวมไปถึงทำเกษตร แต่หลังจากทำธนาคารน้ำใต้ดิน ทั้งในแบบบ่อเปิดและบ่อปิด กระจายไปทั่วในพื้นที่ 80 ไร่ ใช้เวลารอรับน้ำฝนแค่ฤดูเดียว ผืนดินที่ขาดแคลนน้ำกลับมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ แถมยังทำให้พื้นที่ทำเกษตรของเพื่อนบ้านในรัศมี 1 กม.จากไร่ภูวาฬ์ติณณ์พลอยได้รับอานิสงส์ บ่อน้ำตื้นที่น้ำแห้งกลับมีน้ำให้สูบน้ำมาใช้ได้ตลอดเวลาอีกด้วย
“แม้หมู่บ้านเราจะอยู่ในดินแดนที่เรียกกันว่าฝน 8 แดด 4 มีฝนตกมากก็จริง แต่เนื่องจากหมู่บ้านเราตั้งอยู่บนที่ราบสูง ฝนตกลงน้ำไหลลงคลอง ลงแม่น้ำตาปี ออกทะเลไปหมด เพราะไม่มี แหล่งเก็บกักน้ำ ครั้นจะขุดเจาะบ่อบาดาล เจาะลึก 200-300 ม. ยังไม่เจอน้ำเลย น้ำที่มีให้ใช้จะเป็นบ่อน้ำตื้นระดับ 20 ม. แต่มีให้ใช้ได้ไม่ตลอดทั้งปี หมดหน้าฝน หลังเดือนกุมภาพันธ์ไปแล้ว บ่อน้ำตื้นจะแห้งไป 5-6 เดือน ต้องรอจนกว่าฤดูฝนใหม่มานั่นแหละถึงจะมีน้ำใช้กัน ระหว่างที่รอฝนเราต้องซื้อน้ำ 200 ลิตร ราคา 250 บาท มาใช้กันทุกปี”
...
น.ส.ณัญช์สรัล สุขใจ เจ้าของไร่ภูวาฬ์ ติณณ์ วัย 34 ปี เล่าถึงสภาพปัญหาขาดแคลนน้ำที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านของตัวเองที่มีมานานหลายสิบปี ประกอบกับมีความคิดสร้างสรรค์จะปลุกฟื้นชีวิตชาวบ้านให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จะสร้างตลาดชุมชน สร้างกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวให้หมู่บ้านคึกคักเศรษฐกิจดีขึ้น ด้วยการสร้างแหล่งอนุรักษ์ควายพันธุ์เขาหวาย ควายหายากของภาคใต้ แต่ปรากฏว่าทุกกิจกรรมที่จะทำขึ้นมาได้ล้วนต้องพึ่งพาน้ำทั้งสิ้น โดยเฉพาะควายพันธุ์เขาหวายที่นำมาเลี้ยงไว้ 30 ตัว ต้องการน้ำไว้กิน ไว้อาบและเล่นน้ำ
“จุดนี้เองทำให้หนูเริ่มหาวิธีแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เริ่มจากค้นหาข้อมูลในโลกอินเตอร์เน็ตด้วยคำว่าน้ำใต้ดิน แต่กลับมีคำว่าธนาคารน้ำใต้ดินขึ้นมาให้เห็น หลังจากศึกษาข้อมูลรายละเอียดเบื้องต้น หนูเลยตัดสินใจสมัครเข้าโครงการอบรมเรียนรู้เรื่องธนาคารน้ำใต้ดินของ หลวงพ่อสมาน สิริปัญโญ วัดอาฮงศิลาวาส จ.บึงกาฬ กลับมาเริ่มลงทุนทำธนาคารน้ำใต้ดินในพื้นที่ 80 ไร่ เมื่อปี 2563 ด้วยทุนของ ตัวเองทั้งหมด พร้อมกับติดต่อให้ อ.โกวิทย์ ดอกไม้ ผู้เชี่ยวชาญระบบธนาคารน้ำใต้ดิน ให้มาดูพื้นที่และวางพิกัดตำแหน่งของระบบบ่อปิด 34 บ่อ และระบบบ่อเปิดอีก 5 บ่อเพื่อรอรับน้ำซับที่ไหลซึมมาจากระบบบ่อปิด”
สำหรับการทำระบบบ่อปิดของที่นี่จะไม่เหมือนที่อื่น ที่จะขุดกันขนาด กว้าง 1-2 ม. ลึก 1-2 ม. แต่ที่ไร่ภูวาฬ์ติณณ์มีขุดกันหลายขนาด ความกว้างมีตั้งแต่ 50 ซม.-2 ม. ลึก 50 ซม.-3 ม. ยาวมีตั้งแต่ 1 ม. ไป 6 ม. ภายในหลุมที่ขุดจะใส่ท่อนต้นปาล์ม ตามด้วยหิน กรวดแม่น้ำและท่อระบายอากาศ ปูปิดทับด้วยตาข่ายตาถี่เพื่อกันดินไหลลงไปทำให้บ่อปิดตัน
ส่วนระบบบ่อเปิด 5 บ่อ จะมีขนาดกว้างยาวไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับความ สวยงาม และความต้องการใช้งาน แต่จะมีความลึกที่เท่ากัน นั่นคือขุดไปให้ลึกจนถึงชั้นดินเหนียว
โดยแต่ละบ่อจะวางตำแหน่งไว้ตามทิศทาง บ่อที่ 1 ขุดขึ้นในทิศเหนือของไร่ บ่อที่ 2 ทิศตะวันตก บ่อที่ 3 ทิศตะวันออก บ่อที่ 4 ทิศตะวัน ออกเฉียงเหนือ บ่อที่ 5 ตั้งอยู่ในตำแหน่งระหว่างกลางบ่อทั้งสี่จุด...การขุดบ่อแต่ละจุดจะห่างกัน 0.5–1 กม.
หลังจากใช้เวลาทำธนาคารน้ำใต้ดินเสร็จในปี 2564 เพียงแค่รอน้ำจากฟ้าในฤดูฝนที่เพิ่งจะผ่านมา น.ส.ณัญช์สรัลเล่าถึงปรากฏ การณ์ที่ตัวเองไม่เคยได้เห็น นั่นคือมีน้ำจากใต้ดินผุดขึ้นมาบนถนนในไร่ ดินในไร่ชุ่มชื้น น้ำในบ่อเปิดเต็มทุกบ่อ
...
ถึงวันนี้ฤดูฝนผ่านไปแล้วกำลังเข้าสู่ฤดูแล้งเต็มขั้น น้ำในบ่อเปิดถูกสูบใช้ไปบ้างแล้ว แต่น้ำยังไม่หดหายไป แถมยังมีไหลซึมมาล้นบ่อเปิด จนต้องระบายแจกจ่ายไปให้เพื่อนบ้านได้มีน้ำใช้กันอย่างแช่มชื่น
เกษตรกรที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ รอแล้วรอเล่ารอให้หน่วยราชการเข้ามาแก้ไข จนรอไม่ไหว สนใจจะพึ่งพาตัวเองแบบเดียวกับ น.ส.ณัญช์สรัล หรือ น้องเฟิร์น สนใจจะไปศึกษาเรียนรู้ติดต่อไปได้ที่ โทร.06-3664- 6595 หรือเฟซบุ๊ก : บ้านไร่ภูวาฬ์ติณณ์.
...
ชาติชาย ศิริพัฒน์