รัฐบาล แจงข้อสงสัยเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำ ชี้เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 18 ล้านไร่ ย้ำไม่เก็บค่าน้ำเกษตรกร เพื่อดำรงชีพ อุปโภคบริโภคในครัวเรือน

เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 65 พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สั่งชี้แจงกรณีการเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามที่พรรคฝ่ายค้านได้ซักถามเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำของรัฐบาล

โดยทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ให้ข้อมูลว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างด้านน้ำ โดยเพิ่มพื้นที่ชลประทานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันมีพื้นที่ที่พัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทานแล้ว 33.92 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 22.7 ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด และมีเป้าหมายที่จะพัฒนาพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นอีก 18 ล้านไร่ภายในปี 2580 ตามแผนแม่บทน้ำ 20 ปี โดยตั้งแต่ปี 2561-2564 เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้แล้ว 1.17 ล้านไร่ ขณะเดียวกัน ยังปรับปรุงแหล่งน้ำธรรมชาติ ขยายระบบประปา และวางระบบการป้องกันน้ำท่วมภัยแล้ง ครอบคลุมทั่วทุกภาคของประเทศ 

สำหรับการพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝน รัฐบาลได้มุ่งเน้นการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ พัฒนาน้ำบาดาล สระน้ำในไร่นา โคกหนองนาโมเดล เพื่อสนับสนุนการอุปโภค-บริโภค และการเกษตรอย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลักให้เป็นไปตามความต้องการและการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่

ขณะเดียวกัน รัฐบาล ยังใช้กลไกการบูรณาการหน่วยงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนมาตรการในเชิงป้องกันและผลกระทบเมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤติด้านน้ำ ทั้งภัยน้ำท่วมหรือภัยแล้ง เช่น การประเมินพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม การเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วม-ภัยแล้ง อาทิ 10 มาตรการฤดูฝน ปี 2564 และ 9 มาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง

ปี 2564/2565 ที่สำคัญรัฐบาลได้จัดสรรงบกลางในด้านน้ำเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉินหรือจำเป็นเท่านั้น เช่น ในปี 2563 ได้นำมาใช้แก้ไขปัญหาภัยแล้งและการป้องกันน้ำท่วม สามารถดำเนินได้ถึง 20,824 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 76 จังหวัด เพิ่มปริมาณน้ำได้ 1,057 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์กว่า 7.58 ล้านไร่ เช่นเดียวกับปี 2564 ที่ผ่านมามีทั้งสิ้น 6,206 โครงการ สามารถน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้น 49.95 ล้าน ลบ.ม. ได้ปริมาณน้ำบาดาล 44 ล้าน ลบ.ม. มีครัวเรือนรับประโยชน์ 364,167 ครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์ 507,849 ไร่ ถือเป็นการใช้งบกลางอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติม ในเรื่องการจัดเก็บค่าน้ำ ที่จะกระทบถึงประชาชนและเกษตรกรรายย่อยนั้น ว่า พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้ใช้น้ำประเภทที่ 1 ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการดำรงชีพ อุปโภคบริโภคในครัวเรือน ทำเกษตรหรือเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ รวมถึงอุตสาหกรรมในครัวเรือน รักษาระบบนิเวศ จารีตประเพณี บรรเทาสาธารณภัย คมนาคม และการใช้น้ำในปริมาณเล็กน้อย ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตการใช้น้ำและไม่ต้องชำระค่าใช้น้ำแต่อย่างใด ดังนั้น จึงไม่มีการเก็บค่าน้ำจากเกษตรกรอย่างแน่นอน แต่จะเก็บเฉพาะประเภทที่ 2 คือ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรม และประเภทที่ 3 การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก โดยกำหนดอัตราค่าใช้น้ำจะมีความเป็นธรรม ไม่แสวงหากำไร เป็นการดำเนินการเพื่อให้ผู้ใช้น้ำได้มีจิตสำนึกในการใช้น้ำร่วมกันอย่างประหยัดเท่านั้น

โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำร่างกฎหมายลำดับรองในการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดเก็บค่าน้ำประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 ที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำฯ ซึ่งต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป.

...