ปลัด สธ.ประกาศเตือนภัยโควิด-19 ระดับ 4 ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อควบคุมสถานการณ์ การแพร่ระบาด ศบค. แถลงพบผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งกว่า 18,000 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 32 ราย ขณะที่คลัสเตอร์ใหม่ลามหลายจุดทั่วประเทศ ยันยังไม่มีการล็อกดาวน์ วอนอย่าตระหนกตามนักวิชาการ คนบันเทิงติดเชื้อรายวันอีก 7 ราย มธ.ศูนย์รังสิตพัฒนาต้นแบบชุดตรวจแอนติบอดี แบบเจาะเลือดปลายนิ้ว หาเชื้อผู้ไม่มีอาการ ขณะที่พบคลัสเตอร์กีฬาสีโรงเรียนที่ จ.สุรินทร์ ส่วนบุรีรัมย์สั่งปิดโรงเรียนแล้วกว่า 1,500 แห่ง

ยอดผู้เสียชีวิตและติดเชื้อโควิดรายวันยังพุ่งสูงอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขรณรงค์ให้เร่งการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้มากที่สุด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

ติดเชื้อ 1.8 หมื่นราย

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 21 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18,883 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 18,704 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 18,618 ราย จากการค้นหาเชิงรุก 86 ราย จากเรือนจำ 17 ราย มาจากต่างประเทศ 162 ราย หายป่วยเพิ่ม 14,914 ราย อยู่ระหว่างรักษา 166,397 ราย อาการหนัก 796 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 202 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 32 ราย เป็นชาย 13 ราย หญิง 19 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 25 ราย มีโรคเรื้อรัง 7 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยัน 2,731,198 ราย มียอดหายป่วยสะสม 2,542,145 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 22,656 ราย และยอดฉีดวัคซีนรวม 121,725,326 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 424,990,285 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 5,906,093 ราย

...

สั่งเข้มพื้นที่ระบาดซ้ำซาก

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า 10 จังหวัด ที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดได้แก่ กทม. 2,753 ราย นครศรีธรรมราช 960 ราย สมุทรปราการ 926 ราย ชลบุรี 884 ราย นนทบุรี 852 ราย ภูเก็ต 628 ราย นครศรีธรรมราช 563 ราย ระยอง 475 ราย นครปฐม 429 ราย บุรีรัมย์ 421 ราย ปทุมธานี 421 ราย คลัสเตอร์ที่พบวันนี้ยังพบร้านอาหารที่เปิดขายเครื่องดื่มแอลกอ ฮอล์ในพื้นที่ จ.สงขลา ขอนแก่น คลัสเตอร์โรงเรียน ที่ จ.น่าน หนองคาย เลย สุพรรณบุรี นครราชสีมา สุรินทร์ ร้อยเอ็ด จันทบุรี หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ พะเยา คลัสเตอร์ตลาดที่ จ.นครราชสีมา อุบลราชธานี นครพนม จันทบุรี สุรินทร์ เพชรบุรี คลัสเตอร์พิธีกรรม พบที่ จ.มุกดาหาร กาฬสินธุ์ หนองคาย ทั้งนี้ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถาน การณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เน้นย้ำไปที่ฝ่ายปกครอง ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้ติดตามเฝ้าระวังพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดซ้ำ เช่น ตลาด ขอให้เข้าไปเข้มงวดมาตรการ เพราะหลายแห่งมีการติดแล้วติดอีก นอกจากนี้ยังพบการระบาดในสถานพยาบาล อาทิ รพ.รามาธิบดี รพ.ศิริราช รวมถึงโรงพยาบาลใน จ.สุรินทร์ เชียงใหม่ ขอนแก่น ยะลา การระบาดในสถานพยาบาลจะทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ต้องกักตัวและขาดแคลนบุคลากรในการดูแลประชาชน ขอให้เข้มงวดการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ พร้อมกันนี้ ศบค.อยากให้ประชาชนงดเว้นกิจกรรมรวมกลุ่ม อะไรที่ชะลอได้ขอให้ชะลอไว้ก่อน ถ้าจำเป็นต้องจัดกิจกรรมขอให้เข้มงวดมาตรการ

ผู้ป่วยสีเขียวรักษาตัวที่บ้าน

พญ.อภิสมัยกล่าวอีกว่า กรมการแพทย์รายงานอัตราครองเตียงในปัจจุบันยังมีเพียงพอในการรองรับ ผู้ป่วยหนักและมีโรคประจำตัวใครป่วยเป็นโควิดแล้วมีอาการสีเขียวขอให้เลือกรักษาตัวที่บ้าน เข้าใจว่าผู้ป่วยที่มีอาการน้อยอยากรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพราะอาจไม่มั่นใจระบบการรักษาที่บ้าน ขอความร่วมมือทุกคนให้ช่วยกันพัฒนาระบบ ติดขัดอะไรขอให้ร้องเรียนเข้ามาเพื่อปรับปรุง เราต้องประคับ ประคองระบบสาธารณสุขให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นจริงๆ เชื่อว่าเราน่าจะผ่านวิกฤติตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงนี้ ไปได้ หากใครไม่สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ ให้ประสาน เจ้าหน้าที่เพื่อเข้ารักษาตัวที่ศูนย์พักคอยในชุมชน ยืนยันจะได้รับความสะดวก ทั้งนี้นายกฯ เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดจัดเตรียมโรงพยาบาลสนามรองรับสถาน การณ์หากมีความจำเป็น

ยันยังไม่มีล็อกดาวน์

พญ.อภิสมัยกล่าวถึงกรณีมีการตั้งข้อสังเกตว่า การประชุม ศบค.ชุดใหญ่วันที่ 23 ก.พ.จะพิจารณาล็อกดาวน์ และยกเลิกระบบ Test&Go หรือไม่ว่า ศบค.ชุดใหญ่ไม่ได้พิจารณาและประเมินแค่ยอดติดเชื้อใหม่ ยอดผู้ป่วยหนัก หรือยอดผู้เสียชีวิตเท่านั้น แต่ยังต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้น บางครั้งในช่วงที่ประชาชนมีความกังวล อาจไปบริโภค ข้อมูลจากนักวิชาการ อาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญ อาจทำให้เกิดความตกอกตกใจว่า จะมีการล็อกดาวน์หรือไม่ ต้องยืนยันว่าปัจจุบันยังไม่มีทิศทางที่จะประกาศล็อกดาวน์ นอกจากนี้ อยากขอความร่วมมือจากนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญว่าการให้ความเห็น ขอให้ระบุด้วยว่าเป็นความเห็นส่วนตัวของตัวเอง เพื่อไม่ให้ประชาชนและผู้ประกอบการเกิดความกังวล ส่วนระบบ Test&Go ที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า จะระงับการเดินทางเข้าประเทศด้วยระบบนี้ แต่เมื่อไปดูในยอดของระบบ Test&Go นับตั้งแต่วันที่ 1-20 ก.พ.2565 มีผู้เดินทางเข้าประเทศมาจำนวน 137,090 คน พบรายงานติดเชื้อ 3,495 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.55 ถือว่าระบบสาธารณสุขและมาตรการที่ใช้อยู่ยังสามารถรองรับได้

...

นายกฯห่วงยอดระบาดพุ่ง

ส่วนที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว. กลาโหม กล่าวหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติครั้งที่ 1/2565 ว่า ตนเป็นกังวลเรื่องการแพร่ระบาด แต่ก็อยู่ในกรอบสาธารณสุขได้พิจารณาอยู่แล้วว่าจะขึ้นอย่างนี้ไประยะหนึ่ง สิ่งสำคัญที่สุด คือ สถานที่รักษาต้องเพียงพอ วันนี้ไม่ใช่เฉพาะโรงพยาบาลอย่างเดียว การรักษาพยาบาลที่บ้าน หรือโฮมไอโซเลชัน และคอมมูนิตี้ไอโซเลชันก็มี หากไปคับคั่งในโรงพยาบาลมากๆจะเป็นปัญหา วันนี้เราใช้งบไปจำนวนมาก หลายอย่างงบลดลงไป เพื่อไปเติมตรงนี้ตรงนั้น

ลงนามให้รักษาตามสิทธิ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้ลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการกำหนดขั้นตอนมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ หรือ UCEP เสนอกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เมื่อวันที่ 18 ก.พ.65 นำโรคโควิด-19 ออกจาก UCEP ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 เป็นต้นไป ให้คำจำกัดความของโรคโควิด-19 ไว้ว่าเป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองดูแลตามสิทธิหลักประกันสุขภาพของประชาชนแต่ละคน กำหนดให้มี UCEP PLUS กรณีผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการรุนแรง หรือมีโรคร่วม จะเข้าเกณฑ์ UCEP PLUS ที่มีอาการวิกฤติฉุกเฉิน เช่น หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น เจ็บหน้าอกเฉียบพลันรุนแรง แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วนหรือชักต่อเนื่องไม่หยุด สามารถเข้าโรงพยาบาลใดก็ได้ รวมทั้งกรณีผู้ป่วยกลุ่มอาการสีเขียว กักตัวอยู่ที่บ้าน หรือ Home Isolation หรือศูนย์พักคอย Community Isolation หากมีอาการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงขึ้น สามารถใช้สิทธิ UCEP PLUS ได้เช่นกัน

...

เตือนภัยระดับ 4 ทุกจังหวัด

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เดิมทีกระทรวงสาธารณสุขประกาศเตือนภัยโควิด-19 ระดับที่ 4 จากทั้งหมด 5 ระดับมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้สักระยะแล้วยังไม่เคยลดระดับ เพียงแต่ช่วงก่อนหน้านี้เป็นการแจ้งเตือนในจังหวัดเสี่ยงที่มีรายงานการติดเชื้อสูง ปัจจุบันเป็นการประกาศเตือนภัยระดับ 4 ทุกจังหวัดทั่วประเทศ คำแนะนำคือ งดไปสถานที่เสี่ยง งดการรวมกลุ่มสังสรรค์ เน้นทำงานที่บ้าน และชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่ เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดให้อยู่ในระดับคงที่ ที่ต้องออกมาเน้นย้ำ เนื่องจาก สธ.เคยประกาศนานมาแล้วประชาชนอาจจะหลงลืมว่าเรายังอยู่ในการเตือนภัยระดับ 4 อยู่ ส่วนการประชุม ศบค.วันที่ 23 ก.พ.จะมีการปรับมาตรการอะไรเพิ่มเติมหรือไม่นั้น ตนไม่สามารถยืนยัน รับปากอะไรได้ สิ่งที่ยังยืนยันตอนนี้คือระบบสาธารณสุขยังสามารถรองรับสถานการณ์ได้

โอมิครอน BA.2 ยอดพุ่ง

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับความรุนแรงของสายพันธุ์โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 และ BA.2 นั้น ในส่วนของสายพันธุ์โอมิครอนนั้น เบื้องต้นอาการรุนแรง สำหรับสายพันธุ์ย่อย BA.1 และ BA.2 มีความรุนแรงที่ไม่ต่างกัน แต่พบว่า BA.2 แพร่เร็วกว่า BA .1 ประมาณ 1.4 เท่า สำหรับประเทศไทย เริ่มมีสัดส่วนผู้ติดเชื้อโอมิครอน BA.2 มากขึ้นแล้วประมาณร้อยละ 50 คาดว่า สายพันธุ์โอมิครอน BA.2 จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

...

ศูนย์พักคอยเพียงพอ

นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ยอดผู้ติดเชื้อเดือน ก.พ.65 เพิ่มสูงขึ้นจากเดือน ม.ค.65 เกือบเท่าตัว ส่งผลต่อจำนวนผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นเช่นกัน สถาน การณ์การครองเตียง ภาพรวมทั้ง 13 เขตสุขภาพ มีเตียงรวม 177,000 เตียง มีการครองเตียงแล้ว ประมาณร้อยละ 50 ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ส่วนผู้ป่วยหนักครองเตียง ไม่เกินร้อยละ 20 สำหรับจำนวนเตียงในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทุกหน่วยงาน มีจำนวน 55,000 เตียง มีผู้ครองเตียง 26,000 คน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นเตียงสีเขียว ร้อยละ 80-90 และเป็นเตียงของโรงพยาบาลเอกชน ทั้งนี้โรงพยาบาลทุกสังกัดพร้อมที่จะขยายเตียงรองรับได้อีก จึงไม่อยากให้ประชาชนกังวล

เตียงแน่นให้รักษาแบบ HI

นพ.อดิศักดิ์ ภัตตาตั้ง ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือ รพ.เด็ก กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ในเด็กพบเตียงเด็กภาพรวมหนาแน่น นำนโยบาย Home Isolation (HI) มาใช้ในเด็กอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นและไม่มีอาการมารักษาตามระบบ การรักษาส่วนใหญ่เน้นตามอาการคล้ายไข้หวัด ส่วนใหญ่มีไข้เพียง 5 วันไข้ลด อาการดีขึ้น และเพียงดูแลรักษาตามเกณฑ์ 10-14 วัน ก็ถือว่าหายขาด เกณฑ์การรับเด็กเข้ารักษาใน รพ. เน้นกลุ่มต่ำกว่า 1 ปี หรือเด็กที่มีโรคประจำตัว ส่วนเด็กที่เข้ารับการรักษา HI เป็นกลุ่มเด็กไม่มีอาการ ต้องไม่มีไข้สูง ไม่มีโรคประจำตัว เด็กไม่ซึม ทานอาหารได้ มีพ่อแม่ดูแลแบบใกล้ชิด เมื่อเข้าระบบ HI รพ.จะมีการแชตผ่านไลน์สอบถามอาการ และวิดีโอคอล

มธ.พัฒนาชุดตรวจ

ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต คณะสหเวชศาสตร์ มธ. แถลงข่าวการพัฒนา “ต้นแบบชุดตรวจแอนติบอดีต่อโควิด-19 แบบเจาะเลือดปลายนิ้ว” ผศ.ดร.จีระพงษ์ ทะนงศักดิ์ศรีกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริหาร คณะสหเวชศาสตร์ มธ. ในฐานะหัวหน้าห้องปฏิบัติการศูนย์ตรวจวินิจฉัยระดับโมเลกุล เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้พัฒนา “ต้นแบบชุดตรวจแอนติบอดีต่อเชื้อโควิด-19 แบบเจาะเลือดปลายนิ้ว” ขึ้นมา ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นชุดตรวจที่จะเข้ามาสนับสนุนการทำงานของการตรวจแบบ RT-PCR และ Antigen Test Kit (ATK) มีความแตกต่างอยู่ที่การตรวจด้วยชุดตรวจแอนติบอดีฯ สามารถหาเชื้อในผู้ติดโควิด-19 แบบไม่แสดงอาการได้ แอนติบอดีของผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 จะพบได้ในผู้ที่ติดเชื้อแล้วเท่านั้น พบได้ทั้งในผู้ที่แสดงและไม่แสดงอาการ จะไม่พบในส่วนประกอบของวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน การตรวจหาภูมิต้านทานไวรัสชนิดแอนติบอดีนั้นจำเป็นต้องรอเวลา 3-7 วันหลังจากการติดเชื้อ

สายไหมติดเชื้อเพิ่ม

นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. เปิดเผยว่า จากกรณีพบการติดเชื้อในชุมชนหมู่บ้านพูลทรัพย์ ถนนเพิ่มสิน 18 แขวงคลองถนน เขตสายไหม 32 ราย เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา วันนี้สำนักอนามัยร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข 61 สังวาลย์ ทัสนารมย์ (ศบส.61) สำนักงานเขตสายไหม กองควบคุมโรคติดต่อ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง และโรงพยาบาลเอส วาย เอช ลงพื้นที่ตรวจหาเชื้อฯเชิงรุกให้กับประชาชนในชุมชนดังกล่าว เพื่อควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยคัดกรองค้นหาผู้ป่วยด้วย ATK 183 ราย พบติดเชื้อ 4 ราย นำเข้าสู่กระบวนการรักษาในศูนย์พักคอย (CI) ของสำนักงานเขตสายไหม 3 ราย และแยกกักรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation : HI) ในความดูแลของ ศบส.61 จำนวน 1 ราย รวมทั้งควบคุมผู้สัมผัสเสี่ยงสูง

รปภ.นอนรออนาถา

วันเดียวกันเพจ “เส้นด้าย-Zendai” กลุ่มอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 โพสต์ข้อความว่า ในวันที่ฮอสพิเทลหลายที่เริ่มปิดรับคนไข้ โรงพยาบาลหลายแห่งเตียงเริ่มเต็ม คนไข้ยังรอคอยยาอยู่ที่บ้าน ภาพเดิมๆเริ่มกลับมา วันนี้เจอ รปภ.ท่านหนึ่ง ต้องมานอนบริเวณหน้าธนาคาร เพราะที่ห้องเช่ามีเมียและลูก เพื่อนบ้านอีกหลายชีวิตต้องใช้ห้องน้ำรวม หลังจากพยายามติดต่อเข้ารับการรักษา รพ.ประกันสังคมและเบอร์ต่างๆ ไม่สำเร็จ เนื่องจากติดวันหยุด ตัดสินใจเก็บข้าวของเสื้อผ้ามานอนรอการรักษา เบื้องต้นอาสาเส้นด้ายนำส่งศูนย์พักคอยเราต้องรอดคันนายาวแล้ว

คนบันเทิงติดอีก 7 ราย

ขณะที่คนบันเทิงยังติดเชื้อโควิดเพิ่ม 7 ราย รายแรก หน่อย-บุษกร วงศ์พัวพันธ์ นักแสดง-ผู้จัดละคร โพสต์ภาพลงไอจีส่วนตัว เป็นภาพแผงยาพร้อมแจ้งผลติดโควิดว่า ในที่สุดแม่ก็ไม่รอด! เมื่อวาน มีอาการเลยตรวจ ATK ผลออกมา 2 ขีด เทสต์ 2 อันขึ้น 2 ขออภัยทุกท่านที่ได้พบปะมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ อีกรายคือ บูม-สุภาพร วงษ์ถ้วยทอง พิธีกรดังช่อง 3 โพสต์ข้อความลงไอจีว่า พบเชื้อนะคะ อยากให้ทุกท่านที่ใกล้ชิดบูมคอยเฝ้าระวังด้วยนะคะ มันใกล้ตัวมากเลยค่ะ ส่วนตอนนี้บูมได้เข้าสู่กระบวนการ การรักษาเป็นที่เรียบร้อยแล้วค่า ลางานยาวค่าาา อีก 10 วันเจอกันใหม่ รายที่สาม ชุ-ณัฐบวร เศรษฐกนก หรือชุ วง Zeal ผลตรวจ RT-PCR เป็นบวก ส่วนอีก 4 ราย เป็นศิลปินสังกัดค่าย GeneLab (ยีนแลป) กิต-กฤตย์ จีรพัฒนานุวงศ์, เต-ตธนันท์ วงศ์ปรีชาโชค, โอม-กิจฏิเมธ ชาญพานิช และตูน-พีรพล เอี่ยมจํารัส สมาชิกวง Three Man Down ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด ตรวจ RT-PCR ผลตรวจออกมาเป็นบวก แพทย์ประเมินอาการว่าเป็นผู้ป่วยสีเขียว แยกกักตัวรักษาตามมาตรการของรัฐ

ภูเก็ตยอดทะยานวันละกว่า 1 พัน

นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุข จ.ภูเก็ต กล่าวว่า ขณะนี้ จ.ภูเก็ตมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ทั้งผลการตรวจ ATK และ RT-PCR เฉลี่ยวันละ 1 พันกว่าคน ล่าสุดมีการประชุมสรุปข้อเสนอ เพื่อส่งข้อมูลเสนอ ศบค. ดังนี้ 1.ลดระยะเวลาการแยกกักผู้ติดเชื้อ จาก 10 วัน เป็นแยกกักตัว 5 วัน และอีก 5 วัน สามารถกลับไปปฏิบัติงานได้ตามปกติ แต่ให้ปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention 2.ปรับการรายงานผู้ติดเชื้อรายวัน โดยให้รายงานเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการปานกลาง (สีเหลือง) อาการรุนแรง (สีแดง) และผู้ป่วยเสียชีวิต 3.กรณีคนไทยที่เดินทางกลับมาจากต่างจังหวัดคณะใหญ่ๆ แล้วมีการตรวจพบว่าติดเชื้อโควิดผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการเกิด 50% ขอให้ส่งกลับตามจังหวัดที่เดินทางมา ส่วนกรณีการเสนอให้ภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่องในการประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ในส่วนของจังหวัดภูเก็ตยังไม่ได้มีการเสนอเรื่องนี้แต่อย่างใด ไม่ทราบว่ามีการสื่อเรื่องนี้ออกไปได้อย่างไร ในการประชุมวันนี้ไม่มีการเสนอเรื่องนี้ ก่อนหน้านี้เคยมีการพูดคุยกัน แต่มองว่าขณะนี้ ยังไม่สามารถที่จะประกาศให้เป็นพื้นที่นำร่องได้เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น อัตราการเสียชีวิตก็ยังเกินจากมาตรการที่วางไว้ แม้จะมีผู้เสียชีวิตน้อยแต่ยังเกิน 0.1% อยู่ จนถึงขณะนี้ขอยืนยันว่าภูเก็ตยังไม่ได้เสนอตัวเป็นพื้นที่นำร่อง ในการประกาศให้โรคโควิดเป็นโรคประจำถิ่นแต่อย่างใด

เรือนจำตะกั่วป่าติดเชื้ออื้อ

ที่ จ.พังงา นายเถลิงศักดิ์ นุชประหาร รอง ผวจ.พังงา เดินทางไปติดตามสถานการณ์หลังพบผู้ต้องขังเรือนจำ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ติดเชื้อโควิด โดยมีนายปริญญา ศรีธัญแก้ว ผบ.เรือนจำจังหวัดพังงา รายงานว่า มีผู้ต้องขังจำนวน 587 คน ติดเชื้อโควิดจำนวน 323 คน เป็นชาย 322 คน หญิง 1 คน โดยพบผู้ติดเชื้อเมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา ขณะนี้ถูกแยกกักตัวและรักษาภายในเรือนนอนชาย 1 และ 2 และเรือนนอนหญิง

แม่เฒ่าตายหลังฉีดเข็มสาม

ที่วัดเกตุแก้ว อ.พาน จ.เชียงราย มีงานสวดอภิธรรมศพนางสมร ปัญญาชัย อายุ 77 ปี เป็นผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนโควิด กระตุ้นเข็มที่ 3 เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ก่อนหน้า 2 เข็มแรกเป็นวัคซีนแอสตราฯและฉีดเข็มไฟเซอร์เข็ม 3 ต่อมากลับบ้าน มีอาการไข้ขึ้นสูง ท้องเสีย อาเจียน นำส่ง รพ.พาน แพทย์ตรวจไม่พบอะไรให้กลับบ้าน อาการกลับทรุดลง และเสียชีวิตเมื่อคืนวันที่ 19 ก.พ. ด้าน นพ.วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุข จ.เชียงราย กล่าวว่า ต้องรอผลชันสูตรศพก่อน ส่วนกรณีไป รพ.พาน แล้วแพทย์ไม่รับรักษาตัว จะสอบสวนอีกครั้ง ขณะนี้ญาติสามารถยื่นคำร้องรับเงินช่วยเหลือเยียวยาโดยไม่มีผลชันสูตรจำนวน 4 แสนบาท ทางสปสช.จะเป็นผู้พิจารณา

ด่านอรัญฯเข้มตรวจ ATK

ส่วนที่ด่าน ตม.อรัญประเทศ จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว นายปริญญา โพธิสัตย์ ผวจ.สระแก้ว สั่งการให้นายชนาธิป โคกมณี นายอำเภออรัญประเทศ ตรวจรับแรงงานกัมพูชาตามข้อตกลง MOU ที่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย เป็นลอตที่ 4 จำนวน 318 คน โดยมีการตรวจ ATK ซ้ำเพื่อความปลอดภัย ขณะที่เมื่อวันที่ 1 ก.พ. มีแรงงาน 3 ลอต จำนวน 549 คน ตรวจพบเชื้อโควิด 53 ราย และมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงต้องกักตัวเฝ้าระวัง 118 คน เข้าสู่กระบวนการกักตัวเรียบร้อยแล้ว

คลัสเตอร์กีฬาสี จ.สุรินทร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนภายในโรงเรียนบ้านรุน ต.บักได อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ระหว่างการแข่งขันกีฬาสี ตรวจพบเชื้อจากเด็กนักเรียนรายหนึ่ง ติดเชื้อมาจากผู้ปกครอง ก่อนลามติดเพื่อนนักเรียนไปแล้วกว่า 70 ราย ขณะไปร่วมกิจกรรมการแข่งขันกีฬาสีที่โรงเรียน เมื่อวันที่ 17 ก.พ. นอกจากนี้ ยังคงมีการตรวจหาเชื้อกับเด็กนักเรียนและผู้ปกครองกลุ่มเสี่ยงสูงอย่างต่อเนื่อง พร้อมขอความร่วมมือผู้ปกครองและเด็กนักเรียนทั้งโรงเรียนกักตัวสังเกตอาการอยู่ที่บ้าน

บุรีรัมย์สั่งปิด ร.ร.กว่า 1,500 แห่ง

วันเดียวกัน สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดบุรีรัมย์ ส่งหนังสือด่วนถึงสถานศึกษาทั้งจังหวัดกว่า 1,500 แห่ง หรือกว่า 260,000 คนของนักเรียนนักศึกษา ที่มีทั้งหมดในจังหวัด ให้ปิดการเรียนแบบออนไซต์ ในเชิงขอความร่วมมือ แล้วให้หันไปเรียนแบบออนไลน์แทนเป็นเวลา 10 วัน ไปจนถึงวันที่ 2 มี.ค.นี้ หลังตรวจพบผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดวันที่ 20 ก.พ. พบผู้ติดเชื้อจำนวน 421 ราย รวมผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ 1 ม.ค.65 จนถึงปัจจุบันจำนวน 4,715 ราย ในจำนวนนี้มีนักเรียนที่ติดเชื้อแล้ว 689 ราย

ผู้ดีจ่อปล่อยฟรี-ฮ่องกงบังคับฉีด

ด้านนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ออกแถลงการณ์มาตรการอยู่ร่วมกับเชื้อโควิด-19 ที่จะเริ่มใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 24 ก.พ.นี้ ให้ผู้ที่ติดเชื้อใช้วิจารณญาณว่าจะปฏิบัติตัวเช่นไร แต่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เหมือนคนเป็นไข้หวัดทั่วไป ไปช็อปปิ้ง ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ หรือไปทำงาน พร้อมยกเลิกการกักตัวเมื่อติดเชื้อ ยกเลิกมาตรการติดตามที่มาของเชื้อ ทยอยลดมาตรการตรวจหาเชื้อแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย นักเรียนไม่จำเป็นต้องตรวจเชื้อสัปดาห์ละ 2 ครั้ง จะตรวจเชื้อฟรีเฉพาะผู้มีอายุมากกว่า 80 ปี ขณะที่บริษัทเอกชนจะต้องวางมาตรการรับมือกันเอง และหากยังคงมีการตรวจหาเชื้อกันอยู่ บริษัทก็ต้องออกเงินซื้อชุดตรวจเอง รัฐบาลจะไม่ช่วยสนับสนุน ส่วนที่ฮ่องกงที่มียอดติดเชื้อวันละกว่า 40,000 คน จะเริ่มใช้มาตรการ “วัคซีนพาสปอร์ต” ในวันที่ 24 ก.พ. ต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนครบโดส หากต้องการใช้บริการซุปเปอร์มาร์เกต ห้างสรรพสินค้า หรือสถานบันเทิง ทั้งยังมีแผนบังคับให้ผู้มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ต้องฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส ถึงจะเข้าใช้บริการตามสถานที่ต่างๆได้ และภายในเดือน มิ.ย. ผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไปจะต้องฉีดวัคซีนครบ 3 โดส