เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีข่าวสำคัญ พ่อ-แม่ “หมอกระต่าย” ยื่นฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ส.ต.ต.นรวิชญ์ขี่บิ๊กไบค์พุ่งชนจนเป็นเหตุเสียชีวิต 72 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย
โดยคำฟ้องบรรยายว่า เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2565 เวลากลางวัน จำเลยได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ยี่ห้อดูคาติ ทะเบียน 9942 เชียงราย มาบนถนนพญาไท ได้พุ่งชน พญ.วราลัคน์ จักษุแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาฯ อายุ 33 ปี เสียชีวิต อันเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ ของผู้บังคับบัญชา คือ จำเลยที่ 1
เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ก่อละเมิด ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 โดยขอเรียกค่าสินไหม ทดแทนจากการที่ พญ.วราลัคน์ ผู้ตาย ต้องขาดรายได้ตั้งแต่วันที่เกิดเหตุละเมิดจนกว่าจะเกษียณเป็นเงินทั้งสิ้น 200 ล้านบาท
และค่าเสียหายอื่นๆ เช่น ค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะ ซึ่งโจทก์ ขอเรียกรวมทั้งสิ้นเพียง 72 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยตั้งแต่วันละเมิด
นอกจากนี้แล้วยังจะยื่นฟ้องกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เพราะเห็นว่า ปัญหาอยู่ที่ทางคนข้ามทางม้าลาย เพราะ 98% ผู้ขับขี่ไม่ยอมจอดให้ผู้เดินข้ามถนนเดินข้ามอย่างปลอดภัย และการดูแลรักษาทางข้ามซึ่งเป็นความรับผิดทางละเมิดตามกฎหมายปกครอง
...
“หมอกระต่าย” ไม่ใช่คนเดียวที่ตายจากอุบัติเหตุบนถนน แต่ “คนไทย” ต้องตายเพราะเหตุนี้ถึงปีละ 20,000 คน...10 ปี ก็ 200,000 คน มากกว่าที่ตายเพราะโควิด หรือตายในสงคราม
ที่บาดเจ็บอีกปีละหลายแสนคน...สะสมคนพิการให้เพิ่มขึ้นๆ ทุกปี เป็นการสูญเสียมหาศาลที่ต้องแก้ไขให้ได้
...มีความพยายามหลายอย่างในอดีตที่ผ่านมา แต่ไม่ได้ผลจริงจังอันใด ที่ไม่ได้ผลเพราะ ขาดการขับเคลื่อนระบบนโยบายครบวงจร ทำเป็นบางส่วนหรือเป็นส่วนๆ
ก็เหมือนวงจรไฟฟ้า ถ้าไม่ครบวงจรไฟก็เดินไม่ได้ พุ่งเป้าไปที่... “การขับเคลื่อนระบบนโยบายครบวงจร 12 ขั้นตอนสู่ความสำเร็จ” ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส มองว่า ถ้าทำครบก็สำเร็จทุกเรื่อง ไม่ว่า ยากอย่างไรก็สำเร็จ จึงเรียกวิธีการนี้ว่า “สัมฤทธิศาสตร์”
หรือ...ศาสตร์แห่งความสำเร็จ (Delivery Science)
นับหนึ่งจาก...กลไกขับเคลื่อนระบบนโยบาย “กลุ่มขับเคลื่อนนโยบาย” ซึ่งก็หมายถึงหน่วยงานต่างๆ ต่างทำงานเฉพาะส่วนของตนๆไม่ถนัดหรือมีทักษะในการขับเคลื่อนนโยบาย เรื่องดีๆที่มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อไปสู่หน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานแบบแยกส่วน เรื่องดีๆนั้น ก็ไม่นำไปสู่ความสำเร็จ
ต้องมีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ถนัดและมีทักษะในการขับเคลื่อน คีย์เวิร์ดสำคัญ คือ “ขับเคลื่อน” เมื่อมีการขับเคลื่อนเรื่องต่างๆที่อยู่แยกๆกัน จึงจะเคลื่อนเข้ามาเชื่อมโยงกันครบวงจรได้...
“ถ้าไม่มีการขับเคลื่อน แม้มีนโยบาย แม้มีแผน ก็เป็นแผนนิ่ง คือ หน่วยงานต่างๆยังนิ่งอยู่กับที่แยกๆกันเหมือนเดิมเรื่องนั้นๆก็ไม่สำเร็จ”
อย่างเรื่อง “นโยบายหลักประกันสุขภาพ” หรือ “บัตรทอง” ที่สำเร็จ เพราะมี หมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ และคณะ เป็นผู้ขับเคลื่อน นโยบายควบคุมการบริโภคยาสูบที่สำเร็จ เพราะมี...คุณหมอหทัย คุณหมอประกิต และคุณบังอร เป็นผู้ขับเคลื่อน ฉะนั้น...ทุกฝ่ายที่สนใจเรื่องการควบคุมการตายจากอุบัติเหตุบนถนน
ควรทำความเข้าใจเรื่อง “กลุ่มขับเคลื่อนนโยบาย” ให้ดีๆ ไม่ใช่สักแต่จะตั้งใครแล้วจะทำได้ คนอยากได้รับการแต่งตั้งมีมาก แต่คนที่ทำงานเป็นมีน้อย แต่งตั้งผิดคนก็ไม่สำเร็จ
ถัดมา...คณะกรรมการอิสระขับเคลื่อนนโยบาย ควบคุมอุบัติเหตุบนถนน
“ต้องเข้าใจหลักการคณะกรรมการอิสระที่ตั้งๆกันในชื่อนี้ มักไม่ใช่หลักการของคณะกรรมการอิสระ คือต้องหาตัวประธานที่มีปัญญาและบารมีให้ได้ แล้วให้ประธานเฟ้นหาตัวกรรมการที่เหมาะสมเอง โดยรัฐบาลไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวให้อิสระสรรหาเต็มที่”
...
ขณะที่ “รัฐบาล” ให้ความสนับสนุนและความสะดวกในการ ทำงานทุกอย่าง คอยรับข้อเสนอแนะไปปฏิบัติ ควรออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการอิสระ
คณะกรรมการอิสระขับเคลื่อนนโยบายควบคุมอุบัติเหตุบนถนน ที่มีสมรรถนะสูงจะเชื่อมโยงการกระทำ 11 ขั้นตอน เมื่อครบวงจรไฟ หรือผลสัมฤทธิ์ก็เกิดได้ ซึ่งในที่สุดจะลดการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนใกล้ศูนย์...คณะกรรมการอิสระขับเคลื่อนนโยบายนี่แหละคือ “หน่วยสัมฤทธิศาสตร์”
คราวนี้...ต่อเนื่องไปถึงประเด็น “ความสำเร็จจะทำให้ติดใจลามไปทำนโยบายอื่นๆ”
ประเวศ วะสี ย้ำว่า ถ้ามีหน่วยสัมฤทธิศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายควบคุมอุบัติเหตุจราจรสำเร็จดังกล่าวแล้ว คนทั้งปวงจะติดใจอยากให้ขับเคลื่อนนโยบายอื่นๆไปสู่ความสำเร็จอีก
...
เคยกล่าวไปแล้วหลายต่อหลายครั้งว่า “ประเทศไทย” อาจมี “ประเด็นใหญ่ (Thailand Big Issues)” ประมาณ 20-25 ประเด็น ถ้าปรึกษาหารือกัน ก็ไม่เป็นการยากที่จะร่วมกันกำหนดประเด็นใหญ่เหล่านั้น
ประเด็นใหญ่ 20-25 ประเด็น นั่นแหละคือ...นโยบายสาธารณะ
อย่างเช่น การขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ เป็นประเด็นใหญ่ อย่างหนึ่งแน่นอน หรือการปฏิรูประบบความยุติธรรม และการปฏิรูประบบพลังงาน ฯลฯ เป็นตัวอย่าง
สมมติว่าได้ประเด็นนโยบาย 25 ประเด็น ก็สื่อสารให้รู้ทั่วกัน เพื่อให้เกิดความมุ่งมั่นร่วมกัน แล้วจัดตั้งกลุ่มสัมฤทธิศาสตร์ขึ้น 25 กลุ่ม ทำการขับเคลื่อนนโยบายแต่ละอย่าง ไปสู่ความสำเร็จทั้ง 25 นโยบาย
“ประเทศไทย”...หลุดจากสภาวะวิกฤติเรื้อรัง เกิดความเจริญรุ่งเรือง และคนไทยรักกันมาก จากการมีส่วนร่วมในความสำเร็จ
ถึงตรงนี้...ก็จะก้าวเดินต่อเนื่องไปถึงประเด็น “พรรคการเมืองกลายเป็นสถาบันพัฒนานโยบายการเมืองลงตัว”
“นโยบายเป็นเรื่องที่มีผลใหญ่ อย่างนโยบายบัตรทองทำให้คนจนทั้งประเทศได้รับประโยชน์อย่างใหญ่หลวง คุณทักษิณและพรรคไทยรักไทยจึงได้รับความนิยมจากคนยากคนจนสืบมาช้านานจนกระทั่งบัดนี้...พรรคการเมืองจึงควรเลือกขับเคลื่อนนโยบายดีๆ ให้สำเร็จเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง”
...
ได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้มี “รัฐบาล” ที่มีสมรรถนะสูงอย่างรัฐบาลจีน แต่เป็นในระบอบประชาธิปไตย
“พรรคการเมือง”...จะเป็นสถาบันพัฒนานโยบาย
“นักการเมือง”...จะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการขับเคลื่อนนโยบาย
“การเมือง”...จะลงตัว ไม่มีใครอยากทำปฏิวัติรัฐประหารอีกต่อไป บ้านเมืองลงตัวบนเส้นทาง “สันติปัญญาประชาธรรม”.