ตัวเลขผู้ติดเชื้อ โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.2 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ติดเชื้อใหม่ 20 ก.พ. 18,953 ราย ATK 8,814 ราย รวมเป็น 27,767 ราย เสียชีวิต 30 ราย นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค คาดว่าผู้ติดเชื้อใหม่จะพีกสูงสุดราวกลางเดือนมีนาคม การระบาดช่วงนี้กระจายฟุ้งไปทุกกลุ่ม ทุกคลัสเตอร์ ครอบครัว สถานที่ทำงาน เพื่อนฝูง ส่วนใหญ่เกิดจาก กิจกรรมรับประทานอาหารร่วมกัน เป็นช่วงที่ต้องถอดหน้ากากอนามัย ขณะที่โอกาสติดเชื้อจากคนไม่รู้จักแทบไม่มี

ที่ผมเป็นห่วงก็คือ ช่วงหยุดยาวสงกรานต์ ที่กำลังจะมาถึง ถ้ารัฐบาลเปิดให้รื่นเริงสงกรานต์กันเต็มที่เหมือนปีที่แล้ว อาจจะได้เห็นจุดพีกใหม่ติดเชื้อวันละ 4-5 หมื่นคนก็ได้

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้โพสต์ถึงความน่ากลัวของ โอมิครอน เจน 2 (BA.2) จากงานวิจัยของญี่ปุ่นว่า “ดุพอๆกับเดลตา” โดย โอมิครอน BA.2 มีความสามารถในการแพร่ระบาดได้ดีกว่า BA.1 ประมาณ 30-40% ความแตกต่างระหว่าง BA.2 กับ BA.1 นอกจากการเปลี่ยนแปลงโปรตีนหนามสไปก์ที่เป็นเฉพาะของตัวเองแล้ว เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่งอื่นนอกโปรตีนหนามสไปก์อาจมีส่วนทำให้ BA.2 มีคุณสมบัติที่โดดเด่นกว่า BA.1

มีงานวิจัยชิ้นล่าสุดจากทีมญี่ปุ่น เป็นผลทดลองภูมิจากวัคซีนจากอาสาสมัครในญี่ปุ่น เมื่อนำมาทดลองเปรียบเทียบระหว่าง โอมิคอรน BA.1 และ BA.2 พบว่า BA.2 หนีภูมิคุ้มกันได้สูงกว่า เช่น ภูมิจากวัคซีน Moderna ถูก BA.1 หนีได้ 15 เท่า แต่ BA.2 สามารถหนีได้ 18 เท่า และ ภูมิจากวัคซีนแอสตราฯ BA.1 หนีได้ 17 เท่า แต่ BA.2 หนีได้ถึง 24 เท่า

...

ที่น่าสนใจก็คือ ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อโอมิครอน BA.1 ก็ถูก BA.2 หนีได้เช่นกัน ทั้งที่เชื่อกันว่าไวรัสสองตัวนี้เป็นกลุ่มโอมิครอนเหมือนกัน แต่ความแตกต่างระหว่างสองสายพันธุ์นี้ทำให้ภูมิคุ้มกันจาก BA.1 ถูกไวรัส BA.2 หนีได้เกือบ 3 เท่า ผลการทดลองในหนูทดลองที่ได้รับวัคซีนที่ออกแบบจากสไปก์ของ BA.1 ก็ถูก BA.2 หนีได้มากถึง 6.4 เท่า แสดงว่าโอมิครอน 2 สายพันธุ์นี้อาจจะใช้ทำเป็นวัคซีนแทนกันไม่ได้เสียทีเดียว

ทีมวิจัยเชื่อว่า BA.2 อาจจะไม่ใช่โอมิครอนเหมือน BA.1 ทั้งคุณสมบัติของไวรัสที่แตกต่างกัน และความแตกต่างทางการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน ไวรัส BA.2 ตัวนี้อาจจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Pi ซึ่งเป็นตัวอักษรตัวถัดไปต่อจาก Omicron

ดร.อนันต์ ได้โพสต์ต่อในวันอาทิตย์ว่า ล่าสุดมีผลการศึกษาว่า BA.2 มีแนวโน้มที่จะดื้อกับแอนติบอดีรักษาที่กำลังพัฒนาอยู่แทบทุกตัว แต่ผลการศึกษาจากการติดเชื้อธรรมชาติและการฉีดวัคซีน ทำให้เราเชื่อว่า ยังต้องมีแอนติบอดีที่จับโอมิครอนได้ผสมอยู่ในร่างกายของเรา เพียงแต่ว่า การหาและแยกแอนติบอดีเหล่านั้นออกมาจาก pool ที่มีแอนติบอดีอื่นๆอยู่มากมาย ทำได้ยากมาก และต้องอาศัยโชคช่วยจริงๆ

ข่าวดีวันนี้คือ ทีมวิจัยจากเนเธอร์แลนด์ พบว่า แอนติบอดีที่ทีมวิจัยไปแยกได้มา 1 โคลนชื่อว่า 87G7 สามารถผ่านด่านหินของโอมิครอน BA.1 และ BA.2 ไปจับโปรตีนหนามสไปก์และยับยั้งการเข้าสู่เซลล์ของไวรัสได้ ผลการทดลองในสัตว์ที่รับเชื้อพบว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ดีมาก การศึกษาเชิงลึกพบว่า แอนติบอดี 87G7 ไปจับหนามสไปก์ตรงจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ใช้เข้าเซลล์ที่กรดอะมิโน 6 ตำแหน่ง ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในไวรัสทุกสายพันธุ์ในตอนนี้ อาจเป็นไปได้ว่าเป็นจุดที่เปลี่ยนได้ยาก ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง 87G7 จะเป็นแอนติบอดีที่สามารถยับยั้งไวรัสได้ทุกสายพันธุ์ ถ้าไม่กลายพันธุ์ในกรดอะมิโน 6 ตำแหน่งนี้

ผมขอเอาใจช่วยขอให้สำเร็จครับ จะได้หยุดการระบาดของไวรัสร้ายตัวนี้ได้เสียที.

“ลม เปลี่ยนทิศ”