- ยอดติดเชื้อโควิดรายใหม่ในไทยยังพุ่งไม่หยุด เผย "โอมิครอน" ครองพื้นที่ป่วยครบ 77 จังหวัด พบสายพันธุ์ย่อย "BA.2" ทำยอดติดเชื้อ ก.พ.พุ่ง
- ไทยพบ "BA.2" แพร่เร็ว "BA.1" ตัวแม่เริ่มลด ขอประชาชนอย่ากังวลสายพันธุ์ย่อยของ "โอมิครอน" แนะป้องกัน-รักษาเหมือนเดิม เผยยอดเสียชีวิตในไทยต่ำกว่าทั่วโลก
- พบโควิดสายพันธุ์ลูกผสม "โอมิครอน-เดลตา" ในอังกฤษ แต่ไม่รุนแรง นายกฯสั่งจับตาสถานการณ์ "เดลตาครอน" อย่างใกล้ชิด เตรียมพร้อมรับมือทุกสายพันธุ์
ยอดโควิดในไทยยังทะยานไม่หยุด งานบุญ งานศพ และตามโรงเรียนต่างๆ ยังพบเป็นปัจจัยหลักของการติดเชื้ออย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ที่น่าเป็นห่วง ส่วนยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ของการระบาดรอบใหม่ระลอกเดือน ม.ค.2565 ในรอบกว่า 40 วัน ทำยอดนิวไฮพุ่งสูงกว่า 1.8 หมื่นคน เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนสถานการณ์ "โอมิครอน" ภายในประเทศขณะนี้ พบแพร่ระบาดลามครบทั้ง 77 จังหวัด กทม. ติดเชื้อมากสุด พบตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะสายพันธุ์ "BA.2" ที่ต้องจับตา !!!
...
"โอมิครอน" ลามครบ 77 จังหวัด ส่วนใหญ่ยังเป็น "BA.1"
จากการสุ่มตรวจผู้ป่วย 2,000 ราย เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เปิดเผยว่า พบเป็นเชื้อโอมิครอน ร้อยละ 97.2 ที่เหลืออีก 2.8 เป็นเชื้อเดลตา และพบในทุกจังหวัดแล้ว ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศพบเป็นเชื้อโอมิครอน ร้อยละ 99.4 ส่วนในประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนสูงขึ้นเรื่อยๆ ถึงร้อยละ 96.4 อีกไม่นานคงเข้าใกล้ร้อย
สำหรับผู้ติดเชื้อโอมิครอนในไทยตอนนี้ ส่วนใหญ่ยังเป็น BA.1 ซึ่งความรุนแรงกับการหลบวัคซีนคงต้องดูตำแหน่งที่กลายพันธุ์ ขณะนี้ยังไม่มีข้อแตกต่างที่เป็นนัยสำคัญ ยังต้องติดตามคนไข้ในสนามจริงว่า รุนแรงมากน้อยแค่ไหน ส่วนวิธีการตรวจเบื้องต้นนั้น ยังตรวจจับได้หากพบการหายไปของตำแหน่ง 69-70 จะเป็น BA.1 หากไม่หายไปแสดงว่าเป็น BA.2
ไทยพบ BA.2 แพร่เร็วเพิ่ม ส่วน BA.1 ตัวแม่ลดลง
ขณะที่ ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ศูนย์จีโนมฯถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งตัวจากสิ่งส่งตรวจพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.2565 จำนวน 192 ตัวอย่าง พบเป็นโอมิครอน BA.1 จำนวน 169 ราย หรือ 88% โอมิครอน BA.1.1 จำนวน 5 ราย หรือ 5% โอมิครอน BA.2 จำนวน 2 ราย หรือ 1.05% เดลตา AY 85 จำนวน 14 ราย หรือ 7.3% อัลฟา จำนวน 2 ราย หรือ 1.04% แต่หากเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำยังพบเป็นเดลตาเกือบ 100%
ขณะที่ในระบบฐานข้อมูลกลางโควิดโลก หรือ GISIAD ช่วง 40 วันที่ผ่านมา ที่สถาบันการแพทย์ทั้งรัฐและเอกชนในประเทศไทยถอดรหัสพันธุกรรมและอัปโหลดเข้าใน GISIAD พบเป็นโอมิครอน BA.1.1 จำนวน 60% ขณะที่โอมิครอน BA.1 หรืออาจเรียกเป็นตัวแม่เดิมลดลงเหลือ 19% โอมิครอน BA.2 จำนวน 2% เดลตา AY 85 จำนวน 14% ทั้งนี้ BA.1.1 เป็นการแตกกิ่งก้านจากสายพันธุ์หลัก BA.1 เล็กน้อยเท่านั้น ไม่มีผลก่อให้เกิดอะไรมากขึ้น ส่วนสายพันธุ์โอมิครอน BA.2 ในไทยขณะนี้นั้น น่าจะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลที่ติดตามพบคุณสมบัติ BA.2 มีการกลายพันธุ์มากที่สุด จึงส่งผลต่อการแพร่ระบาดหรือติดเชื้อไวที่สุด แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดความรุนแรงของโรค หรือเสียชีวิตต่างจากโอมิครอนสายพันธุ์หลัก ส่วนค่าเฉลี่ยที่ผู้ป่วย 1 คน จะแพร่เชื้อให้ผู้อื่น หรือค่า R0 สายพันธุ์อู่ฮั่นอยู่ที่ 2.5 เดลตา 6.5-8 โอมิครอน BA.1 อยู่ที่ 8-15 แต่ BA.2 น่าจะเทียบเคียงหัดอาจจะถึง 18 เพราะไวมาก แต่การติดเชื้อไวในระยะหลัง จะเห็นว่าไม่ได้แปรไปตามความรุนแรง
"BA.2" ทำยอดป่วยใหม่ ก.พ.พุ่ง คาดปลายเดือนติดเชื้อลดลง
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ เปิดเผยอีกว่า สำหรับประเทศที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เป็นโอมิครอนมากที่สุดขณะนี้ คือ เดนมาร์ก ตามด้วยอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ส่วนแอฟริกาใต้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงไปมาก ส่วนอัตราเสียชีวิตจากโอมิครอนนั้น ก็ต่ำกว่าเดลตาและอัลฟาอย่างมาก อย่างไรก็ตามประเทศไทยโอมิครอนเข้ามาประมาณ ก.พ.ทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น BA.1 แต่อัตราผู้เสียชีวิตน้อยมาก เพราะมีการฉีดวัคซีนที่มากรวมถึงมี อสม.ที่เข้าไปค้นหาช่วยเหลือผู้ป่วยเชิงรุก แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นขณะนี้ มาจาก BA.2 ที่ ทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มสัดส่วนมากขึ้น คาดว่าไม่เกินครึ่งเดือนหรือประมาณปลายเดือน ก.พ.ตัวเลขน่าจะลง เทียบเคียงจากประเทศอื่นๆ ที่มีสถานการณ์ระบาดมาก่อน
...
ขอประชาชนอย่ากังวล "BA.2" ชี้ไทยอัตราตายต่ำกว่าทั่วโลก
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โอมิครอนในไทย ว่า ไม่อยากให้ประชาชนกังวลกับสายพันธุ์ของโอมิครอน ไม่ว่าจะเป็น BA.1, 2, 3 การป้องกันการรักษายังเหมือนเดิม ยังต้องเคร่งครัดสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ มีระยะห่าง รวมถึงการรับวัคซีน โดยเฉพาะเข็มกระตุ้นหรือเข็ม 3 ป้องกันได้ การแพร่เชื้อของสายพันธุ์ BA.2 แม้แพร่เร็วขึ้น แต่ความรุนแรงและการหลบภูมิคุ้มกันยังไม่ต่างจาก BA.1 องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้จัดให้เป็นสายพันธุ์ใหม่หรือเฝ้าระวัง กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมการแพทย์ ได้ติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง จึงไม่อยากให้ประชาชน
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ส่วนการใส่หน้ากากอนามัยนั้น ย้ำว่าสามารถป้องกันโรคได้ดี แม้ว่าโรคนี้จะติดง่ายหรือสายพันธุ์ไหนก็ตาม เชื้อไวรัสทะลุหน้ากากไปไม่ได้ ที่มีคนตั้งคำถามแค่พูดคุยกันไม่นานเพียง 15 นาทีทำไมถึงติดเชื้อ ขอย้ำว่าหากใส่หน้ากากไม่ต้องกังวล เพราะถือว่าความเสี่ยงต่ำ สำหรับอัตราป่วยหนักและใส่ท่อช่วยหายใจนั้น ขณะนี้ยังไม่เพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม ขณะที่อัตราเสียชีวิตของไทยถือว่าต่ำกว่าทั่วโลกมาก โดยต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา จากเดิมอัตราเสียชีวิตอยู่ 0.22 เหลือ 0.20 ส่วนอัตราเสียชีวิตทั่วโลกจากเดิมอยู่ที่ 2.2 ขณะนี้เหลือ 1.4 คน ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังเป็นผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง จึงอยากเชิญชวนให้มารับวัคซีน บ้านคนหนุ่มสาวที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วยนั้น ก็ขอให้ระวังตัวเองให้ดี เพื่อป้องกันคนในบ้านได้รับเชื้อ เนื่องจากส่วนใหญ่สาเหตุการติดเชื้อในผู้สูงอายุนั้น มาจากการรับเชื้อจากคนในครอบครัว
...
"เดลตาครอน" ในอังกฤษไม่ดุ-ส่วนไทยยังไม่พบเชื้อ
ส่วนการพบสายพันธุ์เดลตาครอน ลูกผสมระหว่างโอมิครอนและเดลตาในอังกฤษนั้น ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ เปิดเผยว่า อังกฤษได้ประกาศเป็นเอกสารยืนยันว่า พบเดลตาครอนที่ให้จับตา ไม่มีการระบุจำนวนชัดเจน แต่น่าจะพบมากกว่า 1 ราย แต่ยังไม่พบความรุนแรงในการก่อโรค หรือหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้มากกว่าโอมิครอน เนื่องจากลูกผสมเดลตาครอนตัวนี้เป็นการนำชิ้นส่วนยีน ORF1ab จากเดลตา เป็นส่วนที่ไม่ได้ก่อความรุนแรงโรค ขณะที่จีโนมส่วนอื่น เช่น ส่วนที่สร้างหนามแหลม (ยีน S) และส่วนที่สร้างอนุภาคไวรัสส่วนอื่นๆ เช่น ยีน N ได้มาจากโอมิครอน BA.1 ดังนั้นคุณสมบัติหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันไม่แตกต่างจากโอมิครอน จึงยังไม่พบอาการทางคลินิกที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงโรคมากขึ้น ส่วนประเทศไทยนั้นยังไม่พบเดลตาครอน ทั้งนี้เดลตาครอนที่พบในอังกฤษไม่รุนแรง แต่หากเป็นที่อื่นซึ่งอนาคตจะพบหรือไม่นั้นยังตอบไม่ได้ว่าจะรุนแรงหรือไม่
...
นายกฯ สั่งจับตา "เดลตาครอน" เตรียมพร้อมรับมือ
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวว่า นายกฯ กำชับให้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มสูงขึ้นอีกรอบ โดยเฉพาะในชุมชนและโรงเรียน ย้ำให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขขั้นสูงสุด และให้ติดตามกระแสข่าวหลังพบผู้ป่วยสายพันธุ์ผสมระหว่างเดลตากับโอมิครอน หรือ “เดลตาครอน” รายแรกของโลกที่อังกฤษ แม้ยังไม่ทราบความรุนแรงจะมากกว่าเดิมหรือไม่ แต่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่องใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมให้ทันกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น เชื่อมั่นระบบและมาตรการด้านสาธารณสุขของไทยมีประสิทธิภาพ และมีความเข้มแข็งสามารถรับมือกับการแพร่ระบาดได้
เข้มมาตรการป้องกันสูงสุดคุมทุกสายพันธุ์
ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ที่นักวิชาการระบุแพร่เร็วว่า ระบบการเฝ้าระวังทุกสายพันธุ์ยังเหมือนเดิม โดยเฉพาะมาตรการป้องกันตนเองสูงสุดยังใช้ได้ดี ขอเพียงสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง แม้จะพบจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่อาการไม่มาก อีกทั้งขณะนี้มีการฉีดวัคซีน ฉีดบูสเตอร์โดส ระบบสาธารณสุขยังควบคุมได้
ผู้เขียน : หงเหมิน
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun