นับเป็นการรอคอยยาวข้ามปี “การพิจารณายกเลิกนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศเพื่อใช้ในภาคธุรกิจรีไซเคิล” ตามคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ กำหนดกรอบเวลาเป็นไปได้ห้ามสิ้นเชิงไว้ในปี 2564 ปี 2566 และปี 2569 แต่ยังไม่มีข้อสรุปแนวทางใดๆ
ยื้อเวลาจนทางเลือกแรกล่วงเลยไป คงเหลือทางเลือกที่ 2 และทางเลือกที่ 3 ทำให้หน่วยงานรัฐไม่มีอำนาจตรวจสอบการนำเข้า และการกำกับให้โรงงาน หรือผู้ประกอบการปฏิบัติเป็นไปตามมาตรการอย่างเด็ดขาดได้
กลายเป็นช่องว่างปัญหา “ลักลอบสำแดงเท็จเกิดขึ้นเรื่อยๆ” โดยเฉพาะการนำเข้ามารีไซเคิลในเขตปลอดอากร และเขตประกอบการเสรีมักมี “เศษพลาสติกหายไปเป็นปริศนา” ทำให้สมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าออกมายื่นต่อ “ภาครัฐ” เรียกร้องเข้มงวดการลักลอบ และตรวจสอบรูรั่วนำเข้าในเขตปลอดอากรนี้
ความคืบหน้าเรื่องนี้ ชัยยุทธิ์ พลเสน นายกสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า เล่าว่า ในช่วงเดือน ม.ค.2565 อธิบดีกรมควบคุมมลพิษในฐานะเลขาธิการคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกฯเรียกประชุมคณะทำงานที่สรุป “ห้ามนำเข้าเศษพลาสติกในประเทศ” ยกเว้นเขตปลอดอากร และเขตประกอบการเสรี
...
ด้วยเหตุเพราะ “กรมศุลกากร” ชี้แจงถึงกรณี “ผู้ประกอบการรีไซเคิล” มีการเรียกร้องต่อความต้องการนำเข้าเศษพลาสติกใช้ในภาคธุรกิจรีไซเคิล ที่กำลังเจอปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในประเทศแล้วในที่ประชุมก็ให้ “โรงงาน บริษัท” สรุปตัวเลขความต้องการอนุโลมนำเข้าในปี 2565 แล้วปี 2566 ก็ต้องลดการนำเข้าลงเหลือ 50%
แต่มีข้อสังเกตว่า “ตามสถิตินำเข้าเศษพลาสติกสู่ขั้นตอนรีไซเคิล 100% ในเขตฟรีโซน” แล้วแปรรูปเป็นสินค้ากลับมีตัวเลขการส่งออกขายต่างประเทศ 60% ทำให้สงสัยว่า “เศษพลาสติกอีก 40%” หายออกจากระบบปริศนาไปอยู่ไหน แล้วสิ่งที่หายไปนี้เป็นรูปแบบขยะ หรือลักลอบนำออกมาขายนอกเขตฟรีโซน ก็ไม่มีใครชี้แจงได้
เพราะตามปกติแล้ว “ค่าความสูญเสียหายไประหว่างการรีไซเคิลมักอยู่ที่ประมาณ 5-7% แต่ไม่ควรเกิน 10%” แล้วที่ผ่านมา “ผู้ประกอบการรีไซเคิล” ก็มักกล่าวอ้างเสมอว่า “เศษพลาสติกนำเข้ามีความสะอาด และไม่ปนเปื้อน” ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็ไม่ควรมีตัวเลขหายออกจากระบบมากขนาด 40% ด้วยซ้ำ
อย่างเช่นหากนำเข้า 2 แสนตัน ต้องมีขยะตกค้างในไทย 8 หมื่นตัน นับเป็นเศษพลาสติกนำเข้าแล้วหายออกจากระบบเป็นขยะจำนวนมหาศาลมากจนน่าตกใจ...
ความจริงแล้วการข่าวแจ้งว่า “เศษพลาสติกนำเข้าระบุพิกัดอัตราศุลกากร 3915” เป็นสินค้าภายใต้การควบคุม คือ เศษ เศษตัด และของที่ใช้ไม่ได้ซึ่งเป็นพลาสติกหายปริศนานี้ลือกันว่า “โรงงานบางแห่งมีการลักลอบนำออกมานอกเขตฟรีโซน” ในรูปลักษณะเป็นขยะพลาสติกนำเข้ามาไม่สามารถทำการรีไซเคิลใดๆได้
“แล้วมีบางส่วนถูกนำไปฝังกลบ และบางส่วนนำไปเผาเป็นเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel : RDF) ทั้งที่นำเข้ามาแบบ 100% ก็ควรนำออกไปตามจำนวนนั้น แต่กลับมีการไหลออกนอกเขตฟรีโซนตกค้างทิ้งไว้ในประเทศ กลายเป็นปริมาณขยะสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่จะก่อเป็นปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นเดิม” ชัยยุทธิ์ว่า
หนำซ้ำยังพยายามผลักดันการนำเข้านี้ด้วยการยกข้ออ้างการใช้กฎหมายพิเศษในการควบคุมแยกต่างจากกฎหมายบังคับใช้ทั่วไปของ “การนำเข้า และการส่งออก” สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากรนี้
...
แสดงให้เห็นถึง “ช่องว่างทางกฎหมาย” ที่ใหญ่โตอันจะเป็นการสนองตอบความพยายามของกลุ่มโรงงานที่เรียกร้องขอให้อนุญาตนำเข้าเศษพลาสติกได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ที่แห่งนี้คือ “แผ่นดินไทย” กลับถูกกำหนดข้อยกเว้นเขตปลอดอากร หรือเขตประกอบการเสรีใช้กฎหมายอื่น ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการค้าตามมาก็ได้
ส่วน “ปริมาณการนำเข้าเศษพลาสติก” ครั้งแรก...ผู้ประกอบการเรียกร้องต่อคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกฯ ขอเปิดโควตา 1 แสนกว่าตัน/ปี ล่าสุดเสนอขอนำเข้าเพิ่มเป็น 3 แสนกว่าตัน/ปี
ตัวเลขเพิ่มขึ้นนี้ส่วนหนึ่งมาจาก “โรงงานรีไซเคิล 4 พันกว่าแห่งนอกเขตฟรีโซน โควตาหมดอายุลงในวันที่ 30 ก.ย.2563” แล้วหน่วยงานภาครัฐก็ไม่ต่อใบอนุญาตเพิ่มเติมอีก “ผู้ประกอบการบางส่วนต้องปิดกิจการ” เก็บเสื้อผ้ากลับประเทศต้นทางไป จนตอนนี้เหลือโรงงานอยู่ในไทยไม่ถึง 1 พันแห่งทั่วประเทศ
ต่อมา “กลุ่มผู้ประกอบการพลาสติก” เรียกร้องต่อ “กรมโรงงานอุตสาหกรรม” ต้องการวัตถุดิบเศษพลาสติกนำเข้า พร้อมเสนอรายชื่อโรงงาน 600 โรง เพื่อขอเปิดโควตานำเข้า 5 ปี ในปริมาณ 6-7 แสนตัน
...
ทำให้ “ภาคประชาชน” ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านห้ามนำเข้าเด็ดขาดแล้ว “สมาคมซาเล้งฯ” เป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกฯ ก็เรียกร้องตรวจสอบรายชื่อผู้ขอเปิดโควตาใหม่ พบว่า หลายโรงงานขาดคุณสมบัติ เช่น เคยถูกดำเนินคดี แอบอ้างชื่อมา ไม่มีโรงงานจริง หรือมีโรงงานแต่ปิดกิจการไปแล้ว
สุดท้ายรายชื่อโรงงานเสนอขอเปิดโควตานำเข้าก่อนหน้านี้บางส่วนไม่อาจพิจารณาให้ไปต่อได้ต้องถูกตัดถอนลงเรื่อยๆ ตอนนี้เหลือโรงงานคุณสมบัติเป็นไปได้อยู่ราว 10 โรง ดังนั้น หากภาคประชาชนไม่ออกมาคัดค้าน หรือสมาคมซาเล้งฯไม่อยู่ในคณะอนุกรรมการชุดนี้เชื่อว่าปี 2565 อาจเปิดโควตานำเข้า 7 แสนตันไปแล้วด้วยซ้ำ
สรุปเบื้องต้นว่า “การพิจารณานำเข้านอกเขตฟรีโซน” ยังมีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนโรงงาน และตัวเลขปริมาณความต้องการนำเข้านี้ยังไม่นิ่งดีนัก ทำให้ต้องพักการพิจารณาไว้ชั่วคราวไปก่อน แต่สิ่งนี้ก็มิใช่เป็นการยกเลิกตีประเด็นตกไปโดยสิ้นเชิง ฉะนั้นก็ยังมีโอกาสถูกหยิบยกนำเสนอขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้อยู่เสมอ
...
เมื่อเป็นเช่นนั้น “โรงงานบางส่วนทนแรงถูกคัดค้านต่อต้านการนำเข้าไม่ไหว” เริ่มย้ายฐานผลิตเข้ามาในเขตฟรีโซนเพิ่มขึ้น เพื่อใช้กฎหมายพิเศษการนำเข้าเศษพลาสติกได้ต่ออีก เบื้องต้นน่าจะมีอยู่ 30-40 โรงแล้วยังมีโรงงานกำลังจะเปิดใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้ประกอบการมีความเคลื่อนไหวกว้านซื้อที่ดินเขตฟรีโซนจำนวนมาก
ปัญหาว่า...“ผู้ประกอบการบางรายมีแผนตั้งโรงงาน” ที่ยังไม่ยื่นขออนุญาตเปิดประกอบกิจการ หรือยังไม่มีการดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตกันเลยด้วยซ้ำ แต่กลับปรากฏมีรายชื่อถูกเสนอเข้ามาขอเปิดโควตานำเข้าเศษพลาสติกล่วงหน้าแล้วราว 4-5 หมื่นตัน/ปี อีก
ประเด็นข้อเสนอมีว่า “ถ้าจำเป็นต้องนำเข้ามาในเขตปลอดอากรและเขตประกอบการเสรี” ควรต้องพิจารณาอนุญาตเฉพาะผู้ประกอบการเปิดการผลิตอย่างถูกต้องเท่านั้น แล้วต้องได้มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม หรือ ISO 14001 ส่วนโรงงานอยู่ระหว่างการขออนุญาตเปิดโรงงานไม่ควรเสนอชื่อขอโควตาไว้ก่อน
สิ่งสำคัญ “เมื่อนำเข้าเศษพลาสติกมาปริมาณเท่าใด...ควรต้องส่งออกจำหน่ายนอกประเทศจำนวนนั้น” ด้วยภาครัฐต้องเข้ากำกับดูแลอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้รั่วไหลออกนอกเขตฟรีโซนตกค้างอยู่ในไทย คาดว่าเร็วๆนี้ “สมาคมซาเล้งฯ” จะทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะอนุกรรมการฯพิจารณาตรวจสอบช่องโหว่เหล่านี้ด้วย
อันเป็นการป้องกันมิให้ต่อท่อทางไหลนำขยะออกนอกเขตฟรีโซนมิเช่นนั้น “ประเทศไทย” จะยังคงเป็นที่รองรับขยะโลก ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นเดิม โดยเฉพาะกลุ่มซากแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ห้ามนำเข้าเด็ดขาดแล้วก็อาจถูกลักลอบนำเข้ามาได้อีก เพราะมีกำไรคุ้มค่าต่อความเสี่ยงมากกว่านำเข้าเศษพลาสติกด้วยซ้ำ
ตอกย้ำความกังวล “ถ้าต้านทานแรงไม่ไหว” ภาครัฐต้องอนุญาตเฉพาะโรงงานขออนุญาตถูกต้องตามความเป็นจริง พร้อมทั้งจำกัดปริมาณโควตาด้วยการออกกฎระเบียบควบคุมผู้นำเข้ามาเท่าใดควรนำออกเท่านั้นแล้วใครก่อกำเนิดปัญหาคนนั้นต้องรับผิดชอบ แค่นี้ทุกอย่างก็จบ “ประเทศไทย” ไม่ต้องถูกใช้เป็นที่ทิ้งขยะโลกอีก
คาดว่าเดือน ก.พ.2565 ถ้าไม่มีการคัดค้านใดๆ ก็น่าจะประชุมสรุปผลรายงานเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณา ที่เรายังต้องจับตาอย่างใกล้ชิดกันต่อไป...