ถึงฤดูแล้ง ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 พุ่งปรี๊ดติดชาร์ตเป็นประจำทุกปี จนกลายเป็นปัญหาระดับชาติของประเทศ

และแนวทางหนึ่งที่รัฐบาลพยายามหาทางแก้ปัญหาแต่ไม่ค่อยได้ผล นั่นคือ ลดการเผานาข้าว เผาอ้อย เผาป่า รวมไปถึงลดการเผาในที่โล่ง

ทั้งที่วัสดุถูกเผาเหล่านี้ล้วนมีศักยภาพที่จะนำมาทำเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ หากเก็บรวบรวมมาเผาในระบบปิดที่ถูกออกแบบไว้โดยเฉพาะ

“จากการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการในเรื่องนี้ของต่างประเทศ สหภาพยุโรปให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก มีการเก็บรวบรวมทั้งกิ่งก้าน ใบและรากของต้นไม้ในป่า โดยเหลือส่วนหนึ่งทิ้งไว้ให้เป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศ รวมทั้งรวบรวมเศษวัสดุการเกษตรในไร่นาที่เหลือทิ้งจากการเก็บเกี่ยว นำมาใช้เป็นแหล่งพลังงานได้ ไม่ว่าจะเป็นการนำมาเข้าเตาเผาเพื่อผลิตไอน้ำแล้วปั่นไฟฟ้าโดยตรง หรือแปรรูปให้เป็นก๊าซมีเทน ผ่านกระบวนการ gasification หรือ fast pyrolysis แปรรูปเป็นเชื้อเพลิงเหลวที่เรียกว่าไบโอ ออยล์ แล้วจึงนำไปใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิง สามารถช่วยให้เกิดสมดุลเรื่องการปลดปล่อยคาร์บอนได้มาก เมื่อเทียบกับการใช้ถ่านหินหรือแหล่งพลังงานจากปิโตรเลียม”

...

ดร.บุรินทร์ สุขพิศาล คณะบริหารธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง บอกว่า สำหรับบ้านเรา จะมีแต่การนำผลพลอยได้จากโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรมาผลิตไฟฟ้าโดยตรงเท่านั้น เช่น โรงสีข้าว ได้แกลบ นำแกลบมาเผาเพื่อผลิตไอน้ำหรือไฟฟ้า โรงสกัดน้ำมันปาล์ม นำทะลายปาล์มและกะลาปาล์มมาผลิตไอน้ำและไฟฟ้า โรงน้ำตาลนำกากอ้อยมาผลิตไอน้ำและไฟฟ้า

เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาเพราะผลพลอยได้จากสิ่งเหล่านี้ มีเหลือทิ้งอยู่ที่โรงงานแปรรูปอยู่แล้ว ทำแค่เพียงตั้งโรงผลิตไอน้ำ ตั้งโรงไฟฟ้าในโรงสี ในโรงปาล์ม ในโรงน้ำตาล เป็นเรื่องที่เรานิยมทำกันมานานแล้ว

“แต่เมื่อพูดถึงเศษวัสดุการเกษตรที่เป็นต้นกำเนิดของปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 กลับกลายเป็นเศษวัสดุที่ตกหล่นอยูในไร่นา เช่น ฟางข้าว ใบอ้อย ที่มัก จะถูกกำจัดด้วยวิธีง่ายๆเผากลางแจ้งจนเป็นต้นเหตุสำคัญของฝุ่นพีเอ็ม 2.5

ดังนั้น ประเทศไทยควรเอาแบบอย่างการบริหารจัดการของฝรั่งมาใช้บ้าง แต่ดูเหมือนภาครัฐจะขยับได้ช้า เพราะโควตาการผลิตไฟฟ้ากลายเป็นของมีค่าที่ใครๆก็อยากได้ แถมภาครัฐยังมีขั้นตอนที่เรียกว่าคนธรรมดาไม่อาจเอื้อมถึงได้โดยง่าย”

ดร.บุรินทร์ บอกอีกว่า การจัดการปัญหานี้ในยุโรป มีการทำแผนที่นำทางในระดับภูมิภาค โดยการให้ทุนและผลักดันจนเกิดโครงการต่างๆขึ้น เช่น GoBiGas ของสวีเดน เมื่อปี 2550 ที่ใช้กระบวนการ gasification เพื่อผลิตไบโอมีเทนและความร้อน เชื้อเพลิงยานยนต์และไฟฟ้าจากเศษวัสดุและไม้จากป่า มีกำลังผลิตไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์

โครงการของกลุ่ม Carbonarius ของประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2556 มีการลงทุนใช้เศษวัสดุจากป่าไม้มาผลิตในลักษณะเดียวกับ GoBiGas ของสวีเดน ในปีเดียวกันโครงการของกลุ่ม Fortum ในฟินแลนด์ ใช้เทคโนโลยี Fast Pyrolysis เพื่อผลิตไบโอออยล์ และอีกสองปีต่อมามีโครงการของกลุ่ม Empyro ในเนเธอร์แลนด์ ผลิตไบโอออยล์เพื่อใช้เป็นพลังงานในการผลิตไอน้ำและกระแสไฟฟ้าแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติ และยังมีโครงการในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นที่ประเทศเอสโตเนีย และลัตเวีย เพื่อส่งออกไบโอออยล์ไปยังฟินแลนด์และสวีเดน

ส่วนในประเทศไทยยังไม่มีโครงการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง จะมีก็แต่การรวบรวมใบอ้อยไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าอยู่บ้าง ส่วนการนำวัสดุตกค้างในไร่นาสวนหรือป่าไปผลิตเป็นไบโอออยล์ ไบโอมีเทนเพื่อนำไปใช้ผลิตพลังงานในขั้นต่อไปยังไม่เกิดขึ้น

...

ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่เกิดขึ้นทุกปี ถึงเวลาแล้วหรือยังที่หน่วยงานภาครัฐต้องเตรียมขับเคลื่อนอย่างจริงจัง และหากประเทศไทยยังไม่เดินหน้าในการนำวัสดุตกค้างในไร่นาสวนหรือป่ามาแปรรูปเป็นพลังงานรูปแบบใหม่ๆ หรือยังมัวแต่หวงโควตาโรงไฟฟ้าชีวมวลกันไว้แบบนี้ เราคงไม่มีทางที่จะตอบสนองต่อเป้าหมายการสร้างสมดุลคาร์บอน ที่ไปแสดงวิสัยทัศน์ไว้ในการประชุม COP26 ได้

นอกจากประเทศจะเต็มไปด้วยฝุ่นพีเอ็มไปอีกนานแสนนานแล้ว ยังจะทำให้ประเทศต่างๆ มองเราอย่างดูแคลนได้ว่า นโยบาย BCG (Bio-Circular-Green Economy) ของรัฐบาลไทยที่ถูกกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ เป็นแค่เพียงตัวหนังสือบนแผ่นกระดาษและลมปากของนักการเมืองเท่านั้นเอง.

ชาติชาย ศิริพัฒน์