การปฏิรูปอุดมศึกษาครั้งใหญ่ได้เริ่มขึ้นแล้ว! มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 11 ม.ค.2565 เห็นชอบอนุมัติจัดตั้ง “กองทุนพัฒนาการอุดมศึกษา” ตามที่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาอย่างเป็นระบบ ทั้งด้านวิชาการและการพัฒนาคน เพื่อนำ “ไทย” ให้เป็นประเทศพัฒนาแล้วให้ได้ภายในสิบปีข้างหน้า

ถัดจากนั้นเพียงแค่ 2 วัน คือวันที่ 13 ม.ค. เกิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของระบบการอุดมศึกษาไทย เมื่อ อว. และ อธิการบดี 25 สถาบันการศึกษา มีมติเห็นชอบเปิดลงทะเบียนเรียนรายวิชาข้ามสถาบันระดับบัณฑิตศึกษาได้ แถมสามารถใช้หน่วยกิตของรายวิชาดังกล่าวให้เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยกิตในหลักสูตรที่นักศึกษากำลังศึกษาได้ด้วย

ต่อมา วันที่ 1 ก.พ. ครม. มีมติอนุมัติ “หลักสูตรแซนด์บ็อกซ์” หรือการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) ตามที่ อว.เสนอเพื่อตอบโจทย์การพัฒนากำลังคนขั้นสูงของประเทศ พร้อมทลายข้อจำกัดการจัดการศึกษาแบบเดิม ทั้งมาตรฐานของผู้สอน หน่วยกิต และหลักสูตร

ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์

...

และในวันเดียวกัน อว.ร่วมกับ 17 มหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non degree) ภายใต้โครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ (Reskill/Upskill/Newskill) เพื่อการมีงานทำและเตรียมความพร้อมรองรับการทำงานในอนาคต

ทั้งหมดที่เกิดขึ้นภายใน 1 เดือนเศษอย่างเป็นตอนและเป็นระบบ ทำให้การอุดมศึกษาไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

นั่นหมายถึง การอุดมศึกษาไทยจากนี้ไปจะเป็นการใช้ “ความรู้” จากสถาบันอุดมศึกษาเพื่อ “สร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง” ให้สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ

“นี่คือการปฏิรูปอุดมศึกษาไทยครั้งใหญ่ อว.มุ่งมั่นจะขับเคลื่อนให้ไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วให้ได้ภายในสิบปีข้างหน้า ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมาก การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วจำเป็นต้องใช้ความรู้เป็นฐานในการพัฒนาประเทศ อว.จึงผลักดันการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา เพื่อใช้เป็นกลไกในการสนับสนุนการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาอย่างเป็นระบบและมีเป้าหมาย ทั้งด้านวิชาการและการพัฒนาคน ตลอดจนใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้เพื่อผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกันในเรื่องของ “หลักสูตรแซนด์บ็อกซ์” ก็ต่อเนื่องกันคือ เพื่อทำให้เกิดการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาใหม่ให้ทันต่อบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งความก้าวหน้าที่รวดเร็วของเทคโนโลยี การเข้าสู่สังคมสูงวัยและที่สำคัญ สังคมไทยจะมีวิถีชีวิตแบบหลายช่วงหรือ Multistage Life หมายความว่า ในอนาคตจากนี้ประชาชนจะใช้ชีวิตหลากหลายมากขึ้น ไม่ได้เรียงลำดับขั้นจากการเรียนหนังสือ ทำงาน เกษียณจบเป็นขั้นเป็นตอนเพียงเท่านั้นอีกต่อไป แต่อนาคตการเรียนรู้ การทำงาน การใช้ชีวิตจะเปลี่ยนไป เช่น นักศึกษาเรียนไปสักระยะอาจจะออกไปทำงานหาประสบการณ์ก่อนแล้วกลับมาเรียนต่อจนจบก็ได้ ขณะที่คนสูงอายุกลับมาเรียนใหม่ คนเกษียณแล้วมาหางานทำใหม่ เป็นต้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ ให้สามารถผลิตและพัฒนากำลังคนที่รองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่” ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว.ระบุถึงทิศทางการปฏิรูปอุดมศึกษาของไทย

แน่นอนว่า สาเหตุที่ต้องทำเพราะมาตรฐานการอุดมศึกษาของประเทศไทยปัจจุบัน มีข้อจำกัดต่อการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ เช่น มาตรฐานของผู้สอน หน่วยกิต หลักสูตร ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนากำลังคนให้ทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงและให้ทันต่อความต้องการของอุตสาหกรรมสมัยใหม่

ขณะเดียวกัน อว.ยังทลาย พรมแดนแห่งการเรียนรู้ด้วยการให้นิสิตนักศึกษาสามารถเรียนข้ามสถาบันได้ใน 25 สถาบันการศึกษา และสามารถใช้หน่วยกิตของรายวิชาดังกล่าวให้เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยกิตในหลักสูตรที่นักศึกษากำลังศึกษาได้ รวมทั้งสามารถนำไปอยู่ในระบบคลังหน่วยกิตสะสมได้ตามข้อกำหนดของ แต่ละสถาบัน

“ถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของระบบการอุดมศึกษาไทย ที่เกิดขึ้นโดยความเห็นชอบของอธิการบดีทั้ง 25 สถาบัน เรื่องนี้เป็นเรื่องยากมาก แต่เราสามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อนักศึกษาที่ควรได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ให้พวกเขามีโอกาสเสาะแสวงหาความรู้ตามรายวิชาที่ตนสนใจและได้รับประสบการณ์ที่หลากหลายจากมหาวิทยาลัยที่ต่างก็มีของดีและความเป็นเลิศที่แตกต่างกัน ขณะที่มหาวิทยาลัยยังได้รับประโยชน์จากการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลและองค์ความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย เป็นการสนธิกำลังกันให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศ” ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว.ระบุ

...

ที่สำคัญ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ยังเดินหน้าด้วยการจับมือกับ 17 มหาวิทยาลัย เปิด 22 หลักสูตร Non degree เพื่อพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ เพื่อการมีงานทำและเตรียมความพร้อมรองรับการทำงานในอนาคต

“บุคลากรที่สถาบันอุดมศึกษาจะสร้างขึ้นมาต้องตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานหรือตลาดแรงงาน ที่สำคัญคือ ผู้ประกอบการธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน โดยหลักสูตรอาจจะไม่ต้องใช้ระยะเวลายาวนานเหมือนการเรียนเต็มหลักสูตรในระบบปกติ จะเน้นใน 3 กลุ่มสาขา ได้แก่ เกษตรกรอัจฉริยะ (Smart Farming) การยกระดับการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ (Smart Tourism) และหลักสูตรใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ เช่น ด้านการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้านอุตสาหกรรมอาหาร ด้านการจัดการโลจิสติกส์ ด้านนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) เป็นต้น” ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าว

“ทีมข่าวอุดมศึกษา” มองว่า นี่คือก้าวสำคัญในการปฏิรูปอุดมศึกษา ในการทลายข้อจำกัดการจัดการศึกษาแบบเดิมสู่การเรียนรู้แบบใหม่ในโลกไร้พรมแดน

...

เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับโลกได้และทำให้ไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายใน 10 ปี

คบไฟแห่งการปฏิรูปได้เริ่มขึ้นแล้ว...

ทีมข่าวอุดมศึกษา