ความตระหนักรู้ถึงอันตรายใหญ่หลวงอันเกิดจากขยะพลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกที่ถูกใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single-use Plastics) ซึ่งสะสม หมักหมม อยู่ยงคงกระพัน เพราะใช้เวลาในการย่อยสลายมากกว่า 400 ปี ดูเหมือนว่าจะถูกลืมเลือนไปชั่วขณะ จากวิกฤติโควิด-19 ซึ่งลากยาวล่วงเลยมากว่า 2 ปีเศษแล้ว
การระบาดของไวรัสทำให้การรักษาสุขอนามัยทวีความเข้มข้น การเว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารนอกบ้าน การแยกสำรับ ภาชนะ ช้อน ส้อมใส่ในบรรจุภัณฑ์เพื่อการใช้งานแต่ละบุคคล ตลอดจนการสั่งอาหารดีลิเวอรี ล้วนแล้วแต่เป็นพฤติกรรมที่เพิ่มขยะพลาสติกแบบ Single-use ในอัตราเร่งทวีคูณ เช่นเดียวกับพลาสติกที่เกิดจากอุปกรณ์ทางการแพทย์ ตั้งแต่หน้ากากอนามัย เข็ม และล่าสุดชุดตรวจโควิดแบบ ATK
ความเพียรพยายามในการลดการใช้พลาสติก ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายของมันที่มีต่อสิ่งแวดล้อม สัตว์โลกและสุขภาพมนุษย์ ที่เคยถูกปลุกให้เป็นกระแสหลักของโลก กลายเป็นถูกหลงลืมไปชั่วขณะจากความหวาดกลัวโควิด
ทำให้ในช่วง 2 ปีแห่งการแพร่ระบาด ขยะพลาสติกเพิ่มจำนวนขึ้นมาก เปรียบเทียบกับในช่วงปี 2562 คนไทยสร้างขยะพลาสติกเฉลี่ยคนละ 96 กรัมต่อวัน พอปี 2563 ที่โควิดเริ่มแพร่ระบาดเป็นปีแรก ขยะเพิ่มขึ้นกว่า 40% เป็นเฉลี่ย คนละ 134 กรัมต่อวัน และ ณ สิ้นสุดเดือน เม.ย.2564 เพิ่มเป็นเฉลี่ยคนละ 139 กรัมต่อวัน เฉพาะปี 2563 คนไทยทิ้งหน้ากากอนามัยวันละ 1.5-2 ล้านชิ้น
...
ยังนับว่าโชคดีที่การประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 หรือ COP26 ซึ่งมีขึ้นเมื่อ 31 ต.ค.-12 พ.ย.2564 สามารถสร้างแรงกระเพื่อมด้านสิ่งแวดล้อมได้อีกครั้ง หลังเหล่าผู้นำจากประเทศทั่วโลกเล็งเห็นถึงสถานการณ์ที่ย่ำแย่ลง
ต่อเรื่องนี้ นพ.วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารจากเยื่อพืชธรรมชาติภายใต้แบรนด์ Gracz ให้ความเห็นว่า การประชุม COP26 ช่วยกระตุ้นความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมให้กลับมาอีกครั้ง เห็นได้จากคำสั่งซื้อบรรจุภัณฑ์ของ Gracz จากลูกค้ากว่า 30 ประเทศทั่วโลก ที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 โดยเฉพาะจากญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย
“เรายังเห็นความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติในตลาดโลกที่หลากหลายขึ้น เช่น ใบตอง กะลามะพร้าว ชานอ้อย ล่าสุด Gracz ยังเพิ่งได้รับคำขอให้ช่วยจัดหาใบตองเพื่อส่งออกให้กับลูกค้าต่างประเทศด้วย”
นพ.วีรฉัตร เล่าว่า สหประชาชาติ หรือ UN และองค์กรระหว่างประเทศในเครือ ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการผลักดัน ยกตัวอย่าง การผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ถาดรูปกรวยที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ซึ่ง Gracz ได้รับการติดต่อและสนับสนุนวงเงินกู้จาก UN และเครือข่าย ให้ช่วยพัฒนาและผลิตเพื่อช่วยลดการใช้พลาสติกแบบ Single-use ในงานด้านสาธารณสุข โดยปัจจุบันสามารถผลิตและจำหน่ายให้กับโรงพยาบาลทั้งในและต่างประเทศแล้ว
ในอนาคตเชื่อว่าวัสดุจากธรรมชาติจะเข้าแทนที่พลาสติกแบบ Single-use มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นแพ็กเกจจิ้งมือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ของเล่นเด็ก โดยปัจจุบัน Gracz ผลิตภาชนะจากเยื่อพืชธรรมชาติหลากชนิด ตั้งแต่ ชานอ้อย ฟางข้าว ผักตบชวา เยื่อปาล์ม ใยสับปะรด ซังข้าวโพด โดยมีสูตรผสมไขว้วัตถุดิบธรรมชาติต่างๆ กว่า 50 สูตร ด้วยกัน เพื่อตอบสนองการใช้งานที่หลากหลาย
“การขับเคลื่อนในระดับนโยบายถือว่าสำคัญมาก ลูกค้าของเราส่วนใหญ่จึงอยู่ในประเทศพัฒนาแล้วที่รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม ในส่วนของประเทศไทย ผมเชื่อว่าปี 2565 นี้ เราจะมีความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมขึ้นไปอีก หลังจากที่รัฐบาลเดินหน้าประกาศลด เลิกใช้กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบบาง และ หลอดพลาสติก ภายในปี 2565 ทำให้ตอนนี้ห้างแม็คโครไม่จำหน่ายภาชนะที่ทำจากโฟมแล้ว”
...
ความจริงประโยชน์ของพลาสติกมีมากมายและไม่ใช่ไม่ดี พลาสติกได้รับการยอมรับเรื่องความแข็งแรง ทนทาน แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือพลาสติกแบบ Single-use หรือใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ซึ่งเพิ่มขยะจำนวนมหาศาลให้กับโลก ถูกทิ้งลงแหล่งน้ำ แตกตัวเป็นไมโครพลาสติกขนาดเล็กมากๆ เมื่อแพลงก์ตอนกินเข้าไป แพลงก์ตอนถูกปลากิน และมนุษย์กินปลาต่อเป็นทอดๆ ไมโครพลาสติกเหล่านี้จึงถูกส่งผ่านและสะสมอยู่ในตัวมนุษย์ ฝังอยู่ในเนื้อเยื่อ ทำให้เป็นโรคเกี่ยวกับฮอร์โมนและปัญหาสุขภาพอื่นๆตามมา
ธุรกิจที่ใช้พลาสติกแบบ Single-use มากที่สุด คือธุรกิจอาหาร ซึ่งถูกคำนวณออกมาเป็นค่าเฉลี่ยทั่วโลก คน 1 คนใช้พลาสติกตกวันละ 1.8 ชิ้น แต่คนไทยใช้มากกว่าที่วันละ 2.3 ชิ้น “ประเทศไทยเป็นเมืองท่องเที่ยว เมืองอาหาร จึงมีการใช้ Single-use Plastics เป็นจำนวนมาก แม้โควิดระบาดจะทำให้การท่องเที่ยวซบเซา แต่ขยะพลาสติกจากโควิดและฟู้ดดีลิเวอรีก็เข้ามาแทนที่ขยะจากนักท่องเที่ยวอยู่ดี”
“ไม่นานมานี้ มีงานวิจัยตรวจหาสิ่งปนเปื้อนในอุจจาระมนุษย์ พบว่ามีไมโครพลาสติกปะปนอยู่ถึง 33% หากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไข ไม่มีการเริ่มต้น คนในยุคลูกหลานของเราจะอยู่กันอย่างไร” นพ.วีรฉัตรกล่าวปิดท้าย.
ศุภิกา ยิ้มละมัย