กลายเป็นข่าวฉาวสะท้อนศรัทธาวงการผ้าเหลืองที่ถดถอยอีกครา เมื่ออดีตเจ้าอาวาสรูปหนึ่งได้ประพฤติผิดพระธรรมวินัยตามที่พิสูจน์ได้จากชาวบ้านว่าอยู่กันสองต่อสองกับสตรีเพศคนหนึ่งในกุฏิตนเองยามวิกาล ในวัดแห่งหนึ่งย่านพระประแดงจังหวัดสมุทรปราการ
พระมหาสมัย จินฺตโฆสโก ประธานมูลนิธิกลุ่มแสงเทียน เจ้าอาวาสวัดบางไส้ไก่ กทม. บอกว่า ครั้งนี้ชาวบ้านจับได้คาหนังคาเขาอย่างที่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลย เพราะหลักฐานชัดเจน ทั้งจากกล้องวงจรปิด จากพยานบุคคล พยานในที่เกิดเหตุ พยานวัตถุ โดยเฉพาะ “ผ้าคาดผมของสตรีเพศ”
แม้ว่าอดีตเจ้าอาวาสอ้างว่าเป็นของตนเอง เพื่อเอามารัดศีรษะเวลาปวดหัว จนกลายเป็น “วลีใหม่” ฮอตฮิตติดลมบนในโลกโซเชียล และยิ่งน่าสลดหดหู่ใจเป็นที่สุดคือชาวบ้านได้พบว่ามีสตรีเพศซุกตัวเองอยู่ใต้บันไดกุฏิโดยมีผ้าเหลืองคลุมบังสายตาไว้ มีทั้งชุดนอก...ชุดชั้นในตกอยู่ในที่เกิดเหตุด้วย
...
ในกรณีที่อยู่กันสองต่อสองกับสตรีเพศเช่นนี้ จึงเข้าข่าย “อาบัติสังฆาทิเสส” ...ยังไม่มีหลักฐานว่าเป็น “อาบัติปาราชิก” เมื่อจนมุมเช่นนี้อดีตเจ้าอาวาสจึงได้ทำการลาสิกขาหรือ “สึก” ในเวลาผ่านไปเพียงไม่กี่ชั่วโมง เป็นภาพพจน์ที่ได้สร้างความเสื่อมเสียให้กับวงการพระพุทธศาสนาอย่างมาก
พระมหาสมัย ย้ำว่า เพราะเป็นพระเถระผู้ใหญ่ปกครองดูแลวัด แต่กลับมาประพฤติชั่วเสียเอง โดยที่มีกิเลสหนา “ไม่เกรงกลัวต่อบาป” ถึงแม้ว่าได้เป็นความผิดเพียงตัวบุคคล แต่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมของบรรดาพุทธศาสนิกชนด้วยกัน
จึงจำเป็นต้องออกมาช่วยกันดูแล คุ้มครอง ปกป้อง “พระพุทธศาสนาของเรา” ให้สะอาด สดใส ให้กลายเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวบ้านและชาวพุทธตลอดไป โดยที่เราไม่ต้องไปเพ่งโทษคนอื่นว่าเป็นแผนของคนอื่นที่จะมาทำลายพระพุทธศาสนาของเราเองบ้าง...เป็นแผน “นารีพิฆาต” บ้าง
แต่สุดท้ายก็จนด้วยหลักฐานเพราะ “สมภารพิฆาตนารี” เสียเอง
ความเป็นจริงชีวิต...“พระภิกษุ” “สามเณร” ในพระพุทธศาสนานี้ ได้มีกรอบและกติกาตามพระธรรมวินัยและสังคมอยู่มากถึงสี่ชนิดด้วยกันคือ...กรอบพระธรรมและพระวินัย กรอบกฎหมายบ้านเมือง กรอบกติกาทางสังคม และ กรอบของประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ
ทั้งนี้เพื่อให้สงฆ์สาวกของพระพุทธองค์ได้เป็นผู้มีศีลธรรมจนกลายเป็น “เนื้อนาบุญของโลก”
“นักบวชรูปใดที่สามารถประพฤติปฏิบัติอยู่ในกรอบที่ว่านี้ได้ จึงถือว่าเป็นนักบวชที่ทรงศีล ให้ชาวบ้านชาวพุทธกราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ สุดท้ายย่อมนำมาซึ่งความเชื่อตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์...ความศรัทธาให้กับชาวบ้าน ชาวพุทธ จนทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอยู่คู่กับโลกนี้ตลอดไป”
“พระธรรม” และ “พระวินัย” ที่พระภิกษุสามเณรทุกรูปจะต้องศึกษาเล่าเรียนให้เกิดความชัดเจนแจ่มแจ้งเพื่อจะนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง ให้รู้ไว้ว่า...พระวินัยคือข้อบัญญัติที่พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติไว้เพื่อให้สงฆ์สาวกของพระพุทธองค์ได้ดำรงชีพสมณเพศอย่างสงบ...สวยงาม
มุ่งหมายนำตนไปสู่ความดีตลอดถึงจนบรรลุมรรคผลนิพพานเป็นที่สุด ศีลของพระภิกษุและสามเณรจะต้องสมบูรณ์อยู่ตลอดเวลาจึงจะได้ชื่อว่าเป็น “สมณเพศ” ที่สมบูรณ์ แต่ถ้านักบวชไม่มีศีลแล้วก็ไม่ต่างจากผ้าผืนหนึ่ง ที่ขาดวิ่น หรือกลายเป็นแผลที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้หรือใช้ได้แต่ก็ไม่สมบูรณ์
...
“การที่พระภิกษุสามเณรรูปหนึ่งจะมีศีลและอยู่ในกรอบพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์ได้นั้น จะต้องมีสิ่งแวดล้อมที่ในพื้นที่นั้นๆได้มีส่วนผลักดันหรือสนับสนุนให้เกิดสิ่งดีงามขึ้นมาในนักบวชรูปนั้นด้วย อย่างเช่นในวัดวาอารามนั้นเงียบสงบปลอดมลพิษภาวะด้านเสียง อากาศ ไม่แออัดยัดเยียด...”
เหมาะสำหรับการที่ผู้ปกครองหรือญาติพี่น้องจะส่งบุตรหลานของตนเองเข้ามาบรรพชาหรือบวชเณร เข้ามาอุปสมบทหรือบวชพระ เราจึงมักพบเห็นอยู่เสมอว่าหลายท่านมักเลือกเอาวัดที่คิดว่าดีที่สุดสำหรับการให้บุตรหลานของตนเองเดินหน้าเข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ เป็นต้น
เมื่อมีพระภิกษุสามเณรหนึ่งรูปเข้ามาสังกัดภายในวัดนั้นๆแล้ว จึงเป็นภาระหน้าที่ของ “พระพี่เลี้ยง” และ เจ้าอาวาสผู้ปกครองในวัด เป็นผู้ดูแลแนะนำพร่ำสอนรวมถึงประพฤติปฏิบัติเป็น “ตัวอย่างที่ดี” ตลอดเวลา แต่ถ้าไม่ดีแล้วก็หมายถึงว่าลูกหลานที่ได้บวชมาก็ต้อง “ตกนรก” ทั้งเป็นดังเหตุและผลที่กล่าวอ้างมานี้
สิ่งที่ได้พบเห็นทางกายภาพอยู่ตลอดเวลาที่มีส่วนให้พระพุทธศาสนาเสื่อมลงไปในการประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุสามเณรในขณะนี้คือ พระยังขับรถยนต์อยู่ทั้งๆที่ผิดกฎหมายและผิดต่อคำสั่งของมหาเถรสมาคมซึ่งเป็นคำสั่งขององค์กรการปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย พระรู้แต่ไม่ปฏิบัติตาม นี่คือต้นเหตุ...
...
ประการต่อมาการแต่งกายของพระภิกษุสามเณร ในทุกวันนี้ได้ละเมิดพระธรรมวินัยตามพุทธบัญญัติอย่างชัดเจน คือใส่เสื้อแขนยาวเหมือนกับชาวบ้าน ถึงแม้ว่าจะเป็นสีเหลืองอยู่ก็ตาม ถ้าเราย้อนดูให้ดีในเครื่องแต่งกายของนักบวชที่สำคัญมีอยู่สามชิ้นดังที่เราทราบกันดีอยู่แล้ว แต่พวกเรากลับมาละเมิดเสียเอง
“พวกเราไม่ตักเตือนพวกเราด้วยกันจะให้ชาวบ้านมาตักเตือนเช่นนั้นอีกหรือ? เราจะมาอ้างว่าแต่งกายประยุกต์ตามประเทศนิยมหรือตามสภาพภูมิอากาศก็สุดแต่จะอ้างกันไป ขอให้มาตั้งสติกันเถิด เริ่มต้นที่ตัวเรา บวชมาวันแรกเคยมีเสื้อแขนยาวมาด้วยหรือ? มิเช่นนั้นก็ไม่ผิดกับฆราวาส”
“พระเจ้าอาวาส” ที่เป็นผู้ปกครองสูงสุดในวัดควรตระหนักข้อนี้ได้แล้ว “อังสะ” และ “สบง” ของพระมีไว้ชัดเจนแล้วตามพระธรรมวินัย ควรยึดถือให้ชัดเจนกันเถิด ขออย่าได้มาอ้างว่า “เป็นของภายนอก” นี่คือภายนอกสีเหลืองสามชิ้นที่นักบวชใช้กันอยู่อย่างถูกต้อง ขอให้เคร่งครัดกันเถิด
ของภายนอกนี่แหละที่เป็น...สัญลักษณ์ให้ชาวบ้าน “กราบไหว้พระสงฆ์” ที่มีการแต่งกาย “ไม่เหมือนกับชาวบ้าน” องค์กรสูงสุดของคณะสงฆ์ไทยควรจะมีคำสั่งหรือระเบียบการด้านนี้ออกมาบังคับใช้ให้ชัดเจนก่อนที่เครื่องหมายของ “พระสงฆ์” จะถูกเปลี่ยนไปและเลือนรางไปในที่สุด
ข้างต้นนี้อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ ควรถือเป็นเรื่องสำคัญ...เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามอีกต่อไป
...
“เจ้าอาวาส” หรือเรียกภาษาชาวบ้านว่า “สมภาร” จึงมีความหมายและมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพราะวัดก็อยู่ติดกับหมู่บ้านหรือชุมชน วัดพึ่งบ้านและบ้านก็พึ่งวัด ตัวบุคคลเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาหรือตามสถานการณ์ แต่วัดกับบ้านก็ยังมีอยู่คู่กันตลอดไป สมภารจึงมีความสำคัญในเบื้องต้น...
เหมือนกับ “ผู้ใหญ่บ้าน” หรือ “ประธานชุมชน” ในการที่จะสร้างสรรค์ให้พื้นที่นั้นๆมีความเจริญรุ่งเรือง สมภารได้มีการพัฒนา สร้างสรรค์ ผู้ใหญ่บ้านหรือประธานชุมชนช่วยดูแลทุกข์สุขให้กับชาวบ้านชาวชุมชนก็ถือว่าเป็น “สุดยอด” แห่งความปรารถนา ผู้คนในพื้นที่มีความสุข มีความเจริญรุ่งเรือง มีความสง่างาม
ทุกคนทุกฝ่ายร่วมด้วยช่วยกัน...เป็นที่เชิดหน้าชูตาก็ล้วนมีแต่สิ่งที่ดีเกิดขึ้นในท้องถิ่น แต่ถ้าตรงกันข้าม...“เอาหูไปนาเอาตาไปไร่” เสียแล้วก็อย่าหวังเลยว่าความสุขหรือประโยชน์จะเกิดขึ้นกับท้องถิ่นนั้นๆ
พระมหาสมัย ฝากทิ้งท้ายว่า มาร่วมมือและตื่นตัวกันเถิด ประโยชน์จะเกิดขึ้นกับส่วนรวมอย่างมีคุณค่าอเนกอนันต์... “วัดกับบ้านจะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เพราะวัดพึ่งบ้านและบ้านก็พึ่งวัด วัดดูแลบ้านและบ้านก็ดูแลวัด” นี่คือคุณค่าของพระพุทธศาสนาและสังคมไทยเรา.