ได้เวลาปัญหาหมอกควันฝุ่นพิษกลับมาอาละวาดอีกแล้ว กลางเดือนนี้หมอกควันจากพม่าจะลอยข้ามพรมแดนมาที่ภาคเหนือ และเกษตรกรภาคเหนือก็จะเริ่มเผาอ้อย ข้าวโพด ลากยาวไปยันเดือน เม.ย. ขณะที่ฝุ่นพิษใน กทม.ซึ่งหายไประยะหนึ่งจากการล็อกดาวน์และเวิร์กฟรอมโฮมกำลังไต่อันดับกลับมาทวงแชมป์สร้างมลพิษอีกครั้ง ปัจจัยหลักมาจากควันรถยนต์และการก่อสร้าง นอกจากนี้ยังมีการปล่อยก๊าซจากโรงงาน ทำให้ชาวบ้านในเขตอุตสาหกรรมตายผ่อนส่งไม่รู้ตัว

ตลอด 7 ปีกว่าที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ไม่เคยแก้ปัญหานี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว มีแต่ปัญหาเฉพาะหน้า แก้ปลายเหตุ ปีนี้ก็คงอีหรอบเดิม ขอความร่วมมือไม่ให้เผาไร่ ขอแรงภาคเอกชนช่วยฉีดพ่นละอองน้ำดักฝุ่น ขู่ปรับโรงงานปล่อยก๊าซพิษ

ถ้าไปฟังคำสัมภาษณ์ย้อนหลังตลอด 2 ปีของ คุณวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พูดเหมือนเดิมเป๊ะ อ้างว่าเป็นปัญหาที่มาจากหลายปัจจัยหลายภาคส่วน ถ้าจะแก้ปัญหาให้ได้ผลจริงจัง ต้องใช้ความร่วมมือจากหลายฝ่าย เป็นเรื่องระดับชาติ แต่ผมก็ยังไม่เคยเห็น รมต.วราวุธขยับเป็นหัวหอกขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม

ก่อนหน้านี้ พรรคภูมิใจไทย พรรคก้าวไกล และ ภาคประชาชน ได้ยื่น ร่างกฎหมายอากาศสะอาด เสนอเข้าสู่สภาฯ เพื่อเดินหน้าจัดการมลภาวะทางอากาศทุกประเภท แต่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงิน ซึ่งต้องได้รับคำรับรองจากนายกฯก่อนจึงจะเสนอเข้าพิจารณาในสภาฯได้ สุดท้ายร่างกฎหมายเหล่านี้ก็ถูกตีตก

ความหวังเดียวในตอนนี้อยู่ที่ ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ที่ คุณจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ยื่นเข้าสภาฯเมื่อปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา คุณจักรพลยืนยันว่าฝ่ายกฎหมายของพรรคได้แก้ไขประเด็นที่อาจถูกตีความเป็น พ.ร.บ.การเงินออกไปหมดแล้ว

...

ตอนนี้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวพ้นกรอบเวลาประชาพิจารณ์แล้ว ถ้าบิ๊กตู่หวังดีอยากให้คนไทยทั้งประเทศได้สูดอากาศบริสุทธิ์ ในการประชุมครม.วันนี้ก็สามารถหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอนุมัติเพื่อให้บรรจุเข้าสู่สภาฯได้

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ กำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีระบบบริหารจัดการสภาพแวดล้อมของอากาศโดยดำเนินการในด้านต่างๆ ดังนี้

1.นโยบายระดับชาติเกี่ยวกับการจัดการให้มีระบบสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อระบบสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน

2.การสั่งการต่างๆต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง การสนับสนุนบูรณาการ ปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ หรือคำสั่งใดที่ก่อให้เกิดความไม่สะดวก ล่าช้า ซ้ำซ้อน เพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการคุณภาพอากาศที่มีประสิทธิภาพ

3.จัดทำระบบมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาดตามมาตรฐานสากล และพัฒนาระบบการติดตาม ตรวจสอบ เฝ้าระวัง และเตือนภัยเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ

4.ดำเนินการในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับภูมิภาค ในการป้องกันและแก้ไขมลพิษ

ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กระตุ้นให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคม กำหนดภารกิจของภาครัฐ และบทลงโทษผู้กระทำผิดไว้อย่างชัดเจน ใครก่อมลพิษต้องถูกดำเนินคดี จ่ายค่าปรับ ค่าชดเชยเยียวยา รัฐบาลมีหน้าที่ปรับโครงสร้างหลายด้าน เช่น ให้ข้อมูลส่งเสริมการปลูกพืชชนิดอื่นตามลักษณะภูมิภาค แทนการปลูกข้าวโพด อ้อย แล้วเผาไร่กันทุกปี หรือเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านให้ช่วยลดปัจจัยก่อมลภาวะ ทำแผนขับเคลื่อนสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ไปจนถึงกำหนดค่ามาตรฐานฝุ่นพิษให้ใกล้เคียงหรือระดับเดียวกับมาตรฐานโลก

ตอนนี้เสถียรภาพรัฐบาลไม่ค่อยมั่นคง อาจยุบสภาฯได้ทุกเมื่อ ผมอยากให้บิ๊กตู่ช่วยผลักดันกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับคนไทยออกมาให้เร็วที่สุด ไม่ต้องกลัวเสียเหลี่ยม ไม่ต้องคิดเรื่องการเมือง ขอให้คิดถึงลมหายใจบริสุทธิ์ของคนไทยเป็นอันดับแรกครับ.

ลมกรด