วันนี้ (13 ก.พ. 65) เวลา 10.00 น. ที่โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเต็ล อะ ลักชัวรี โฮเต็ล แบงค็อก เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานพิธีมอบแบบลายผ้าขิดพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด และประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยมี นายชยาวุธ จันทร นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยผู้บริหารกรม หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมในพิธี
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดกรวยถวายราชสักการะเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และนำ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด และประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดทุกจังหวัด รับสมุดบันทึกแห่งความสุข (Calendar) และเจลแอลกอฮอล์พระราชทาน
จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดกรวยถวายเครื่องราชสักการะเบื้องหน้าพระรูป สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และกล่าวสำนึกในพระมหากรุณา ใจความตอนหนึ่งว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงอุทิศพระองค์ปฏิบัติบำเพ็ญพระกรณียกิจนานัปการ เพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่อาณาประชาราษฎร์ ทรงมุ่งมั่นที่จะสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ พื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาหัตถกรรมไทย ให้ดำรงอยู่ยั่งยืนตลอดไป ด้วยพระอัจฉริยภาพ พระองค์ทรงต่อยอดผสมผสานมุมมองด้านแฟชั่นที่ร่วมสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งการสืบสานอัตลักษณ์ เรื่องราวประจำภูมิภาค เป็นคุณูปการอย่างยิ่งแก่ปวงชนคนไทย ทรงพระราชทานแบบลายผ้า ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” แก่พสกนิกรชาวไทย อันเป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัดถึงพระปรีชาสามารถในการออกแบบ เกิดความเชื่อมั่นว่าความงดงามของผ้าไทยจะคงอยู่คู่กับสังคมไทย โดยได้พระราชทานพระอนุญาตให้ กรมการพัฒนาชุมชน และสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” นับเป็นมิ่งมงคลยิ่งต่อการเริ่มต้นกิจกรรมการประกวด ทรงพระราชทานลายผ้าบาติก 3 ลาย “ปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิง” “ท้องทะเลไทย” และ “ป่าแดนใต้” ที่พระองค์ได้แรงบันดาลพระทัยจากการเสด็จไปทอดพระเนตรงานศิลปหัตถกรรมจากภูมิปัญญาพื้นถิ่นในภาคใต้หลายครั้ง ทรงพบเห็นวิถีชีวิตและธรรมชาติของภาคใต้ที่มีเอกลักษณ์ แนวพระดำริทั้งหมดถูกถ่ายทอดลงบนผ้าลายบาติกพระราชทานนี้ เพื่อพระราชทานให้กับช่างฝีมือบาติก เป็นของขวัญตอบแทนมิตรภาพและความจริงใจที่ประชาชนชาวภาคใต้มอบให้กับพระองค์ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของผลิตภัณฑ์ด้วยเรื่องราวและความหมายชวนประทับใจ เป็นการยกระดับผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย สามารถก้าวสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืนเปรียบดังแสงสว่างแห่งวิถีความงดงามของอัตลักษณ์ไทยส่งผ่านไปสู่พี่น้องประชาชน นำทางให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก อันเป็นพลังที่จะสืบสานความเป็นไทยให้คงอยู่สืบไป”
จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชูปถัมภ์ และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เชิญแบบลายผ้าขิดพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” มอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด ทุกจังหวัด เบื้องหน้าพระรูป สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่อมอบให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค นำไปทอผ้า ผลิตผ้าตามอัตลักษณ์ภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่นในทุกจังหวัดทั่วประเทศ
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชูปถัมภ์ และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 65 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จพระราชดำเนิน ณ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ทอดพระเนตรกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ วัดธาตุประสิทธิ์ และหอประชุมโรงเรียนนาหว้าพิทยาคม จังหวัดนครพนม เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี ของโครงการศิลปาชีพ และในโอกาสเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ 90 พรรษา เพื่อสร้างการรับรู้ประวัติศาสตร์ สู่คนรุ่นหลัง และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป โดยมีสมาชิกกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในพื้นที่จังหวัดนครพนม และราษฎรเฝ้าฯ รับเสด็จ ซึ่งในการเสด็จฯ ครั้งนี้ ทรงพระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ผ่านปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค นำไปทอผ้า ผลิตผ้าตามอัตลักษณ์ภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยแบบลายผ้าดังกล่าวทรงได้รับแรงบันดาลพระทัยจาก “ผ้าขิดลายสมเด็จ” ที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงพระราชทานแก่ราษฎร อันเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย โดยแต่ละลวดลายมีความหมายที่ลึกซึ้ง ได้แก่ “ลาย S ที่ท้องผ้า” หมายถึง สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงออกแบบให้เว้นช่องว่างไว้ เพื่อให้ราษฎรได้ร่วมถักทอลวดลายของตนเองลงในช่องว่าง เป็นการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากแต่ละท้องถิ่น โดยลายขิดที่เป็นกรอบล้อมรอบตัว S นี้ หมายถึงความจงรักภักดีที่ชาวไทยมีต่อพระบรมราชจักรีวงศ์ “ลายเชิงผ้ารูปหัวใจ” หมายถึง ความรักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อปวงชนชาวไทย “ลาย S” ประกอบกับลายขิดที่เชิงผ้า หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงปรารถนาให้คนไทยอยู่ดีมีสุข “ลายต้นสนที่เชิงผ้า” หมายถึง พระดำริในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ของโครงการศิลปาชีพฯ อันลายต้นสนนี้ เป็นลวดลายพื้นถิ่นที่ถักทออยู่บนผืนผ้าของบ้านนาหว้า จังหวัดนครพนม ที่ซึ่งเป็นจุดกำเนิดโครงการศิลปาชีพฯ “ลายหางนกยูงที่เชิงผ้า” หมายถึง ความตั้งพระทัยมั่นในการสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จย่าของพระองค์ ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดิน
“กระทรวงมหาดไทย น้อมนำแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดิน โดยกำหนดเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ในการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย ภายใต้โครงการ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" เพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ได้มีอาชีพ มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย
จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน คุณรติรส จุลชาต ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ร่วมเสวนาการขับเคลื่อนโครงการตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” โดย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ช่วยชุบชีวิตของผู้ประกอบการทอผ้าทั่วประเทศ อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเห็นได้จากในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้พี่น้องประชาชนผู้ประกอบการทอผ้ามีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้น ดังนั้น “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ผู้ว่าราชการจังหวัดและประธานแม่บ้านมหาดไทย ต้องเป็น “ทูตการสวมใส่ผ้าไทย” เป็นผู้นำในการสวมใส่ผ้าไทยและเชิญชวนพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ร่วมกันใส่ผ้าไทยในทุกโอกาส
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวว่า “พระองค์มีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา ต่อยอด งานของสมเด็จย่า โดยพระราชทาน ดั่งน้ำฝนตกที่ทะเลทราย กี่ที่เคยเงียบในทุกจังหวัด ก็เริ่มมีเสียงกระทบ เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้จากการทอผ้าขาย ส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และในปีนี้เป็นปีมหามงคล เนื่องในโอกาสสมเด็จพระนางเจ้าเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จะทรงมีพระชนมพรรษา 90 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงเจริญพระชนมพรรษา 70 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะทรงเจริญพระชนมายุ 44 พรรษา ขอเชิญชวนทุกท่านได้ร่วมกันน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยการรณรงค์การสวมใส่ผ้าไทย เพื่อร่วมกันสร้างความภาคภูมิใจ และสร้างประวัติศาสตร์ให้ลูกหลานได้เรียนรู้และใส่ผ้าไทยให้สนุกในทุกวัน”
คุณรติรส จุลชาต ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงโดยเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการเยี่ยมเยียนราษฎรโดยเฉพาะกลุ่มทอผ้าในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทำให้ได้ทรงซึมซับพระราชกรณียกิจของสมเด็จย่า นำไปสู่การต่อยอดในการเรียนต่อในทางศิลปกรรมศาสตร์ เพื่อทรงช่วยเหลือประชาชนในการพัฒนาผ้าให้เกิดความเป็นสากล นำไปสู่การขับเคลื่อนแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ทำให้ได้ชุบชีวิตพี่น้องประชาชน โดยในช่วงการระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 มียอดจำหน่ายผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ กว่า 561 ล้านบาท และเป็นยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไทยทั่วประเทศ จำนวนกว่า 9,911 ล้านบาท
นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้ขับเคลื่อนการดำเนินโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ผ่าน 6 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) “สร้างแรงบันดาลใจ แบ่งปันความรู้” 2) สืบสานพระราชปณิธาน “โครงการนาหว้าโมเดล” ในโอกาสครบรอบ 50 ปีโครงการศิลปาชีพ 3) สืบสาน อนุรักษ์ ภูมิปัญญา ผ่าน “โครงการพัฒนารูปแบบชุมชนภูมิปัญญาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ 4 ชุมชน” เพื่อให้เป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ 4) เพิ่มคุณค่าภูมิปัญญาสู่สากลผ่าน “โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสีย้อมร้อน” 5) การประกวดลายผ้าพระราชทานชุดที่ 3 และเปิดตัวแฟนเพจ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และ 6) การรวบรวมการพัฒนาเพื่อจัดแสดงผ้าไหมไทย (Thai Silk Festival 2022)
“การขับเคลื่อนผ้าไทย เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน เป็นการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย สร้างคุณภาพชีวิตประชาชน และเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศชาติ และเป็นหลักประกันว่าประเทศชาติเราจะมีความมั่นคงด้านเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เป็นที่ยืนยันว่า ภูมิปัญญา องค์ความรู้จากการพึ่งพาตนเองที่พระองค์ท่านกำลังส่งเสริมเกิดเป็นรูปธรรมอย่างครบวงจร ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ จึงขอให้ทุกจังหวัดช่วยกันส่งเสริมตามภูมิสังคมในพื้นที่นั้นๆ โดยยึดถือเป้าหมายที่พระองค์ท่านพระราชทานพระดำริ คือ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย เพื่อให้ภูมิปัญญาบรรพบุรุษอยู่ได้อย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม.