วันเสาร์สบายๆวันนี้ผมขออนุญาต ผศ.ดร.จันทร์จิรา วงษ์ขมทอง ผู้อำนวยการหลักสูตร WHB (Wellness & Healthcare Business Opportunity for Executives) นำโครงการของ ผู้เข้าอบรมหลักสูตร WHB รุ่น 1 ที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟังนะครับ เป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ด้านสุขภาพ Healthcare & Wellness ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ถ้ารัฐบาลสนใจสามารถนำไปต่อยอดได้ทันที เป็นโครงการ “ระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน” Andaman Wellness Corridor (AWC) ซึ่งสามารถสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศไทยได้ในอนาคต
ผมเขียนถึง ธุรกิจด้านสุขภาพ Healthcare & Wellness ในคอลัมน์นี้หลายครั้งว่า กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลก คนห่วงใยดูแลสุขภาพมากขึ้น นับตั้งแต่เกิดโควิด-19 ระบาด ส่งผลให้ธุรกิจด้านสุขภาพกลายเป็นเทรนด์ใหม่ของโลก ปี 2563 ธุรกิจสุขภาพมีมูลค่าสูงถึง 4.4 ล้านล้านดอลลาร์ 141 ล้านล้านบาท สถาบันด้านสุขภาพโลก คาดว่า ปี 2568 ธุรกิจด้านสุขภาพจะพุ่งขึ้นไปแตะที่ 7 ล้านล้านดอลลาร์ 231 ล้านล้านบาท
โครงการ “ระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน (AWC)” นำเสนอโดย กลุ่ม Selenium จาก หลักสูตร WHB1 สนับสนุนโดย สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล มี นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกลุ่ม มีแนวคิดที่จะพัฒนาจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ภูเก็ต กระบี่ พังงา ระนอง ให้เป็น เมืองมหาอำนาจด้านสุขภาพของโลก และรองรับการเป็น Metaverse ในอนาคต โดยจัดทำเป็น ยุทธศาสตร์ชาติระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน (AWC) พื้นที่มีจุดเด่นในการให้บริการ เช่น ภูเก็ต เป็นศูนย์การรักษาพยาบาล การประชุมนานาชาติ พังงา เป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ กระบี่ มีน้ำพุร้อนเค็มบำบัด เป็นต้น
...
จากความก้าวหน้าของวิทยาการในโลกปัจจุบัน มีการพัฒนา จักรวาลนฤมิต (Metaverse) โลกเสมือนจริงที่ถูกสร้างขึ้นผ่านตัวตนเป็น อวตาร (Avatar) เราสามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาบูรณาการ สร้างประสบการณ์เสมือนจริงให้ผู้รับบริการใน ระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน จากทั่วโลกได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ตัดสินใจก่อนเข้ารับบริการจริงในพื้นที่ และรับบริการอย่างต่อเนื่องแม้จะเดินทางกลับประเทศแล้ว รวมทั้งติดตามผลหลังเข้ารับบริการ
กลุ่มเป้าหมายเป็น ชาวไทย และ ชาวต่างชาติ ที่มีกำลังซื้อ กลุ่มผู้มีความมั่งคั่ง และ กลุ่มลองสเตย์ เป็นต้น
โครงการ AWC ทางกลุ่มซีเลเนียมเสนอให้จัดทำเป็น ยุทธศาสตร์ชาติระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน (Andaman Wellness Corridor) สร้างเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ Wellness เพื่อรองรับการบริการนักท่องเที่ยวสุขภาพที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงในอนาคตใน 4 ด้านดังนี้
1.ด้าน Medical Service บริการรักษาพยาบาล พัฒนาสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ ให้มีบริการและสิ่งอำนวยความสะดวก รองรับชาวไทยและชาวต่างชาติระดับ Hi–end รวมทั้งส่งเสริมการค้าการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่ด้วยการ พัฒนาแม่เหล็กการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะด้าน Alternative Medicine การรักษามะเร็ง หัวใจ การผ่าตัดแปลงเพศ การเสริมความงาม Anti–aging Retreat การแพทย์ทางไกลเสมือนจริง เป็นต้น
2.ด้าน Product Hub ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ เน้นผลิตภัณฑ์ทางกัญชาและสมุนไพรที่มี value Chain ในเชิงพาณิชย์ เครื่องมือแพทย์ นวัตกรรมทางการแพทย์ 3.ด้าน Academic Hub ทางวิชาการและงานวิจัยทางการแพทย์ 4.ด้าน Wellness Hub เน้นการเป็นเมือง Wellness City
เป็นโครงการ “ระเบียงเศรษฐกิจสุขภาพ” ที่น่าสนใจมากครับ ถือเป็นมิติใหม่ของ Medical Hub ไทย การบริการสุขภาพด้าน Wellness ไม่ว่า สปา โยคะ สมาธิ การบำบัด คนไทยมีความถนัดเชี่ยวชาญเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ถ้ารัฐบาลสนับสนุนส่งเสริมให้เป็น “เมกะโปรเจกต์ของชาติ” จะสร้างงานสร้างรายได้ให้คนไทยอีกมหาศาลในอนาคตแน่นอนครับ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”