นายศรุต สุทธิอารมณ์ ผอ.สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร เผยว่า ด้วยระยะนี้พบการระบาดของ ด้วงแรดมะพร้าว และ ด้วงงวงมะพร้าว หรือ ด้วงสาคู ในสวนอินทผลัมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีการปล่อยทิ้งเศษพืช ซากเน่าเปื่อย ไว้ในสวน จนกลายเป็นแหล่งแพร่ขยายพันธุ์ของด้วงแรดมะพร้าว ส่งผลให้ด้วงแรดมะพร้าว เข้าไปเจาะกินลำต้นอินทผลัม เปิดทางให้ด้วงงวงมะพร้าวเข้าไปวางไข่ตามรูที่ด้วงแรดมะพร้าวเจาะไว้ ทำให้หนอนที่ฟักออกจากไข่กัดกินชอนไชไปในลำต้นเกิดแผลเน่าภายใน และบางครั้งอาจมีของเหลวข้นสีน้ำตาลมีกลิ่นเหม็นไหลออกมาจากบริเวณรอยแผลที่โดนเจาะ
“ต้นอินทผลัมที่ถูกทำลายจะแสดงอาการใบเหี่ยวเฉาเพราะท่อน้ำ ท่ออาหารภายในลำต้นถูกทำลายไม่สามารถส่งน้ำและอาหารไปถึงยอดได้ บริเวณที่หนอนทำลายจะเป็นโพรงรูและแผลเน่าต่อเนื่องไปในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งตัวหนอนจะกัดกินไปจนกระทั่งต้นเป็นโพรงใหญ่และทำให้ต้นอินทผลัมตายในที่สุด”
...
สำหรับทางการป้องกันกำจัดด้วงงวงมะพร้าวที่เข้าทำลายในต้นอินทผลัม ผอ.สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช แนะนำให้ตัดโค่นทอนเป็นท่อนแล้วผ่า พร้อมกับจับหนอนไปทำลาย และไม่ควรให้ต้นอินทผลัมเกิดแผลเพราะจะเป็นช่องทางให้ด้วงงวงมะพร้าววางไข่และตัวหนอนที่ฟักจากไข่จะเจาะเข้าทำลายในต้นอินทผลัมได้
หากลำต้นเป็นรอยแผลควรทาด้วยน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ที่ใช้แล้วหรือชันยาเรือผสมกับน้ำมันยางเพื่อป้องกันการวางไข่ พร้อมกับใช้กับดักฟีโรโมนชนิดดึงดูดด้วงงวงมะพร้าวเพื่อล่อตัวเต็มวัยมาทำลาย กับดักฟีโรโมนสามารถลดจำนวนประชากรด้วงงวงมะพร้าวได้โดยตรงและลดการวางไข่ได้ผลอีกด้วย
ตัวกับดักสามารถทำได้จากถังพลาสติกใส่น้ำไว้ แล้วใช้แผ่นฟิวเจอร์บอร์ดสีดําประกอบกันเป็นฉากที่ด้านบนเหนือตัวถัง ซึ่งฟีโรโมนในกับดักจะมีกลิ่นดึงดูดด้วงงวงมะพร้าวให้บินเข้าหาชนฉากฟิวเจอร์บอร์ดและร่วงลงในถังจมน้ำตาย โดยให้ติดกับดักในอัตรา 1 กับดักต่อพื้นที่ 10-12 ไร่
ส่วนสารกำจัดแมลง ให้ใช้ ไดอะซินอน 60% อีซี อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ราดหรือพ่นบริเวณลำต้นอินทผลัม ตั้งแต่โคนยอดอ่อนลงมาโดยพยายามเน้นบริเวณซอกกาบใบให้เปียก โดยมีปริมาณการใช้ 1-1.5 ลิตรต่อต้น ทุก 15-20 วัน และควรใช้ 1-2 ครั้งในช่วงระบาด
สำหรับการป้องกันกำจัดด้วงแรดมะพร้าว นายศรุต แนะให้หมั่นดูแลทำความสะอาดสวน ด้วยการ กำจัดเศษพืชซากเน่าเปื่อยของตอมะพร้าวหรือปาล์มน้ำมัน กองมูลสัตว์เก่า กองปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ขุยมะพร้าว ที่ถูกทิ้งไว้ในสวนไม่ให้เป็นแหล่งขยายพันธุ์ของด้วงแรด หากเกษตรกรมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มบริหารศัตรูพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร.0-2579-4535.