การซื้อ-ขายของผ่านระบบออนไลน์ช่วงโควิด-19 เป็นที่นิยม จนเปิดช่องให้กลุ่มมิจฉาชีพหารับทานหลายรูปแบบ อาทิ การสั่งซื้อสินค้าตามแบบที่ต้องการ แต่ได้สินค้าอีกแบบหรือได้ของปลอม หรือสั่งซื้อสินค้าไปแล้วไม่ส่งของให้ หรือใช้ใบสลิปโอนเงินปลอม
ทั้งหมดมีเจตนาหลอกลวงฉ้อโกงตั้งแต่ต้น ประชาชนเสียหายจำนวนมาก!
พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของชาวบ้าน วางมาตรการปราบปรามกลุ่มมิจฉาชีพฉ้อโกงทางออนไลน์อย่างจริงจัง วางแนวทางให้ผู้เสียหายแจ้งความด้วยตัวเองผ่านออนไลน์เพื่อความสะดวก
แต่มันอาจเป็นช่องทางให้ตำรวจหลายคนหลายหน่วย เอาเป็นข้ออ้างเบี้ยวไม่ทำคดี?!
เช่น คดีของแม่ค้าขายเสื้อผ้าเด็กในตลาดโบ๊เบ๊ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ติดต่อซื้อขายสินค้าระบุชื่อสองผัวเมียชัดเจนสั่งซื้อชุดเด็กลอตใหญ่ คนร้ายใช้วิธีปลอมสลิปโอนเงินรวม 7 ครั้งผ่านไลน์ ความเสียหาย 20,080 บาท
ผู้เสียหายเข้าใจว่า ได้รับเงินแล้ว หลังปิดร้านเข้าไปเช็กเงินในบัญชีกลับไม่มีเงินเข้า แต่ของส่งไปหมดแล้ว เมื่อทวงถามขอสินค้าคืนกลับบ่ายเบี่ยงแล้วเงียบหายไป!
แม่ค้าขายเสื้อผ้ารู้ตัวว่าถูกหลอก รีบแจ้งความ สน.นางเลิ้ง บันทึกประจำวันช่วงท้ายระบุว่า ให้ผู้เสียหายติดตามทวงถามเงินกับผู้สั่งซื้อสินค้า หากไม่สามารถติดต่อทวงถามได้ ผู้แจ้งประสงค์จะดำเนินคดี
ทว่าคดีถูกดอง ร้อยเวรนิ่งเฉย เหยื่อเดือดร้อนต้องลงทุนไปสืบหาข้อมูลคนร้ายด้วยตัวเอง จนรู้ว่าคนโกงมีพื้นเพอยู่ จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.ลพบุรี เอาข้อมูลไปให้ตำรวจเพื่อให้ดำเนินคดีให้หลาบจำ ไม่ไปโกงใครอีก
แต่หลังเอาข้อมูลไปให้ ทุกอย่างเงียบกริบ!
โจรผัวเมียตัวแสบได้ใจ ยังอาละวาดก่อเหตุลักษณะเดิมไปทั่วตลาดโบ๊เบ๊
...
นโยบายกวาดล้างกลุ่มมิจฉาชีพทางออนไลน์ดูเหมือนสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะสนใจแต่รายใหญ่ แต่ผู้เสียหายรายย่อย ยอดเงินหลักร้อย หลักพัน หลักหมื่น มันคงจิ๊บจ๊อยเกินไป
แต่อย่าลืมว่า มันอาจจะมากสำหรับคนที่หาเช้ากินค่ำ?
ถ้าตำรวจไม่ทำหน้าที่ แล้วจะมีตำรวจไว้ทำไม?
สหบาท