- พบคลัสเตอร์โควิดในโรงเรียน-ตลาดเพิ่มขึ้นในหลายจังหวัด เมืองรอง สธ.เผยคาดการณ์ไว้แล้ว ยอดผู้ติดเชื้อพุ่ง คาดครึ่งปีหลังผู้ติดเชื้อลดลง หากไม่มีกลายพันธุ์เพิ่ม
- ทั่วโลกห่วงอาการป่วยหนัก-เสียชีวิต มากกว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อ WHO ห่วงหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการเกินไป-ยอมรับความเสี่ยง
- เร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ค้าน 3 ขวบฉีดเชื้อตาย ชี้สูตรไขว้–บูสต์โดส ยังไร้ข้อมูลใน ตปท. ไฟเขียว ซิโนแวค-ซิโนฟาร์ม ฉีดเด็ก 6 ปีขึ้นไป
สถานการณ์โควิดฯในไทยเริ่มพีกอีกครั้ง ยอดผู้ติดเชื้อล่าสุดกลับมาแตะหลักหมื่น พบคลัสเตอร์ใหญ่เกิดขึ้นตามตลาดนัดและโรงเรียนต่างๆ เพิ่มขึ้นในหลายจังหวัด ส่วนคลัสเตอร์งานบวช งานแต่ง งานศพ และคลัสเตอร์บุคลากรทางการแพทย์ ยังพบมีผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า มีหลายจังหวัดที่เป็น “เมืองรอง” แต่มีรายงานพบการติดเชื้อสูงขึ้นในระยะนี้ !!!
ห่วงคลัสเตอร์ "โรงเรียน" พบจังหวัด "เมืองรอง" ติดเชื้อพุ่ง
...
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดฯรายวันกลับมาสวิงพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง จากแตะ 9 พัน จนทะลุหลักหมื่น โดยพบคลัสเตอร์ใหม่ผุดขึ้นกว่า 30 จังหวัด โดยเฉพาะที่น่าเป็นห่วง คือคลัสเตอร์โรงเรียนและสถานศึกษา ซึ่งมีรายงานพบถึง 11 จังหวัด ประกอบด้วย ขอนแก่น อุดรธานี ประจวบคีรีขันธ์ หนองบัวลำภู ยโสธร สุพรรณบุรี มหาสารคาม ศรีสะเกษ สระแก้ว ชลบุรี และ กทม.
นอกจากนี้ จากการรายงานของ ศบค.ยังพบคลัสเตอร์ตลาดใน 21 จังหวัด ที่ กทม. สระบุรี ชลบุรี กาญจนบุรี ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ประจวบคีรีขันธ์ น่าน ร้อยเอ็ด นครราชสีมา ปทุมธานี สุรินทร์ ลพบุรี ปราจีนบุรี ตาก ขอนแก่น อ่างทอง เชียงใหม่ อยุธยา อุดรธานี และสมุทรสาคร ส่วนคลัสเตอร์งานบวช งานแต่ง งานศพ และคลัสเตอร์บุคลากรทางการแพทย์ ยังพบมีการติดเชื้ออยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า คลัสเตอร์ที่พบล่าสุด เกิดขึ้นในหลายจังหวัดที่เป็นเมืองรอง ซึ่งที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก มีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจยังมีการรณรงค์ที่ไม่เพียงพอ
ติดเชื้อพุ่งคาดการณ์ไว้แล้ว ยันที่ผ่านมาไม่ได้ตกแต่งตัวเลข
ส่วนกรณีที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในไทย เพิ่มสูงขึ้นนั้น นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า อัตราการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นนั้น ยังอยู่ในการคาดการณ์ ส่วนการเสียชีวิตไม่อยากให้เกินวันละ 20 ราย คนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มเสี่ยง ส่วนใหญ่ยังไม่ฉีดวัคซีน หรือฉีดไม่ครบตามกำหนด เมื่อดูสถานการณ์เตียงในสถานพยาบาลตอนนี้ ก็ถือว่ามีความลื่นไหลสามารถรองรับได้ ส่วนที่มีคนสงสัยว่าไทยมีการแต่งข้อมูลซอยตัวเลขผู้ติดเชื้อนั้น ขอยืนยันว่าไม่เคยตัดต่อตกแต่งตัวเลข เรารายงานตามความเป็นจริงมาตลอด เพราะตัวเลขจากทั่วประเทศไหลเข้ามาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตัวเลขติดเชื้อมีทิศทางดีขึ้นเราก็บอก ตัวเลขติดเชื้อแย่ลงเราก็บอก อย่างตัวเลขจากการตรวจ ATK ก็รายงานให้ทราบ
คาดครึ่งปีหลังผู้ติดเชื้อ "ลดลง" หากไม่มีกลายพันธุ์เพิ่ม
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เราพยากรณ์โควิด-19 ปี 2565 หากไม่มีสายพันธุ์อื่นเพิ่มเติม คาดว่าครึ่งปีหลังจำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลง สาเหตุจากคนไทยฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตามเป้าหมาย ขณะนี้ฉีดเข็มกระตุ้นไปได้ประมาณ 20% หากทำได้จะควบคุมสถานการณ์การติดเชื้อรายใหม่ได้ แต่ต้องไม่มีการกลายพันธุ์เพิ่มเติม หากพิจารณาตัวเลขกราฟผู้ติดเชื้อ ช่วงนี้ยังอยู่ในช่วงจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแนวโน้มน่าจะเพิ่มขึ้น 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า โรคระบาดเวลาขึ้นจะคงอยู่ระยะหนึ่งจึงค่อยลง อย่ากังวลตัวเลขมากนัก หากเป็นโรคประจำถิ่น คือ สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จำนวนผู้ติดเชื้ออาการหนัก ผู้เสียชีวิตอยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้ หลายประเทศแถบยุโรป อเมริกา ผู้ติดเชื้อเป็นแสนบางประเทศเป็นล้านยังไม่เพิ่มมาตรการอะไร เพราะระบบสาธารณสุขรองรับได้เช่นเดียวกับไทย แม้ผู้ติดเชื้อเป็นหมื่นแต่เชื่อว่าระบบสาธารณสุขรองรับได้ เนื่องจากโอมิครอนไม่รุนแรงกว่าเดลตา เรามียา และฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ไปได้ 15 ล้านคนแล้ว แต่ยังต้องระวังอย่าให้เพิ่มมากกว่านี้
...
สนใจผู้ป่วย "หนัก–ตาย" มากกว่าตัวเลข "ผู้ติดเชื้อ"
ส่วนกรณีหมอบางท่านเสนอให้รวมตัวเลขผู้ติดเชื้อ จากการตรวจ RT-PCR กับ ATK นั้น นพ.โอภาส เปิดเผยว่า ตัวเลขเป็นเพียงตัวเลข อยู่ที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้แค่ไหน ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จากเดิมที่มีอาการหนัก 10-20% ปัจจุบันเหลือ 5% ผู้ติดเชื้อหลายส่วนไม่มีอาการ เราคงดูภาพรวมที่เหมาะสมกับประเทศเรากับการใช้ชีวิตของคนไทย ขณะนี้ทั่วโลกให้ความสนใจกับผู้ป่วยอาการหนักและผู้เสียชีวิตมากกว่า ไทยผู้ป่วยปอดอักเสบอยู่ที่ระดับ 500 ต้นๆ เทียบช่วงระบาดหนักมีถึง 5,000 กว่าราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจขณะนี้อยู่ที่ 100 เศษ จากที่เคยสูงสุด 1,300 ราย ผู้เสียชีวิตเคยขึ้นไป 300 ราย ตอนนี้อยู่ประมาณ 20 ราย ตัวเลขเหล่านี้สำคัญกว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อ แต่ไม่ได้ทอดทิ้งยังคงติดตามเพื่อดูแนวโน้มการควบคุมโรค
ห่วงหลายประเทศผ่อนคลายเกิน-ยอมรับความเสี่ยง
ด้าน พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ห่วงหลายประเทศที่กำหนดนโยบายผ่อนคลายโควิดฯ มากจนเกินไป โดยให้เหตุผลว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวดอีกต่อไป WHO ค่อนข้างเป็นห่วงออกมาย้ำเตือนว่า การแพร่ระบาดที่มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นนั้น จะหมายถึงมียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโอมิครอน ที่รายงานที่แรกที่แอฟริกาเมื่อ 10 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั่วโลกมียอดติดเชื้อเกิน 90 ล้านคน เป็นตัวเลขที่สูงกว่าผู้ติดเชื้อทั้งปีในปี 2563 จึงไม่เห็นด้วยกับการผ่อนคลายมากเกินไป ประเทศที่ผ่อนคลายชัดเจน คือ เดนมาร์ก ที่เมื่อ 1 ก.พ.ได้ยกเลิกมาตรการสาธารณสุขที่จำเป็นหลายอย่าง ทั้งเรื่องสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ และการสมัครงานหรือเข้ารับบริการต่างๆ ไม่จำเป็นต้องแสดงหลักฐานหรือใบรับรองสุขภาพอีกต่อไป เช่นเดียวกับประเทศฝรั่งเศสที่เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา ยกเลิกการสวมหน้ากากอนามัยในสถานที่กลางแจ้ง เช่น การชมคอนเสิร์ต ดูกีฬา และกำหนดว่า 16 ก.พ.นี้ จะเปิดให้บริการไนต์คลับ อนุญาตให้ดื่มได้ในสนามกีฬา WHO เป็นห่วงขอย้ำว่าการยกเลิกมาตรการสาธารณสุขของประเทศเหล่านี้ ไม่ได้แปลว่าเขาได้คำนึงว่ามีความปลอดภัยแล้ว แต่เป็นการส่งสัญญาณว่าประเทศเหล่านี้ตัดสินใจเปิดกิจการ กิจกรรม ผ่อนคลายมากขึ้น โดยยอมรับความเสี่ยงที่จะตามมา
...
เร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ครอบคลุมแล้ว 20%
สำหรับความคืบหน้าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดฯ ภายในประเทศ นพ.โอภาส อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค มีมติให้เร่งฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นให้ประชาชน โดยเฉพาะเข็ม 3 ที่จำเป็นต้องฉีดเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรค สอดคล้องกันกับคำแนะนำของคณะผู้เชี่ยวชาญ ส่วนการฉีดเข็ม 4 ในประชาชนทั่วไปที่รับเข็ม 3 มานานกว่า 3 เดือนนั้น เข้ารับการกระตุ้นได้แล้ว เน้นย้ำกลุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรคหรือกลุ่ม 608 ก่อน ไม่ได้นับว่าเป็นเข็ม 3 หรือ 4 แต่ดูเป็นเข็มกระตุ้น ตอนนี้ฉีดได้ครอบคลุม 20% แล้ว
"mRNA" ฉีดเข้าผิวหนัง-ครึ่งโดส
ส่วนการฉีดวัคซีนเข้าในชั้นผิวหนังและฉีดครึ่งโดส ทำได้ทั้งในวัคซีน mRNA และไวรัลเวกเตอร์หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า การฉีดครึ่งโดส หรือฉีดเข้าในชั้นผิวหนังนั้น จุดประสงค์ก็เพื่อลดความเสี่ยงต่ออาการไม่พึงประสงค์หลังฉีด โดยคำแนะนำของ สธ.ตอนนี้ คือ เฉพาะชนิด mRNA เท่านั้น ส่วนไวรัลเวกเตอร์ให้ฉีดเต็มโดสเข้ากล้ามเนื้อตามปกติ การฉีด mRNA เข้าในชั้นผิวหนังหรือครึ่งโดส ผู้รับวัคซีนสามารถเลือกได้แต่ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ด้วย
...
ฉีดเข้าผิวหนัง-กล้ามเนื้อภูมิขึ้นพอกัน
ขณะที่ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การศึกษาของ จ.ภูเก็ต จังหวัดรองรับการท่องเที่ยว รับวัคซีนกระตุ้นภูมิโดยใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาฉีดเข้าผิวหนัง พบว่า ได้ผลดี ภูมิคุ้มกันขึ้นพอๆ กับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ส่วนภูมิฯ จะอยู่ได้นานแค่ไหนนั้น ต้องเก็บข้อมูลระยะยาว หลักการฉีดวัคซีนโควิดภูมิคุ้มกันจะอยู่ได้ระดับหนึ่งจึงต้องฉีดกระตุ้น ทั้งนี้ การฉีดที่ลดปริมาณลงมา เช่น ฉีดเข้าในชั้นผิวหนังหรือฉีดครึ่งโดส จะใช้ในช่วงที่มีวัคซีนน้อย แต่ตอนนี้มีวัคซีนเพียงพอหรือต้องการลดผลข้างเคียง เช่นฉีด mRNA ในเด็กผู้ชายที่พบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เมื่อการฉีดเข็มกระตุ้นก็ฉีดครึ่งโดสหรือฉีดเข้าในชั้นผิวหนังได้ ด้านอาการข้างเคียงของการฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง พบว่าลดลง มีเพียงอาการปวดแดงบริเวณที่ฉีด ต้องเข้าใจว่าเมื่อฉีดเข้าชั้นผิวหนังแล้ว มีโอกาสที่จะพบรอยแดง เป็นหนอง เหมือนเป็นแผลที่แขนที่จุดตรงฉีดได้ แต่ไม่ได้เกิดมากนัก ไม่อยากให้เกิดเป็นความเข้าใจผิด ต้องเน้นย้ำเรื่องนี้แต่ภูมิฯขึ้นดีพอๆ กับฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
ยังไม่มีคำแนะนำ 3 ขวบฉีด "เชื้อตาย"
ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตรียมพิจารณาขยายทะเบียนวัคซีนซิโนแวคในเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไปในวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันวัคซีนที่ต่างประเทศรับรองให้ฉีดในเด็ก คือ ไฟเซอร์ เนื่องจากภูมิคุ้มกันขึ้นสูง ในส่วนราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ยังไม่ได้มีคำแนะนำกรณีวัคซีนเชื้อตายในเด็ก เนื่องจากข้อมูลทั่วโลกถึงผลการศึกษาในเด็กยังไม่มีเรื่องเชื้อตาย แม้แต่วัคซีนแอสตราเซเนกาในเด็กยังไม่มีเช่นกัน
"สูตรไขว้-บูสต์โดส" ยังไร้ข้อมูลใน ตปท.
ส่วนสูตรการฉีดแบบไขว้ในเด็ก เข็มแรกซิโนแวค เข็ม 2 เป็นไฟเซอร์นั้น ศ.นพ.สมศักดิ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันการฉีดวัคซีนไขว้มีเพียงผู้ใหญ่ การจะนำมาฉีดในเด็กยังไม่มีข้อมูล ต่างประเทศยังไม่มีผลการศึกษาในเด็กเช่นกัน แม้แต่บูสเตอร์โดสก็ไม่มีการศึกษาในต่างประเทศ สำหรับไทยมีการติดตามการฉีดวัคซีนในเด็ก แต่เป็นไฟเซอร์ ส่วนจำนวนยังต้องมีการติดตาม และต้องใช้ระยะเวลาพิจารณาถึงภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้นจะยาวนานแค่ไหนหรือต้องบูสเตอร์อย่างไร สำหรับวัคซีนซิโนแวคในเด็ก หากอนุมัติให้มีการใช้ ก็เป็นนโยบายเป็นทางเลือกให้ผู้ปกครองตัดสินใจ
ยัน "mRNA" ปลอดภัย-เด็กควรฉีดวัคซีนป้องกัน
ส่วนกรณีผู้ปกครองบางส่วนกังวลวัคซีน mRNA ต้องการเลือกวัคซีนเชื้อตาย ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า วัคซีนชนิด mRNA ถือว่าปลอดภัย เพราะข้อมูลจากการฉีดในเด็กของทั่วโลกออกมาชัดเจน อย่างในอเมริกาฉีดเด็กไปเกือบ 9 ล้านคนแล้วไม่มีปัญหา ส่วนผลข้างเคียงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดที่สหรัฐฯ ฉีดไป 8-9 ล้านคน พบ 11 คน แต่ไม่รุนแรงและหายได้เอง แม้เด็กที่ป่วยจะอาการไม่มาก หรือแทบไม่มีอาการถึง 98% แต่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนโควิด เนื่องจากอาจมีปัญหาแทรกซ้อน เวลาเป็นโควิดไม่มีอาการ ประมาณ 1 เดือนให้หลังอาจมีอาการอักเสบของอวัยวะต่างๆ ที่เรียกว่า มิสซี (MIS-C) ดังนั้นควรฉีดวัคซีนป้องกันดีที่สุด
อนุมัติ "ซิโนแวค-ซิโนฟาร์ม" ฉีดเด็ก 6 ปี ขึ้นไป
ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า กรรมการผู้เชี่ยวชาญได้พิจารณาขยายขอบเขตการใช้วัคซีนสำหรับเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป โดยไม่ต้องปรับขนาดยาของวัคซีนซิโนแวค นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม และวัคซีนซิโนฟาร์มนำเข้าโดยบริษัทไบโอจีนีเทค จำกัด ปัจจุบันวัคซีนทั้ง 2 ชนิดได้รับอนุญาตให้ใช้ในผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ผู้รับอนุญาตคือองค์การเภสัชกรรมและบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด มาขอขยายอายุในช่วง 3-17 ปี กรรมการผู้เชี่ยวชาญได้พิจารณาถึงคุณภาพประสิทธิภาพและความปลอดภัยแล้ว อนุมัติให้ขยายอายุกลุ่มผู้ใช้ตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป อย.ได้แจ้งให้ผู้รับอนุญาตทั้ง 2 ราย ส่งข้อมูลเพิ่มเติมโดยเร็วเพื่อพิจารณาขยายในกลุ่มอายุ 3-5 ปีต่อไป