"ดร.ธรณ์" ถอดบทเรียน "น้ำมันรั่วกลางทะเล" เร่งประเมินผลกระทบ พร้อมหวังให้คนระยองได้กลับมาทำมาหากินเหมือนเดิมในเร็ววัน
วันที่ 3 ก.พ. 2565 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความโดยระบุว่า สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ไม่พบคราบน้ำมันในทะเล หวังว่าคนระยองจะได้กลับมาทำมาหากินเหมือนเดิมในเร็ววัน แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล พวกเรายังมีงานต้องทำอีกเยอะ
งานของเราคือ การประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ข้อมูลต้องชัดเจนและสามารถนำไปใช้ต่อได้ เพราะข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เป็นหลักฐานทางวิชาการที่มีความหมายมากมาย ผลกระทบแยกได้หลายแบบ แต่เข้าใจง่ายสุดคือแยกตามระบบนิเวศ ไล่เรียงได้ดังนี้
หาดทราย โดนมากที่สุดในครั้งนี้คือหาดแม่รำพึง ในส่วนที่น้ำมันเข้าเต็มๆ ในวันที่ 29 ม.ค. แบ่งความรุนแรงเป็น 4 ระดับ นอกจากโดนน้ำมัน ยังรวมถึงการกำจัดคราบ เช่น beach cleanup (ตักทรายไปทิ้ง) ฯลฯ ที่อาจจำเป็นต้องทำ แต่ส่งผลกระทบเช่นกัน และต้องนำมาคิดด้วย ตามที่เคยเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟัง ข้อมูล Before หรือก่อนหน้ามีค่ามาก เราจึงเตรียมไว้เฉพาะในหาดแม่รำพึง 6 สถานี โดยมีหลายสถานีที่โดนน้ำมัน ทำให้เราสามารถตามความเปลี่ยนแปลงทั้งสารตกค้างและจำนวนสัตว์หลักๆ ต่อไปได้ เมื่อนำมา before มาเทียบ after ในช่วงเวลาต่างๆ นั่นแหละคือผลกระทบ จึงเน้นย้ำตรงนี้สำคัญมาก
แนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล หาดหิน การสำรวจอย่างต่อเนื่องของกรมทะเลพบว่าแทบไม่เจอคราบน้ำมัน แต่การติดตามผลกระทบในบางเรื่องคงต้องทำต่อ เรื่องสำคัญคือโรคปะการังที่อาจตามมา ทำให้ปะการังอ่อนแอ และหากเกิดโลกร้อนน้ำทะเลอุณหภูมิสูงผิดปรกติ อาจทำให้ฟอกขาวได้ง่าย พื้นที่หลักๆ คงเป็นเขาแหลมหญ้า อ่าวพร้าว ซึ่งกรมทะเลได้สำรวจไว้ล่วงหน้าแล้ว
...
พื้นท้องทะเล อันนี้เหนื่อยจริง เพราะเรายังไม่ทราบว่าน้ำมัน/สารกำจัด ลงไปสะสมอยู่หรือไม่/แค่ไหน
การสำรวจทำยากเนื่องจากพื้นที่จำกัดคราบน้ำมันในทะเลกว้างมาก ต้องเก็บตัวอย่างกระจายไปให้ครอบคลุม ตั้งแต่จุดเกิดเหตุมาถึงเกาะเสม็ด แค่นี้ก็หลายสิบกิโลเมตร ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้เรือ/งบประมาณ/เวลา ในภาพเห็นตัวเลข 13 กิโลเมตร นั่นเป็นเฉพาะพื้นที่หลักในเขตแม่รำพึง เราต้องย้อนไปถึงทะเลหน้ามาบตาพุด
โดยสรุป หาดทราย/พื้นท้องทะเลเป็นเรื่องหลัก ปะการังหาดหิน/หญ้าทะเลต้องตามดูบ้าง แต่คงไม่ซีเรียสเท่าคราวก่อน เราคงบอกไม่ได้ว่าต้องตามนานแค่ไหน แต่บทเรียนจากครั้งก่อน บอกว่าเป็นปีแน่นอนและหากให้เป็นตามหลักสากล คงต้อง 3+ ปี แล้วค่อยประเมินอีกที วันนี้ทีมจากกรมทะเล/คณะประมง ยังคงร่วมกันทำงาน ส่วนหนึ่งไปหาด อีกส่วนไปกลางทะเล และคงต้องทำต่อเนื่องอีกหลายวันเพื่อประเมินผลกระทบให้แน่ชัด
ทั้งหมดนี้ เพื่อให้การเยียวยาฟื้นฟูทะเลเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และเพื่อเป็นบทเรียนในการรับมือหากเกิดเหตุอีกครั้ง ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะไม่เกิดอีกแล้ว พร้อมส่งกำลังใจให้คนระยอง หวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดูแลและให้ข้อมูลที่ชัดเจน เพื่อการท่องเที่ยวทำมาหากินจะเดินหน้าไปต่อได้.
ขอบคุณเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat