"กรมการแพทย์" เตือนหากกิน "ใบกระท่อม" เกินขนาดติดต่อกันนาน ระวังผลเสียต่อสุขภาพ พร้อมย้ำข้อควรระวังทางกฎหมายที่ควรคำนึง


วันที่ 3 ก.พ. 2565 นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า แต่เดิมประเทศไทยจัดให้กระท่อม เป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 แต่ในปัจจุบันได้มีการพิจารณาผ่านรัฐสภา และมีมติปลดล็อกกระท่อม ออกจากบัญชียาเสพติด โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถปลูก หรือซื้อ-ขายใบสดที่ไม่ได้ปรุง หรือทำเป็นอาหารได้โดยไม่ผิดกฎหมาย

สำหรับ "กระท่อม" เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ปานกลาง เป็นสมุนไพรท้องถิ่น ที่ชาวบ้านใช้กันมาอย่างยาวนาน โดยใช้ใบสดหรือใบแห้งนำมาเคี้ยว สูบ หรือ ชงเป็นน้ำชา เพื่อให้มีแรงทำงานได้นานขึ้น รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ไม่อยากอาหาร ทนแดดมากขึ้น แต่จะเกิดอาการหนาวสั่น เวลาครึ้มฟ้าครึ้มฝน

ในคนที่รับประทานใบกระท่อมเป็นครั้งแรก มีอาการมึนงง คอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน หากใช้ในปริมาณมากอาจจะทำให้เกิดอาการเมา เกิดความผิดปกติของกล้ามเนื้อทรงตัว ระบบประสาทรับสัมผัสตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ลดลง เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ ในรายที่ใช้มากๆ หรือใช้มาเป็นระยะเวลานาน มักจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเม็ดสีขึ้นที่บริเวณผิวหนัง ทำให้มีผิวสีคล้ำและเข้มขึ้น

ขณะที่การรับประทานใบกระท่อม ไม่ควรรับประทานเกินวันละ 5 ใบ รูดก้านใบออก แล้วเคี้ยวเหมือนเคี้ยวหมาก และไม่ควรกลืนกาก เพราะกากใบเป็นเส้นใยที่ย่อยยาก เมื่อรับประทานบ่อยๆ อาจทำให้เกิดถุงท่อม ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนแข็งอยู่ในท้องและทำให้ปวดท้องได้

ทางด้าน นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษา และฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี เผยว่า ในใบกระท่อมพบว่ามีสารสำคัญ คือ ไมทราไจนีน (Mitragynine) เป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง คล้ายฝิ่น แต่มีฤทธิ์น้อยกว่าประมาณ 10 เท่า และ 7-hydroxymitragynine พบน้อยมากในใบกระท่อมสด แต่มีฤทธิ์รุนแรงกว่ากว่ามอร์ฟีน 100 เท่า

...

ทั้งนี้ เมื่อรับประทานใบกระท่อม บางรายอาจทำให้เกิดพิษเฉียบพลัน โดยทำให้ใจสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ชัก ระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง ประสาทหลอน สับสน กระสับกระส่าย ปวดศีรษะ เหงื่อออก ความดันโลหิตสูง อาจพบอาการซึมมาก ในผู้ที่รับประทานใบกระท่อมปริมาณมาก (มากกว่า 15 กรัม ของใบกระท่อม หรือประมาณใบ 10 ใบ)

เมื่อหยุดใช้ใบกระท่อม จะทำให้เกิดอาการอยากรุนแรง (Craving) และมีอาการถอน เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ นอนไม่หลับ หงุดหงิด อ่อนเพลีย ท้องเสีย น้ำมูกไหล แขนขากระตุก ถึงแม้ว่าในปัจจุบันกระท่อมจะไม่ใช่ยาเสพติด และมีการออกฤทธิ์ที่มีประโยชน์ทางยา แต่หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป และติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อควรระมัดระวังทางกฎหมายที่ควรคำนึงถึง โดยเฉพาะการนำไปใช้ผสมกับสิ่งเสพติดอื่น เช่น สี่คูณร้อย การขายน้ำต้มกระท่อมในหอพัก สถานศึกษา รวมถึงจำหน่ายอาหารที่มีส่วนผสมของใบกระท่อมแก่สตรีมีครรภ์และผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี มีความผิดตามกฎหมายนอกจากนี้ น้ำต้มกระท่อม ชากระท่อม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรต้องขออนุญาตผลิตตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562.