กรมอนามัย ย้ำประชาชนให้เน้นมาตรการ V-U-C-A ป้องกันโควิด แนะขนส่งสาธารณะเดินทางไกลต้องแวะพักระบายอากาศทุก 2-3 ชั่วโมง ใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างให้เน้นดูแลตนเองแบบครอบจักรวาล

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 เมื่อเวลา 13.30 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย นายสมศักดิ์ ศิริวนารังสรรค์ ผู้อำนวยการสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ และนางนภพรรณ นันทพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม ร่วมกันแถลงข่าว ประเด็น หลังปีใหม่คนไทย /สถานประกอบการ หย่อนมาตรการหรือเข้มข้นขึ้น

โดยนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า แม้ตั้งแต่ 24 มกราคม 2565 ทาง ศูนย์บริหารสถาการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. จะมีการปรับพื้นที่ควบคุม ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม เป็นต้นมา โดยเหลือแค่พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) และพื้นที่จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) แต่ประชาชนยังต้องเฝ้าระวังและดูแลตนเองอย่างสูงสุดอยู่ สถานประกอบการยังต้องดำเนินการ Covid free setting เพื่อสร้างความปลอดภัยและลดความเสี่ยง

ขณะที่ผลอนามัยโพล ได้สำรวจความรู้สึกต่อสถานการณ์การระบาดหลังปีใหม่ พบว่าประชาชนกว่าร้อยละ 47 คิดว่าสถานการณ์หลังปีใหม่รุนแรงกว่าเดิม ส่วนร้อยละ 26 ระบุว่าไม่แตกต่าง และร้อยละ 27 เชื่อว่ารุนแรงน้อยกว่าเดิม เพราะมีการได้รับวัคซีน

นายแพทย์สุวรรณชัย ยังกล่าวเพิ่มเติมว่าอยากฝากไปถึงประชาชน ว่ากระทรวงสาธารณสุขยังคงเน้นเรื่องมาตรการ V-U-C-A คือ ฉีดวัคซีน ป้องกันตนเองตลอดเวลา สถานที่บริการพร้อมปฏิบัติตามมาตรการ และหมั่นตรวจ ATK

...

ส่วนทางด้านนางนภพรรณ นันทพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม ยังได้กล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงการเดินทางขนส่งสาธารณะ ว่า จุดเสี่ยงยังคงเป็นพื้นสัมผัสร่วม ความแออัด โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วน และระยะเดินทาง โดยทางสำนักอนามัย ได้กำหนดมาตรการทั้งผู้โดยสาร และพนักงาน คือ ให้งดใช้บริการหากเจ็บป่วย ควรรักษาระยะห่าง งดพูดคุยกันในขณะเดินทาง ส่วนพนักงานจะต้องประเมินตนเองด้วย THAI SAVE THAI ขณะที่การฉีดวัคซีนต้องได้รับทั้ง 2 ฝ่าย

นอกจากนี้ในเรื่องรถสาธารณะ ยังเน้นเรื่องการทำความสะอาด และการระบายอากาศ หากเดินทางไกลพนักงานต้องแวะพักรถเพื่อระบายอากาศ ทุก 2-3 ชั่วโมง หมั่นเช็ดทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม เช่น ห้องน้ำ เป็นระยะ งดการเสิร์ฟอาหารบนยานพาหนะ สิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ผ้าห่มห้ามนำมาใช้ซ้ำก่อนทำความสะอาด

ส่วนการใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างที่หลีกเลี่ยงเรื่องการเว้นระยะห่างที่ทำได้ยากนั้น นางนภพรรณ ระบุว่าที่ผ่านมาได้มีการเน้นเรื่อง Universal Prevention หรือการดูแลตนเองแบบครอบจักรวาล ทั้งผู้ให้บริการ และผู้รับบริการ ที่จะต้องปลอดภัยทั้งคู่ คือมีการฉีดวัคซีน ขณะผู้ให้บริการต้องหมั่นทำความสะอาดเบาะที่นั่ง หมวกกันน็อก และงดตะโกนคุยกันระหว่างเดินทาง โดยให้พูดคุยตกลงกันก่อนใช้บริการว่าจะไปที่ใดให้เรียบร้อย ส่วนประชาชนที่ใช้บริการทุกวัน ควรมีหมวกกันน็อกของตนเอง