ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี “หุ่นยนต์” กำลังเป็นที่นิยมถูกนำมาใช้ในการปฏิบัติงานด้านดับเพลิงไฟไหม้ และกู้ภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยมากขึ้น เพื่อช่วยให้การควบคุมเพลิงเป็นไปอย่างรวดเร็ว สามารถลดการสูญเสียชีวิตของนักผจญเพลิงและผู้ประสบภัยได้ดีที่สุด
ยิ่งช่วงก่อนนี้บ้านเรามี “เหตุเพลิงไหม้” ค่อนข้างรุนแรงหลายครั้งแล้ว “ผู้ปฏิบัติมีข้อจำกัดอุปกรณ์เซฟตี้” ทำให้การเข้าระงับเหตุมีความเสี่ยงกลาย “ความสูญเสียของนักผจญเพลิง” ที่ตกเป็นข่าวให้เห็นอยู่บ่อยๆ...
เหตุความสูญเสียนี้เป็นแรงให้ “นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ปี 4 ม.เกษมบัณฑิต” โดยนิลปัทม์ นีละไพจิตร, นฤดล มานมนูญ, ณัฐชนก วงษ์หวังจันทร์, นัทวุธ นีละไพจิตร, นวมินทร์ วันหมัด, วิชชากร ศิริคูสุวรรณ ช่วยกันคิดค้นนวัตกรรม “หุ่นยนต์ดับเพลิงแรงดันน้ำ 7 บาร์” เข้ามาช่วยนักผจญเพลิงในการปฏิบัติหน้าที่เสี่ยง
“สกู๊ปหน้า 1” มีโอกาสชมการสาธิต “หุ่นยนต์ดับเพลิงฯ” ปฏิบัติงานในพื้นที่ที่รถดับเพลิงเข้าไม่ได้ โดยเฉพาะจุดเสี่ยงอันตรายมีเปลวเพลิงขนาดใหญ่ร้อนสูงที่เกิดจากการเผาไหม้สารเคมีที่มีโอกาสเกิดการระเบิดได้ตลอด ทำให้หุ่นยนต์ดับเพลิงมีความกว้าง 0.96 ม. ความยาว 1.11 ม. ความสูง 1.06 ม.สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้ไม่ยาก
...
แล้วการควบคุมหุ่นยนต์ดับเพลิงฯเคลื่อนที่ผ่าน Direct Remote ด้วยวงจรรีเลย์ควบคุมด้วย RC Remote Control ระยะไกล 1 กม. ระบบขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรง มีระบบหัวฉีดมาตรฐานรองรับการต่อสายน้ำดับเพลิงแบบสวมเร็ว และรับระดับแรงดันน้ำไม่เกิน 8.5 บาร์ ฉีดน้ำได้สูงจากพื้นถึง 20 เมตร
สามารถบังคับทิศทางการฉีดน้ำแนวตั้งสูง 45 องศา แนวนอนข้างละ 30 องศา น้ำหนักติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดของหุ่นยนต์ดับเพลิงฯ 147 กก. ในส่วนล้อเป็นแบบยางหุ้มเหล็กทนความร้อนสูง ติดตั้งกล้องแสดงภาพขณะปฏิบัติงานแบบเรียลไทม์นี้ นัทวุธ นีละไพจิตร ตัวแทนผู้คิดค้นผลิตโครงงานหุ่นยนต์ดับเพลิงฯ เล่าว่า
จุดเริ่มต้นมาจากช่วงใกล้เรียนจบ “นักศึกษาต้องทำโครงงาน” จึงมีความตั้งใจอยากทำโครงงานที่มีประโยชน์ช่วยเหลือสังคมใช้งานจริงแล้ว “บังเอิญเจอเหตุรถบรรทุกน้ำมันพลิกคว่ำ” มีนักผจญเพลิงเข้าควบคุมเพลิงในระหว่างนั้นรถระเบิดไฟลุกท่วม “จนท.ดับเพลิง” ที่ฉีดน้ำสกัดเพลิงถูกไฟคลอกทั้งตัวได้รับบาดเจ็บสาหัส...
วินาทีนั้นเกิดความคิด “สร้างนวัตกรรมหุ่นยนต์ดับเพลิง” สนับสนุนการทำงานควบคุมไฟเพื่อลดความเสี่ยงอันตรายในการปฏิบัติหน้าที่แล้วเริ่มหาข้อมูลรูปแบบ กลไก โครงสร้างหุ่นยนต์ดับเพลิง
ต่อมาได้รับคำแนะนำจาก “หน่วยกู้ภัยสถานีดับเพลิงลาดกระบัง” มีคณะอาจารย์ ม.เกษมบัณฑิตให้คำปรึกษาช่วยเหลือการออกแบบ สร้างระบบโปรแกรม กลไกบังคับหัวฉีดน้ำดับเพลิงหลายขั้นตอน ตั้งแต่กลไกมอเตอร์ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าด้านขวา-ซ้ายกำลังไฟฟ้า 250 วัตต์ ส่งกำลังผ่านเพลาขับเคลื่อนความเร็ว 33 ม./นาที...
ติดตั้งลิเนียร์แอคทุเอเตอร์กลไกบังคับหัวฉีดขึ้น-ลง หมุนหัวฉีดซ้าย-ขวา ปรับฉีดน้ำลำตรง-ม่านน้ำสามารถรับแรงดันน้ำ 8 บาร์ บังคับทิศทางฉีดน้ำแนวตั้งสูง 45 องศา แนวนอนข้างละ 30 องศา มีกล้องช่วยมองเห็นระยะไกลไร้สาย ควบคุมระบบผ่านรีโมตคอนโทรล Direct Remote ด้วยวงจรรีเลย์ 45 แอมป์
ใช้แบตเตอรี่ 24 โวลต์ 45 Ah เป็นแหล่งจ่ายภาคกำลัง 12 โวลต์ 7 แอมป์ ควบคุมอุปกรณ์ สิ่งสำคัญ “หุ่นยนต์ดับเพลิงฯ” ถูกพัฒนาขับเคลื่อนระบบไฟฟ้านี้ทำให้ “อัปเดตซอฟต์แวร์ หรืออัปเดตโปรแกรม” พัฒนาเพิ่มความเฉลียวฉลาดได้ตลอด แตกต่างจาก “หุ่นยนต์ดับเพลิงรุ่นเก่า” มีลักษณะเป็นแบบเครื่องยนต์
ประเด็นขีดความสามารถการดับเพลิงนี้ “ปฏิบัติหน้าที่แทนนักดับเพลิง” ในพื้นที่ที่รถฉีดน้ำไม่สามารถเข้าไปได้ ด้วยการเคลื่อนที่แบบตีนตะขาบทำให้ไปได้ทั้งแบบทางลาดชัน ลุยน้ำ และพื้นผิวถนนหลายประเภท “ค้นหาต้นตอเพลิงไหม้ดับไฟได้” โดยที่นักดับเพลิงไม่จำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงอันตรายด้วยซ้ำ
...
แต่ด้วย “หุ่นยนต์ดับเพลิงต้นแบบตั้งงบไว้ 1.1 แสนบาท” ทำให้พยายามใช้เงินประหยัดเลือกวัสดุที่มีราคาถูกแต่ต้องทำให้มีคุณภาพสูง เช่น หัวฉีดน้ำราคาหมื่นบาทนำมาแตกโครงสร้างทางกลไกอิเล็กทรอนิกส์ จนมีประสิทธิภาพเท่าราคาหลักแสนบาท ฉะนั้นข้อจำกัดนี้ก็มีผลเสียทำให้วัสดุบางชนิดไม่ทนต่ออุณหภูมิไฟนานได้...
อนาคตถ้า “หุ่นยนต์ดับเพลิงแรงดัน” จะเข้าสู่เชิงพาณิชย์ต้องพัฒนาเปลี่ยนวัสดุให้มีมาตรฐานอุตสาหกรรมที่คงทนต่อความร้อนสูงแล้ว “พัฒนาติดตั้งกล้องอินฟราเรดความละเอียดสูง” ในการเพิ่มศักยภาพเก็บภาพเคลื่อนไหวแบบเรียลไทม์ ตรวจจับวิเคราะห์จุดเกิดเหตุ ดับเพลิงได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น
ประการต่อมาต้อง “พัฒนาความยืดหยุ่นเหมาะสมแต่ละภูมิภาคการใช้งาน” เช่น พื้นที่กรุงเทพฯ เน้นหุ่นยนต์ดับเพลิงขนาดเล็กให้ปฏิบัติงานในอาคารสูง ทั้งติดกล้องเทอร์โมสแกนอันเป็นกล้องอินฟราเรดตรวจหาจุดอุณหภูมิร้อนสูงประมวลผลผ่านหน้าจอ “บังคับฉีดน้ำดับไฟ” เพิ่มประสิทธิภาพช่วยควบคุมไฟได้เร็วขึ้น
หากเป็นพื้นที่ต่างจังหวัด เน้นเพิ่มล้อตีนตะขาบ หัวฉีดขนาดใหญ่เพื่อควบคุมเพลิงเป็นวงกว้าง
...
“ตอนนี้หุ่นยนต์ดับเพลิงฯสามารถใช้ได้จริง แต่เราอยากพัฒนาต่อให้สุด ในการเพิ่มขีดความสามารถใช้เชิงพาณิชย์ที่ต้องมีเงินอีก 4 แสนบาท เพื่อให้หุ่นยนต์ต้นแบบมีสมรรถนะเทียบเท่าหุ่นยนต์ต่างประเทศราคา 2-3 ล้านบาท แล้วจะส่งมอบให้หน่วยดับเพลิงได้มีหุ่นยนต์ดับเพลิงคอยช่วยเข้าพื้นที่เสี่ยงภัยอันตรายแทนได้”
ดร.เสนีย์ สุวรรณดี รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา ม.เกษมบัณฑิต บอกว่า หุ่นยนต์ดับเพลิงแรงดันน้ำก็เป็นโครงงานต่อยอดจากการเรียนการสอน ในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ให้สามารถใช้ประโยชน์สู่การปฏิบัติได้จริงๆ ด้วยการพัฒนาให้หน่วยงานดับเพลิงนำไปใช้งานกู้ภัยต่อไปได้
ด้วยเหตุปีที่แล้ว “ประเทศไทย” เจอเหตุเพลิงไหม้ใหญ่หลายครั้งที่ “เกิดในอุตสาหกรรมสารเคมี” อันเป็นเชื้อเพลิงไฟลุกลามขยายตัวได้ดี ที่กลายเป็นความสูญเสียของ จนท.ดับเพลิง ดังนั้นนักศึกษาปี 4 จำนวน 6 คนได้เห็นประเด็นนี้จึงจัดทำโครงงานวิศวกรรมด้วยการสร้างนวัตกรรมหุ่นยนต์ดับเพลิงขึ้นมานี้
เพื่อหวังว่า “หุ่นยนต์ต้นแบบ” จะเข้ามาทำหน้าที่ในการดับเพลิงด้วยการควบคุมการทำงานแบบรีโมตระยะไกล 1 กม. แล้วเชื่อมสายน้ำจากรถดับเพลิงเข้าหัวฉีดหุ่นยนต์ฉีดได้สูงจากพื้น 20 เมตร เทียบเท่าตึก 6 ชั้นทำให้ จนท.ดับเพลิงไม่ต้องเข้าไปเสี่ยงภัยอันตรายอาคารถล่ม สารเคมีระเบิด ลดความเสี่ยงต่อชีวิต
ลักษณะหลักการคล้าย “หุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิด” ที่ทำหน้าที่เซฟผู้ปฏิบัติงานให้ปลอดภัยมากที่สุด...สิ่งสำคัญกลไกโครงสร้างหุ่นยนต์ใช้ต้นทุนผลิตไม่เกิน 3 แสนบาท แต่สามารถปฏิบัติงานได้ประสิทธิภาพใกล้เคียงของต่างประเทศราคา 2 ล้านบาท อนาคตถ้าต้องการตัวช่วยลดความเสี่ยงภัยให้นักผจญเพลิงสามารถพัฒนาปรับปรุงหุ่นยนต์ต้นแบบนี้เล็กน้อยไม่เกิน 5 แสนบาท ก็จะเซฟต้นทุนงบประมาณการนำเข้าได้ 3 เท่า
...
ล่าสุดมีการทดสอบประสิทธิภาพสมรรถนะของหุ่นยนต์ดับเพลิงฯตัวนี้ร่วมกับ จนท.ดับเพลิงและหน่วยกู้ภัยของสถานีดับเพลิงลาดกระบัง กรุงเทพฯ ต่างได้รับการยืนยันว่าหุ่นยนต์มีประสิทธิภาพสูงทำงานได้...
สุดท้ายนี้แม้ว่า “เทคโนโลยี หรือนวัตกรรมด้านการผจญเพลิงในบ้านเราจะไม่ใช่เรื่องใหม่” แต่หากต้องมีการนำเข้าอุปกรณ์เหล่านี้มาจากต่างประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เพื่อประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ตลอดจนการแบ่งเบางบประมาณแผ่นดินในอนาคตอันใกล้นี้
หุ่นยนต์ดับเพลิงแรงดันน้ำ 7 บาร์ ผลงานการคิดค้นจากนักศึกษาไทยร้อยเปอร์เซ็นต์นี้จะเป็นอีกทางเลือกสำคัญในการต่อยอดพัฒนาสมรรถนะการดับเพลิงนำไปใช้ปฏิบัติงานและกู้ภัยต่อไป
นี่เป็นไอเดีย “นวัตกรรมสู้อัคคีภัย” ที่จะช่วยลดความเสี่ยงให้นักผจญภัย “ผลงานเด็กไทยแท้ๆ” น่ายกย่องสนับสนุน “มิใช่ขึ้นหิ้ง”...แสดงถึงความสามารถไม่แพ้ใครในโลก.